OUR BLOG

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการจดแจ้งลิขสิทธิ์ UPDATE 2566

copyright

ลิขสิทธิ์ไม่จำเป็นต้องยื่นเพื่อจดทะเบียนเหมือนกับสิทธิบัตรหรือเครื่องหมายการค้า แต่ก็สมควรยิ่งที่เจ้าของลิขสิทธิ์ยื่นจดอย่างเป็นทางการกับสำนักงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะหากคุณมีแผนที่จะใช้งานลิขสิทธิ์ในทางการค้า เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิที่จะกีดกันผู้อื่นจากการคัดลอก การจำหน่าย การแสดง การเผยแพร่ภาพ หรือการใช้เนื้อหามาดัดแปลง หรือใช้ค้าขายในรูปแบบต่างๆ โดยไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของสิทธิ งานที่มีลิขสิทธิ์ในปัจจุบันมีหลายรูปแบบ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่คุณควรเรียนรู้เพื่อการปกป้องและใช้สิทธิของคุณได้อย่างเต็มที่

โดยทั่วไปแล้ว “งานสร้างสรรค์ที่ผ่านกระบวนการคิด”จะได้รับการคุ้มครองอย่างอัตโนมัติตั้งแต่แรกวันที่เจ้าของได้สร้างสรรค์ขึ้นมา และมีอายุถึง 50 ปีหลังจากเจ้าของลิขสิทธิ์เสียชีวิต หากเป็นงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของนิติบุคคล งานลิขสิทธิ์จะได้รับความคุ้มครองสูงสุด 50 ปีหลังจากวันแรกที่ได้ทำการเผยแพร่

ยึดตามมาตรา 4  ในกฎหมายลิขสิทธิ์ของราชอาณาจักรไทย งานที่มีลิขสิทธิ์ประกอบไปด้วย 9 ประเภท

  1. งานวรรณกรรม เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ คำปราศรัย รวมทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Coding, Source Code)ด้วย
  2. งานการแสดง นาฏกรรม เช่น งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว
  3. งานวิจิตรศิลป์ ศิลปกรรม

     

    • ภาพวาด
    • ประติมากรรม
    • งานพิมพ์
    • งานตกแต่งสถาปัตย์
    • ภาพถ่าย
    • ภาพวาดเขียน แผนที่ ภาพร่าง
    • งานประยุกต์ศิลป์ (งานประยุกตศิลป์ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ 25 ปีหลังจากวันจัดสร้าง)
  1. งานดนตรีกรรม  เช่น คำร้อง ทำนอง การเรียบเรียง เสียงประสาน และโน้ตเพลง
  2. งานสิ่งบันทึกเสียง เช่น เทปเพลง ซีดีเพลง แผ่นเสียง
  3. งานโสตทัศนวัสดุ เช่น วีซีดี วีดิโอเทป แผ่นดิสก์ที่บันทึกข้อมูลภาพและเสียงเอาไว้
  4. งานภาพยนตร์ เช่น ภาพยนตร์ รวมทั้งเสียงประกอบด้วย
  5. งานแพร่เสียงแพร่ภาพ เช่นการแพร่ภาพกระจายเสียง ทางวิทยุ หรือโทรทัศน์
  6. งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ 
 

ลิขสิทธิ์ คือ

สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ริเริ่มโดยการใช้สติปัญญาความรู้ ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะของตนเองในการสร้างสรรค์ โดยไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่น โดยงานที่สร้างสรรค์ต้องเป็นงานตามประเภทต่างๆ ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้คุ้มครอง โดยผู้สร้างสรรค์จะได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์โดยไม่ต้องจดทะเบียน ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์จะมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ เกี่ยวกับงาน ลิขสิทธิ์ของตนโดยกฎหมายลิขสิทธิ์ได้ให้ความคุ้มครองถึงสิทธิของนักแสดง และสร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยี เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย

ลิขสิทธิ์ ถือว่าเป็น “ทรัพย์สินทางปัญญา” ประเภทหนึ่งที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ดังนั้น เจ้าของลิขสิทธิ์จึงควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถหาประโยชน์จากงานลิขสิทธิ์ของตนได้

หลักเกณฑ์ในการพิจารณางานลิขสิทธิ์

  1. เป็นงานที่แสดงออกถึงความคิด (expression of idea)
  2. เป็นงานที่ริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยตนเอง (originality)
  3. การทุ่มเทกำลัง ความรู้ ความสามารถ ความตั้งใจวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์ (sweat & labour and judement)
  4. มีลักษณะเข้าข่ายตามประเภทของงานที่กฎหมายลิขสิทธิ์รับรอง
  5. เป็นงานที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดี

สิ่งที่ยื่นแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ไม่ได้

  1. ความคิด  ขั้นตอน  กรรมวิธี  ระบบ วิธีใช้หรือวิธีทำงาน แนวความคิด หลักการ การค้นพบ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์
  2. ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่างๆที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร
  3. รัฐธรรมนูญและกฎหมาย
  4. ระเบียบ  ข้อบังคับ  ประกาศ  คำสั่ง  คำชี้แจง  และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง  ทบวง  กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือท้องถิ่น
  5. คำพิพากษา  คำสั่ง  คำวินิจฉัย  และรายงานทางราชการ
  6. คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่างๆ ตามข้อ  2-5  ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานใดของรัฐหรือของท้องถิ่นที่จัดทำขึ้น

เอกสารสำหรับจดลิขสิทธิ์

  1. แบบคําขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ (ลข.01)   Downlaod > แบบฟอร์มคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ (ลข.01) (moc.go.th)
  2. ผลงานสร้างสรรค์ที่ต้องการจดลิขสิทธิ์
  3. สําเนาบัตรประชาชน เจ้าของผลงาน 
  4. สําเนาบัตรประชาชนผู้ร่วมสร้างสรรค์ผลงาน (ถ้ามีผู้ร่วมสร้างสรรค์)
  5. หนังสือมอบอำนาจ (ในกรณีจดในนามบริษัท หรือใช้ตัวแทน)

ระยะเวลาการดำเนินการ

หลังจากจดแจ้งลิขสิทธิ์ หรือยื่นจดแจ้งกับนายทะเบียนเพื่อพิจารณาอนุมัติ ใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์

เพิ่มเติม

  • คุณสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์และงานชนิดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ได้ที่นี่ หรือที่นี่
  • เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องเข้าใจและรับทราบว่ากฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองเฉพาะการแสดงออกของความคิดเท่านั้น แต่ไม่ใช่ความคิดหรือไอเดียในตัวของมันเอง ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ใดนำเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของวรรณกรรมของคุณไปใช้และเขียนเผยแพร่ความคิดของคุณด้วยประโยคของเขาเอง โดยไม่ทำให้คุณเสื่อมเสียหรือสูญเสียรายได้ นั่นก็อาจไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ อีกทั้งหากผู้ใดผู้หนึ่งสร้างงานสร้างสรรค์คล้ายคลึงเหมือนกับงานของคุณ แต่ได้แสดงออกให้เห็นชัดเจนว่าเขาได้ใช้ความคิดของตนเองในการสร้างงาน ไม่ได้ไปเอามาจากที่อื่นใด ลักษณะนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของคุณเช่นกัน
  • ดังนั้น ก่อนที่คุณจะฟ้องผู้ที่อาจละเมิดลิขสิทธิ์ คุณควรมีหลักฐานการเป็นเจ้าของสิทธิอย่างชัดเจน ประกอบกับคำยืนยันจากทนายความหรือผู้เชี่ยวชาญแล้วเท่านั้น คุณจึงสามารถฟ้องหรือคัดค้านผู้ที่ละเมิดงานของคุณได้อย่างมั่นใจ ไม่เสี่ยงถูกฟ้องกลับ
  • อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณต้องการได้รับการคุ้มครองไอเดียของคุณ คุณควรยื่นจดเป็นสิทธิบัตร แต่ก็ต้องทำการสำรวจก่อนว่าไอเดียของคุณนั้นเข้าเกณฑ์ข้อใด ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากหัวข้อ การยื่นจดสิทธิบัตร นอกเหนือจากนี้หากคุณต้องการใช้งานออกแบบกราฟิก รูปถ่าย หรือภาพวาดใดๆ เพื่อการยื่นจดเป็นโลโก้บริษัทหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ คุณควรตรวจสอบข้อมูลในหัวข้อ การจดเครื่องหมายการค้า

Share this article

Facebook
Twitter
LinkedIn

ปรึกษา IDG

ผู้เชี่ยวชาญของเราพร้อมให้คำแนะนำคุณ

ติดต่อทีมผู้เชี่ยวชาญ