OUR BLOG

สร้างนวัตกรรมให้ทันโลก..ด้วยข้อมูลสิทธิบัตร

ip vision 11.jpg

สร้างนวัตกรรมให้ทันโลกด้วยข้อมูลสิทธิบัตร PATENT-INFORMED INVENTING

“The patent system is the most prolific and up-to-date source of information on applied technology”

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วนะครับว่า ปัจจุบัน การวิจัยและพัฒนา หรือ R&D นั้น มีความเสี่ยงที่สูง ซึ่งร้อยละ 66 ของผลิตภัณฑ์กว่า 250,000 รายการ ที่ออกสู่ตลาดทุกปี มักจะล้มเหลว, เจ๊ง หรือไม่สามารถไปต่อได้ภายในช่วงระยะเวลา 2 ปีแรก แต่ในทางกลับกัน 100 บริษัทอันดับต้นๆ ของโลกด้านวิจัยพัฒนา ได้ลงทุนใน R&D รวมกันไม่ต่ำกว่า 6.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 22 ล้านล้านบาท) ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ข้อมูลต่างๆ เพื่อช่วยหาเหตุผลในการตั้งงบประมาณด้าน R&D ให้มีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากที่สุด IP Vision ตอนนี้ ผมเลยถือโอกาสแนะนำ การใช้ข้อมูลสิทธิบัตร เป็นข้อมูลสำคัญที่ทุกบริษัท/องค์กร ทุกไซส์ทุกขนาดที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม สามารถนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อการตรวจสอบโอกาสและความเสี่ยงของนวัตกรรมที่ตนกำลังพัฒนา โดยเฉพาะการนำข้อมูลสิทธิบัตรมาใช้ในการสรรหาโจทย์การวิจัยพัฒนา เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างมีคุณค่าและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ผมขอเรียกกระบวนการในการนำข้อมูลสิทธิบัตร มาใช้ในกระบวนการวิจัยพัฒนาว่า การประดิษฐ์เชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic Inventing ซึ่งหลักๆ คือการนำข้อมูลสิทธิบัตรมาประกอบการวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลด้านอื่นๆ เช่น ผลการสำรวจและวิเคราะห์ตลาด, พฤติกรรมผู้บริโภค, ประเมินศักยภาพภายในองค์กร, รวมถึงกลยุทธ์ของธุรกิจ ฯลฯ ในกระบวนการประดิษฐ์หรือการวิจัยพัฒนา (R&D) ตั้งแต่การประเมินความเป็นไปได้ของไอเดียที่สนใจ, การออกแบบผลิตภัณฑ์, การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการผลิตเชิงอุตสาหกรรมและการขายต่อไป

เพื่อให้ทุกท่านเห็นภาพมากขึ้น ผมขอยกตัวอย่างนวัตกรรมที่เกี่ยวกับ ข้าว เนื่องจากข้าวเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญของไทย โดยไทยเราเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก (รองจากอินเดียในปี 2560) แต่ปัจจุบันยังไม่ค่อยเห็นการต่อยอดในการสร้างนวัตกรรมจากข้าวมากนัก จึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับเป็นตัวอย่างการวิเคราะห์ครั้งนี้ โดยที่ผมจะเน้นการตรวจสอบ สิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับการนำข้าวไปใช้เป็นองค์ประกอบในการพัฒนานวัตกรรมด้านเครื่องสำอาง Cosmetics ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ว่าอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไทยมีการแข่งขันสูง และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งผมจะยกตัวอย่างของกระบวนการ Strategic Inventing ในช่วงการเริ่มต้นค้นหาและพัฒนาไอเดีย Ideation Stage ซึ่งสามารถแบ่งเป็นขั้นตอนได้ดังนี้ เพื่อเข้าใจภาพรวมของเทคโนโลยี, แนวโน้มการลงทุนเพื่อปกป้องเทคโนโลยี, ผู้เล่นหลักที่ยื่นจดสิทธิบัตร, กลยุทธ์และจุดโฟกัสของผู้เล่นหลักในการยื่นจดทะเบียน, ผู้ประดิษฐ์ที่มีความเชี่ยวชาญในขอบเขตเทคโนโลยีดังกล่าว, เคสการดำเนินคดีด้านสิทธิบัตร (Patent litigations) หรือการอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing) รวมถึงตัวอย่างการประดิษฐ์ที่มีมูลค่าสูง สามารถช่วยเราประเมินโอกาสการและความเสี่ยงในการแข่งขันในตลาดได้ เมื่อนำข้อมูลสิทธิบัตรมาเปรียบเทียบกับโจทย์ ไอเดีย หรือคอนเซ็ปผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมใหม่ที่เราสนใจ เพื่อเป็นการหา Insights ที่สำคัญ โดยอาจจะนำข้อมูลสิทธิบัตรทั้งหมดทำเป็นลักษณะของกราฟและโมเดลต่างๆ เช่นรูปตัวอย่างที่ 1-6  ต่อไปนี้ Rice & Cosmetic (2,503 simple; 4,537 total)

ip vision pic02 1

รูปที่ 1 : แนวโน้มการยื่นคำขอรับจดสิทธิบัตรทั่วโลก เทรนด์ขาขึ้นแสดงให้เราเห็นว่างานประดิษฐ์ด้านนี้มีการลงทุนในการวิจัยพัฒนา และการจดสิทธิบัตรอย่างต่อเนื่องในอัตราที่เพิ่มขึ้นทุกปี

 

ip vision pic03 1

รูปที่ 2 : ผู้ขอถือสิทธิ/เจ้าของสิทธิบัตรอันดับต้น แสดงให้เห็นว่าใครลงทุนในงานประดิษฐ์/งานวิจัยเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าคู่แข่งหรือพันธมิตรของเราคือใครบ้าง ซึ่งสำหรับการประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับที่เราสนใจนั้น เจ้าของสิทธิบัตรอันดับต้นๆ คือ L’Oreal, Amorepacific Corporation, Nestec SA, etc.

 

ip vision pic04 1

รูปที่ 3 :  ซึ่งประเทศที่มีการยื่นจดการประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องมากที่สุดได้แก่ เกาหลีใต้ อเมริกา ญี่ปุ่น จีน ล้วนแต่เป็นตลาดใหญ่สำหรับการพัฒนาและขายนวัตกรรมด้านเครื่องสำอาง จะเห็นได้ว่ามีการจดทะเบียนเพื่อคุ้มครองสิทธิในประเทศเหล่านี้เป็นจำนวนมาก

 

ip vision pic05 1

รูปที่ 4 :  สัญชาติของเจ้าของสิทธิที่ยื่นจดสิทธิบัตรด้านนี้มากที่สุดในโลก ชัดเจนว่าเจ้าของสัญชาติเกาหลีใต้ (KR) จีน (CN) ญี่ปุ่น (JP) อเมริกา (US) และฝรั่งเศส (FR) มาเป็นอันดับต้นๆ

 

ip vision pic06 1

รูปที่ 5 :  แสดงการแบ่งกลุ่มการประดิษฐ์จากสิทธิบัตรตามระบบ Cooperative Patent Classifications (CPC) แสดงให้เห็นว่าสิทธิบัตรส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง โดยสิทธิบัตรส่วนใหญ่ อยู่ในกลุ่ม A61 หรือมีความเกี่ยวข้องกับด้านการแพทย์ การเตรียมองค์ประกอบทางยา ทางการแพทย์ และการนำไปใช้เป็นเครื่องสำอาง เป็นต้น

 

ip vision pic07 1

รูปที่ 6 :  แสดงผู้ประดิษฐ์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการประดิษฐ์ดังกล่าว ว่าเป็นใครและมาจากไหนบ้าง สามารถเข้าไปร่วมมือกันในอนาคตได้หรือไม่? อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่เราได้การหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยพัฒนานวัตกรรมภายในองค์กรก็ได้

2. ตรวจสอบโอกาสการนำเอกสารสิทธิบัตรที่ Inactive ไปพัฒนาต่อยอด (Inactive Patents’ Opportunity Analysis)  โดยโอกาสในการนำเอกสารสิทธิบัตรที่ Inactive ไปพัฒนาต่อยอด อาจจะเกิดจากการที่ผู้ยื่นคำขอละทิ้งไปเอง (Withdrawn), ถูกปฎิเสธการรับจดทะเบียนโดยผู้ตรวจสอบสิทธิบัตร (Reject), หมดอายุ (Expired), ไม่ได้จ่ายค่าธรรมเนียมต่ออายุ (non-Payment) หรือยกเลิกสิทธิ (Abandon) โดยการยกเลิกเองหรือการบังคับด้วยกฎหมายจากการแพ้คดี เป็นต้น

ip vision pic08 1

รูปที่ 7 :  แสดงให้เห็นถึงสถานะทางกฎหมายของเอกสารสิทธิบัตร ซึ่งในกรณีนี้มีถึง 50% ของงานที่ Inactive (1,291/2,503) และมีเพียง 24% ของงานทั้งหมดที่ Active และสามารถใช้สิทธิได้ (599/2,503)

ip vision pic09 1

รูปที่ 8 : แสดงให้เห็นถึงตัวอย่างเอกสารสิทธิบัตรที่ Inactive ที่ซอฟต์แวร์ประเมินว่ามีมูลค่าสูง (เรียงจากบนลงล่าง) โดยถ้าเราตรวจสอบรายการสิทธิบัตรดังกล่าวแล้ว อาจจะเห็นงานบางตัวที่น่าสนใจ ก็สามารถนำมาวิเคราะห์ต่อได้ เช่น สามารถเข้าไปอ่าน Abstract (บทสรุป) เพื่อทำความเข้าใจกับงานดังกล่าวเบื้องต้น, ดึง Claims (ข้อถือสิทธิ) เพื่อตรวจสอบขอบเขตของสิทธิที่เขาต้องการขอรับความคุ้มครอง รวมถึงรายละเอียดเชิงลึกด้านเทคนิคใน Description ต่อไป และที่สำคัญคือ ให้ดำเนินการตรวจสอบ Patent Citations ของงานดังกล่าวด้วย เพื่อตรวจสอบประวัติการอ้างอิง เนื่องจากอาจจะมีเอกสารสิทธิบัตรฉบับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหรือที่อ้างอิงฉบับดังกล่าวที่ยังคง Active และมีการขอรับการคุ้มครองในขอบเขตที่เราสนใจ จนอาจจะทำให้เราไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ดังนั้น ในการดึงเอกสารมาใช้เลย หรือเพื่อมา Reverse Engineer ควรดำเนินการอย่างรอบคอบที่สุดครับ

หาช่องว่างทางนวัตกรรมด้วยการทำแผนที่สิทธิบัตรนั้น จะทำให้เราเห็นข้อมูลสิทธิบัตรในรูปแบบของแผนที่ 3 มิติ (ตามรูปที่ 9) โดยสิทธิบัตรทั้งหมดที่เราเลือก จะมารวมตัวกันอยู่บนแผนที่ดังกล่าว และแบ่งตามความใกล้เคียงหรือความแตกต่างของเนื้อหา โดยเอกสารที่มีความใกล้เคียงกันที่สุด จะถูกนำมาจัดให้อยู่กลุ่มเดียวกันหรือใกล้เคียง ก่อให้เกิดเป็น Cluster โดยเอกสารที่มีความแตกต่างในลักษณะของการประดิษฐ์จะถูกแยกห่างออกไปจาก Cluster ดังกล่าว โดยในถ้า Cluster มีความสูงระดับหนึ่งหรือเริ่มนูนขึ้นจะเรียกว่า Peak ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการจดสิทธิบัตรจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นๆ บนแผนที่ กล่าวคือ เป็นพื้นที่ที่มีการลงทุนวิจัยพัฒนาสูง เนื่องจากมีการยื่นขอจดสิทธิบัตรเป็นจำนวนมาก ในกรณีนี้ก็คือ Redspace หรือพื้นที่สีแดงที่เราอาจจะควรหลีกเลี่ยง เพื่อไม่ให้ไปทับหรือละเมิดสิทธิของเจ้าของสิทธิรายอื่น

 

ip vision pic10 1

รูปที่ 9 : แสดงช่องว่างทางนวัตกรรม จากสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่เราสนใจ

ip vision pic11 1

รูปที่ 10 : แสดงให้เห็นถึงกลยุทธ์การจดสิทธิบัตรของคู่แข่งรายใหญ่ ซึ่งผมนำมาเปรียบเทียบกันบนแผนที่สิทธิบัตร เพื่อให้เห็นว่าแต่ละรายมีความเข็มแข็งในพื้นที่ตำแหน่งไหนอย่างไรบ้าง ถ้าเรามีงานประดิษฐ์ของเราเองที่เกี่ยวข้องกับขอบเขตเทคโนโลยีนี้ ผมแนะนำให้ลองใช้ระบบวิเคราะห์และวางลงบนแผนที่ให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ว่างานประดิษฐ์ของเราจะอยู่ตรงไหนบนแผนที่ อาจจะทำให้เราเห็นศักยภาพ ความเสี่ยง และโอกาสในงานของเรามากขึ้นได้

ip vision pic12 1

รูปที่ 11 : เป็นรูปสุดท้ายที่ผมจะแสดงให้ทุกท่านเห็นเป็นตัวอย่าง โดยจะให้เห็นพื้นที่ที่มีการยื่นคำขอใหม่เข้าไป โดยเฉพาะในช่วงปี 2018 เท่านั้น เนื่องจากเป็นช่วงปีล่าสุด และอาจจะทำให้เราเห็นถึงพื้นที่เกิดใหม่หรือ Emerging Areas ที่เพิ่งมีการยื่นขอรับสิทธิบัตรเข้าไป และที่เราอาจจะสนใจตรวจสอบเพิ่มเติมก็ได้ โดยพื้นที่ที่ผมสนใจเลือกเป็นตัวอย่างมาวิเคราะห์เพิ่มเติม คือพื้นที่ 4 ช่องกลางซ้ายสุดที่เกี่ยวข้อง Whitening Rice, Bran, Skin Care, Skin Whitening เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ยังมีการยื่นจดน้อยอยู่หรือที่เรียกว่า Whitespace แต่เริ่มมีกิจกรรมมากขึ้นในปี 2018 ผู้เล่นรายใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าไปเล่นมากนัก รวมถึงมีสิทธิบัตร 1 ฉบับ เลขที่ HK1106981A1 ของ Avon Products, Inc. ที่ได้มีการอนุญาตให้ใช้สิทธิไปแล้ว และพื้นที่ดังกล่าวยังไม่เคยมีคดีความใดๆ เกิดขึ้น อาจจะยังไม่เสี่ยงมากนักถ้าเราจะเรียนรู้สิทธิบัตรที่อยู่ในกลุ่มนี้ เพื่อนำมาหาแนวทางการพัฒนา ต่อยอด หรือเพื่อดำเนินการยื่นจดสิทธิบัตรให้ครอบคลุม เป็นผู้นำในพื้นที่ดังกล่าว เป็นต้น

ท้ายนี้ ผมขอสรุปว่า ข้อมูลสิทธิบัตร จะเข้ามามีความสำคัญกับนักวิจัย ผู้ประดิษฐ์ และทุกๆ องค์กรที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนา และการสร้างนวัตกรมมมากขึ้นเรื่อยๆ และจะกลายเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้ในอนาคต เนื่องจากเป็นแหล่งข้อมูลด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ครบถ้วนที่สุดในโลก แต่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิบัตรในการแนะนำวิธีการ และกลยุทธ์อย่างถูกต้องเหมาะสมกับแต่ละเคส ซึ่งในปัจจุบัน IDG เรามีทั้งเครื่องมือและทีมงานที่มีความพร้อม ในการให้คำปรึกษาและคำแนะนำ ทั้งเรื่องการจดสิทธิบัตรและด้านทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเภท รวมถึงการใช้ข้อมูลสิทธิบัตร เพื่อการพัฒนานวัตกรรมของทุกองค์กรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และครองพื้นที่นวัตกรรมแห่งใหม่อย่างเข็มแข็ง มั่นคง ต่อไปครับ

โดย วีระเวช อรธนาลัย (กาย) กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทลเล็คชวล ดีไซน์ กรุ๊ป จำกัด

Share this article

Facebook
Twitter
LinkedIn

ปรึกษา IDG

ผู้เชี่ยวชาญของเราพร้อมให้คำแนะนำคุณ

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

ติดต่อทีมผู้เชี่ยวชาญ