ความรู้เกี่ยวกับค่าสิทธิ หรือ Royalty Fee ตอนที่ 1
ตามพจนานุกรม Royalty หรือที่เราเรียกว่า ค่าสิทธิ นั้น แปลว่า “สัมปทาน” ซึ่งเป็นคำเดียวกับ “Concession”
โดยหลักการแล้วค่าสิทธิจะเกี่ยวข้องกับการที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิผูกขาดในการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรใดๆ
มีลักษณะ ของผู้มีสิทธิผูกขาด 2 ลักษณะดังนี้
- รัฐเป็นเจ้าของสัมปทานสิทธิ : ค่าตอบแทนจากการที่เอกชนมอบให้รัฐ
สัญญาลักษณะนี้เป็นการที่รัฐให้สิทธิ(franchise) แก่เอกชนในการให้บริการไปจนถึงการที่เอกชนลงทุนสร้าง-ดำเนินการ-โอนทรัพย์สินในโครงการกลับมาเป็นของรัฐเมื่อครบกำหนดโครงการ (Build-Transfer-Operate, BOT)
รัฐเป็นผู้มีสิทธิผูกขาดในการแสวงหาประโยชน์จากการทำกิจการเหมืองแร่ กิจการโทรคมนาคมหรือ กิจการปิโตรเลียม การขนส่ง การป่าไม้ ฯลฯ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับทรัพยากรสาธารณะ แต่หากรัฐไม่ทำเอง ก็อาจจะเปิดโอกาสให้เอกชน เข้ามาประกอบกิจการดังกล่าว ในรูปแบบ “สัญญาสัมปทาน” (Concession Agreement) โดยเอกชนจะต้องมีการชำระค่าธรรมเนียมรายปี และเงินส่วนแบ่งรายได้ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของ Royalty Fee ให้แก่รัฐ
2. Royalty right เอกชนเป็นเจ้าของสิทธิ ค่าตอบแทนจากการที่เอกชนมอบให้เอกชน
เอกชนผู้เป็นฝ่ายที่คิดค้นสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ ผ่านรูปแบบงานอันมีลิขสิทธิ์ นวัตกรรม หรือกระทั่งเครื่องหมายการค้าสินค้า/บริการที่ได้มีการวางระบบอย่างดีจนมีชื่อเสียงแพร่หลาย ซึ่งอาจจะอนุญาตให้ผู้อื่นนำงานนั้นไปผลิต ทำซ้ำ เผยแพร่ ดัดแปลง นำไปประยุกต์ใช้ทางอุตสาหกรรม เพื่อจัดจำหน่ายแก่สาธารณชนได้ เช่น เงินได้จากการอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing) ในสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และ เครื่องหมายการค้า เป็นต้น (เรื่องราวการได้รับสิทธิ Royalty Right นี่ค่อนข้างสนุกครับ เดี๋ยวจะมาเล่าในตอนต่อไป)
สำหรับตอนนี้จะขอเน้นในกรณีที่ เอกชนเป็นเจ้าของ Royalty Right
ในงาน 1 งาน เราอาจจะอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิได้มากกว่า 1 ราย นั่นหมายถึง งาน 1 งานของเรา จะสร้างรายได้ให้เราในลักษณะ Passive Income โดยที่เราไม่ต้องไปลงแรงกับมันอีกเป็นครั้งที่ 2 (แค่เซ็นสัญญาอนุญาต คลิ๊กเดียว)
ทำไมเราต้องมารู้จักค่าตอบแทนประเภท Royalty Fee…
ก่อนอื่น ผมขอแบ่งเงินได้ในโลกนี้ เป็น 2 ประเภทครับ
- Active Income เงินได้จากการทำงาน เช่นเงินเดือน ค่าบริการ หรือเงินได้จากการขายของแบบซื้อมาขายไป
- Passive Income เงินได้จากการลงทุน เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า เป็นต้น
โดยหลักการทั่วไป ค่าสิทธิ นี้ผมมองว่ามันเป็น เงินได้ลูกผสม (Hybrid Income) ระหว่าง Active Income และ Passive Income ครับ เพราะในการสร้างสรรค์งานทรัพย์สินทางปัญญา 1 ชิ้น จุดเริ่มต้นนั้น เจ้าของจะต้องมีการลงทุน ลงแรง พอสมควร เช่น ค้นคว้าในการเขียนนิยาย เขียนซอฟท์แวร์ หรือ Application คิดค้นทดสอบสิ่งประดิษฐ์ คิดค้นสูตรกระบวนการอุตสาหกรรม ที่จะต้องมีการลงมือทำ (Active) เพื่อให้เกิดผลงานนั้นออกมา เมื่อได้ผลงานนั้นออกมาแล้ว ก็ถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลของมัน (Harvest) โดยการอนุญาตให้ผู้อื่นใช้ หรือโอนขายสิทธิให้ผู้อื่น ซึ่งการอนุญาตให้ผู้อื่นใช้นั้น ผู้อื่นก็จะตกลงจ่ายค่าตอบแทนในรูปของ Royalty Fee นั้นเอง
ผู้มีสิทธิได้รับ Royalty Fee
ตัวอย่าง
- K. Rolling กับนิยายชุด Harry Potter
- ซอฟท์แวร์ที่ต้องชำระค่าสิทธิในการใช้เป็นรายปี (Office 365)
- ลิขสิทธิ์ เพลงของ Grammy หรือ ลิขสิทธิ์ การนำ Sticker ในไลน์ไปใช้
- สิทธิบัตรการออกแบบ Macbook Pro ของ Apple
- ภาพยนตร์การ์ตูนของ Walt Disney
- ค่าสิทธิ ในการขอประกอบธุรกิจ Franchise ร้านอาหาร KFC
ค่าสิทธิ นั้น เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงภายในประเทศ แต่ยังอาจเป็นธุรกรรมข้ามประเทศอีกด้วย จึงจะต้องมีการโอนเงินค่าตอบแทนนี้ ซึ่งจะเกิดภาระภาษีตามมา อาจกล่าวได้ว่า “ภาษี” จะเป็นตัวกำหนดความหมายดังนี้
ค่าสิทธิตามประมวลรัษฎากร (มาตรา 40 (3))
- ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ (Goodwill)
- ค่าแห่งลิขสิทธิ์ (Copyright)
- ค่าแห่งสิทธิอย่างอื่น (Any Other Rights)
- เงินปี (Annuity)
- เงินได้มีลักษณะเป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคาพิพากษาของศาล
ในส่วนของคำว่า “สิทธิอย่างอื่น” มีคำพิพากษาฎีกาที่ 1271/2531 ได้ให้ความหมายว่าสิทธิอย่างอื่นคือ สิทธิที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับค่าแห่งกู๊ดวิลล์ หรือค่าแห่งลิขสิทธิ์
ค่าสิทธิตาม OECD Model Tax Convention หรือ แม่แบบอนุสัญญาภาษีซ้อน ของ OECD
ในข้อ 12 ได้ให้ความหมายของ ค่าสิทธิ หรือ Royalty ไว้ดังนี้
“ค่า Royalty ให้หมายถึง เงินที่ได้ชำระเพื่อเป็นค่าตอบแทน การใช้, สิทธิในการใช้ซึง:
- ลิขสิทธิ์ ในงานวรรณกรรม ศิลปกรรม งานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งรวมถึง ภาพยนตร์
- สิทธิบัตร
- เครื่องหมายการค้า
- แบบหรือหุ่นจำลอง (Design or model)
- แผนผังสูตรลับ หรือ กรรมวิธีลับใด ๆ (Secret formula or process)”
- ประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พานิชยกรรม หรือ ทางวิทยาศาสตร์ (Information concerning industrial, commercial or scientific experience)”
ความแตกต่างระหว่าง การได้รับเงินได้ประเภทค่าสิทธิ และ การได้รับเงินได้ประเภทอื่นๆ
เพื่อความเข้าใจในเบื้องต้น ขอเปรียบเทียบการสร้างสรรค์งานประเภทลิขสิทธิ์
- เงินได้จากการจ้างแรงงาน
กรณีนี้ ผู้คิดค้นงาน จะมีลักษณะเป็นพนักงานประจำตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งจะดัรับค่าตอบแทนในลักษณะค่าจ้างประจำเช่น ค่าจ้างรายวัน หรือ รายเดือน เป็นต้น แม้ว่าตามกฎหมายลิขสิทธิ์ จะกำหนดให้ ลิขสิทธิ์ในงานนั้นตกเป็นของพนักงาน แต่นายจ้างมีสิทธินำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งในระหว่างสัญญาจ้าง ลูกจ้างอาจไม่มีสิทธินำงานนั้นไปใช้ประโยชน์ส้วนตัวได้ (เพราะอาจเกิดกรณี conflict of interest) และยังไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนพิเศษในลักษณะ ค่าสิทธิ จากทางบริษัทอีกด้วย
- เงินได้จากการรับจ้างผลิต หรือจ้างทำของ
กรณีนี้ ผู้คิดค้นงานจะได้รับค่าตอบแทนในลักษณะค่าบริการ และตามกฎหมายลิขสิทธิ์ กำหนดให้ลิขสิทธิ์ตกเป็นของผู้ว่าจ้างทันที ผู้ให้บริการไม่มีสิทธิ นำงานนั้นมาแสวงหาประโยชน์อีกต่อไป
- เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน
การอนุญาตให้ใช้สิทธินี้ มีลักษณะใกล้เคียงการให้เช่าทรัพย์สินอย่างมาก ซึ่ง การให้เช่าทรัพย์สินนั้น จะต้องเป็น
ทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งสาระสำคัญคือ
- เป็นเจ้าของทรัพย์สิทธิ์ (เช่น กรรมสิทธิ์ เป็นต้น)
- เป็นเจ้าของบุคคลสิทธิ (เช่นสิทธิครอบครอง เป็นต้น)
ในขณะที่การอนุญาตให้ใช้สิทธิ จะต้องเป็นสิทธิที่มีกฎหมายอื่นกำหนดไว้เป็นพิเศษ เช่น
- เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ตาม พรบ. ลิขสิทธิ์
- เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ตาม พรบ. เครื่องหมายการค้า
- เป็นเจ้าของสิทธิบัตร ตาม พรบ. สิทธิบัตร เป็นต้น
ความแตกต่างประการสำคัญคือ
- การให้เช่าทรัพย์สินนั้น จะสามารถให้เช่าได้เป็นครั้งๆ ไป เนื่องจากสภาพจำกัดของตัวทรัพย์สินเอง เช่น การให้เช่าบ้าน เมื่อให้เช่าบ้านหลังนั้นไปแล้ว ก็จะหมดสิทธินำบ้านนั้นออกให้ผู้อื่นเช่าอีก
- ในขณะที่ การอนุญาตให้ใช้สิทธินั้น สามารถอนุญาตให้ใช้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด
ในตอนต่อไป ผมจะมาเล่าความเจ๋งของเจ้า “ค่าสิทธิ” ให้อ่านกันครับ