ในยุคที่วงการบันเทิงกลับมาคึกคักและมีสีสันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นศิลปินในประเทศหรือต่างประเทศ จนเกิดกระแส TPOP, KPOP นอกเหนือจากผลงานการร้องเพลง การแสดงของศิลปินที่มอบความสุขกับแฟนคลับแล้ว ยังมีของที่ระลึกให้แฟนคลับได้เก็บสะสม ทั้งที่มาจากต้นสังกัดเองและสินค้าแฟนเมด (Fanmade) เป็นสินค้าที่มาจากความคิดสร้างสรรค์ของเหล่าแฟนคลับ และคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าของที่ระลึกที่มาแรงที่สุดในขณะนี้คือการสร้างตุ๊กตาจากคาแร็กเตอร์ของศิลปิน หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ตุ๊กตาไอดอล (Idol Doll)” เป็นที่นิยมมากในเหล่าแฟนคลับและมีกลุ่มซื้อขายในโซเชียลมีเดียที่มีสมาชิกมากถึง 2.7 หมื่นคน
เช็คใช้ชัวร์การสร้างตุ๊กตาไอดอลแฟนเมดกับกฎหมายลิขสิทธิ์ว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร และการทำตุ๊กตาไอดอลแฟนเมดนั้นผิดกฎหมายลิขสิทธิ์หรือไม่ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า “ลิขสิทธิ์” หมายความว่า สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะทำการใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น และ “ผู้สร้างสรรค์” หมายความว่า ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
กล่าวโดยสรุป ลิขสิทธิ์ คือ สิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะกระทำการใด ๆ กับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกในรูปแบบอย่างใด โดยงานที่สร้างสรรค์ต้องเป็นงานตามประเภทที่กฎหมายลิขสิทธิ์ได้ให้ความคุ้มครองไว้ และผู้สร้างสรรค์จะได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์โดยไม่ต้องจดทะเบียน
เมื่อต้องพิจารณาว่าการใช้งานลิขสิทธิ์นั้นเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ สามารถพิจารณาได้จากหลักการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (fair use) โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ 4 ประการ ดังนี้
- วัตถุประสงค์และลักษณะการใช้งานของลิขสิทธิ์ ผู้นำไปใช้ต้องไม่มีวัตถุประสงค์ทางการค้า หรือแสวงหาผลกำไร ใช้ในเชิงพาณิชย์ และไม่มีเจตนาทุจริต
- ลักษณะของงานอันมีลิขสิทธิ์ งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์มาก เช่น นวนิยาย การรายงานเหตุการณ์ที่มีความเฉพาะ ไม่ถือว่าเป็นการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม
- ปริมาณและเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญที่ถูกนำไปใช้เมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อหาทั้งหมด การใช้งานลิขสิทธิ์ของผู้อื่นในปริมาณมาก หรือปริมาณน้อยแต่เป็นสาระสำคัญ ก็ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ไ
- ผลกระทบต่อตลาดหรือมูลค่าของงานอันมีลิขสิทธิ์ ต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น การสร้างรายได้ของเจ้าของผลงาน
ดังนั้นการสร้างตุ๊กตาไอดอลแฟนเมดที่มาจากการออกแบบเองของแฟนคลับโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากตัวศิลปินเป็นการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ที่ไม่มีการทำซ้ำหรือดัดแปลงผลงานของผู้อื่น สิทธิในผลงานจะตกเป็นของผู้สร้างสรรค์ แต่ต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของตัวศิลปินเกินสมควรจึงจะเป็นการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (fair use) ไม่เข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น การนำผลงานดังกล่าวไปโปรโมทเว็บการพนันหรือการกระทำที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี
อย่างไรก็ตามการสร้างตุ๊กตาไอดอลแฟนเมดจะต้องพิจารณาถึงวัตถุประสงค์และขอบเขตของการสร้างว่าเข้าข่ายการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (fair use) หรือไม่ หากเกินขอบเขตอาจถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้
เขียนบทความโดย คุณดวงใจ เกาเกี้ยง
ฝ่ายเครื่องหมายการค้าและกฎหมาย
ติดต่อทีมลิขสิทธิ์ :
โทร : 02-011-7161 ติดต่อ 101
E-mail : [email protected]
เปิดทำการวันจันทร์ – วันเสาร์ เวลา 09:00 – 18:00 น