ในโลกของธุรกิจร้านอาหาร การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำและเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่ใช่เรื่องง่าย
Subway จะเป็นหนึ่งในแบรนด์แฟรนไชส์แซนด์วิชระดับโลกที่เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่เส้นทางสู่ความสำเร็จของ Subway ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป เมื่อไม่นานมานี้ แบรนด์ต้องเผชิญกับความท้าทายและปัญหาหลายประการในระบบแฟรนไชส์ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งต่อภาพลักษณ์และความไว้วางใจของผู้ร่วมธุรกิจ หากคุณกำลังสนใจการบริหารจัดการแฟรนไชส์หรือต้องการเรียนรู้จากกรณีศึกษาของ Subway บทความนี้จะพาคุณสำรวจปัญหาและแนวทางจัดการในเชิงลึก
กรณีนี้แสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดในการบริหารจัดการระบบแฟรนไชส์ของ Subway ในประเทศไทย เนื่องจากการที่สาขาซึ่งไม่มีสิทธิแฟรนไชส์ยังคงดำเนินการต่อไปหลังจากถูกเพิกถอนสิทธิ์โดยที่ เจ้าของสิทธิ์ในประเทศไทยเองก็ไม่ได้ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนภายหลังการบอกเลิกสัญญาว่าสาขาเหล่านั้นยุติการให้บริการแล้วจริงหรือไม่ จึงส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งในด้านประสบการณ์ของลูกค้าและชื่อเสียงของแบรนด์ ปัญหาดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงความไม่รัดกุมของระบบการเพิกถอนสิทธิ์แฟรนไชส์ ที่ไม่สามารถยุติการดำเนินการของสาขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการรับรู้และความไว้วางใจของลูกค้าต่อมาตรฐานของแบรนด์ Subway โดยรวมอีกด้วย
IDG ในฐานะผู้มีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาธุรกิจแฟรนไชส์ จึงมีคำแนะนำ 5 ข้อในการดำเนินการในธุรกิจแฟรนไชส์เพื่อป้องกันหรือแก้ไขผลจากความผิดพลาด ดังต่อไปนี้
- การทำสัญญาที่รัดกุมและมีประสิทธิในการบังคับใช้
เจ้าของสิทธิ์ฯ ควรพิจารณาทบทวนสัญญาแฟรนไชส์ให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านของเงื่อนไขการเพิกถอนสิทธิ การระงับข้อพิพาท และการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมาย หากเกิดกรณีการละเมิดข้อตกลง การระบุบทลงโทษและขั้นตอนการยุติการดำเนินงานในกรณีที่ร้านแฟรนไชส์สาขาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญา จะช่วยให้กระบวนการควบคุมและบังคับใช้สัญญามีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ปกป้องแบรนด์อย่างเร่งด่วน
เจ้าของสิทธิ์ฯ ควรรีบดำเนินการทางกฎหมายกับสาขาที่ละเมิดสิทธิ์แฟรนไชส์โดยทันที การออกคำสั่งให้หยุดการใช้เครื่องหมายการค้ารวมถึงการดำเนินธุรกิจภายใต้สิทธิแฟรนไชส์ เป็นขั้นตอนแรกที่ควรทำ นอกจากนี้ควรพิจารณาการดำเนินคดีเรียกร้องค่าเสียหายจากการละเมิดเครื่องหมายการค้า เพื่อสร้างตัวอย่างให้กับผู้ประกอบการรายอื่นที่อาจละเมิดสิทธิ์ในอนาคต
- การให้ข้อมูลแก่ลูกค้า
เจ้าของสิทธิ์ฯ ควรจัดทำสื่อ โฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือแถลงการณ์เพื่อให้ลูกค้าทราบวิธีการตรวจสอบสาขาที่ได้รับอนุญาตในทันทีหลังจากได้มีการยกเลิกสาขาในคราวใด ๆ หรือควรมีการใช้เครื่องหมาย โลโก้ หรือ ตราที่ระบุว่าเป็น “แฟรนไชส์ที่ได้รับอนุญาต” หรือรับร้องการประกอบธุรกิจของแฟรนไชส์แต่ละสาขาเพื่อให้ลูกค้าสามารถสังเกตได้ชัดเจน นอกจากนี้ ควรสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์และป้ายประชาสัมพันธ์ภายในร้านเพื่อเพิ่มการรับรู้ของลูกค้า
- การตรวจสอบและสนับสนุนแฟรนไชส์
เจ้าของสิทธิ์ฯ ควรเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสาขาแฟรนไชส์อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่อย่างถูกต้องเพื่อให้แน่ใจว่าสาขาต่าง ๆ ปฏิบัติตามมาตรฐานของแบรนด์อย่างครบถ้วน และแฟรนไชส์สาขาที่สิ้นสิทธิการดำนินธุรกิจตามสัญญาว่าสาขาเหล่านั้นยุติการประกอบธุรกิจแล้วหรือไม่ อีกทั้งยังควรให้การสนับสนุนและอบรมสาขาที่ได้รับอนุญาตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าและบริการ
- ปรับปรุงกระบวนการเพิกถอนสิทธิ์
เจ้าของสิทธิ์ฯ ควรทบทวนและปรับปรุงขั้นตอนการเพิกถอนสิทธิ์แฟรนไชส์ให้มีความชัดเจนและรวดเร็วมากขึ้น เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสาขาที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์จะไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ อันจะช่วยป้องกันไม่ให้แบรนด์ต้องเผชิญกับความเสียหายทางชื่อเสียงและการละเมิดสิทธิ์ในอนาคต