บริการสืบค้นสิทธิบัตร

เนื่องจากการสร้างนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จและสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นได้ อาจไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นที่จะต้องอาศัยทรัพยากร เวลา และต้นทุนจำนวนมหาศาลกว่าจะวิจัย และพัฒนาสิ่งดังกล่าวจนสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง เพราะฉะนั้นแล้ว การจดสิทธิบัตรจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ โดยการจดสิทธิบัตรจะช่วยในการรับรองว่าตัวเราเอง ซึ่งเป็นผู้ลงทุน ลงแรงในการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว ได้เป็นเจ้าของในงานนั้น ๆ อย่างแท้จริง แล้วถูกต้องตามกฎหมาย 

โดยการผลักดันสิทธิบัตรแต่ละฉบับจนกระทั่งสำเร็จและได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้องนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยการวางแผนที่ดีตั้งแต่การเริ่มต้น ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการและนวัตกรต่าง ๆ จำนวนมาก จึงเลือกที่จะทำการสืบค้นสิทธิบัตรเป็นขั้นตอนแรก ก่อนที่จะดำเนินการต่อไปในส่วนของการร่างสิทธิบัตร และการยื่นขอรับความคุ้มครอง เนื่องจากขั้นตอนการสืบค้นสิทธิบัตรนี่เอง จะช่วยให้เจ้าของนวัตกรรมและเทคโนโลยี สามารถตัดสินใจและวางแผนกลยุทธ์ในการใช้ประโยชน์จากผลงานตัวเองให้มากที่สุด และคุ้มค่ามากที่สุดนั่นเอง

การสืบค้นและประเมินความเป็นไปได้ในการจดสิทธิบัตร (Patentability Search)

สิทธิบัตรทุกฉบับในโลกนี้ จำเป็นจะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบการประดิษฐ์โดยผู้ตรวจสอบของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาประเทศนั้น ๆ ก่อน จึงจะสามารถจดทะเบียนเป็นสิทธิบัตรที่มีผลบังคับใช้สมบูรณ์ตามกฎหมายได้ ซึ่งมาตรฐานในการพิจาณาในขั้นตอนนี้ เป็นเกณฑ์การพิจารณาที่ชัดเจน และมีความเป็นสากลใช้กันทั่วโลก นั่นก็คือ

ประเภทของสิทธิบัตร
เกณฑ์การพิจารณา
สิทธิบัตรการประดิษฐ์
  • ความใหม่ (Novelty)
  • ขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น (Inventive Step)
  • การประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม (Industrial Applicability)
อนุสิทธิบัตร*
  • ความใหม่ (Novelty)
  • การประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม (Industrial Applicability)
สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
  • ความใหม่ (Novelty)
  • การประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม (Industrial Applicability)

*อนุสิทธิบัตร มีการรับรองแค่บางประเทศ และอาจมีเกณฑ์การพิจารณาที่แตกต่างกัน

โดยในขั้นตอนการตรวจสอบการประดิษฐ์นั้น ผู้ตรวจสอบจะพิจารณาสิทธิบัตรของผู้ยื่นคำขอ ร่วมกับงานอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันที่เคยมีการประกาศโฆษณา เพื่อดูว่างานดังกล่าวผ่านเกณฑ์การพิจารณาหรือไม่ ซึ่งสิทธิบัตรที่จะได้รับการจดทะเบียน จะต้องผ่านครบทุกเกณฑ์ตามที่มีการระบุไว้ในประเภทนั้น ๆ ด้วย ซึ่งกว่าผู้ขอรับสิทธิบัตรจะทราบผลการตรวจสอบ ก็จะต้องรอจนกว่าคำขอผ่านขั้นตอนการตรวจสอบการประดิษฐ์ โดยส่วนมากจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี จึงจะทราบผล กว่าจะแก้ไขหรือชี้แจงในแต่ละขั้นตอนนั้น ก็อาจยิ่งทำให้ใช้เวลานาน รวมถึงมีค่าใช้จ่ายที่บานปลายอีกด้วย 

ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการและนวัตกรจำนวนมาก จึงเลือกที่จะทำการสืบค้นและประเมินความเป็นไปได้ในการจดสิทธิบัตร (Patentability Search) ตั้งแต่แรก ก่อนที่จะทำการยื่นคำขอ จากที่มีการกล่าวไปข้างต้น วิธีการตรวจสอบนั้นมีเกณฑ์การตรวจสอบที่ชัดเจนและเป็นสากล หน่วยงานจำนวนมากจึงสามารถดำเนินการในขั้นตอนนี้ได้เอง ซึ่งการสืบค้นสิทธิบัตรก่อนยื่นคำขอนั้น จะช่วยในการประเมินความเป็นไปได้ในการที่งานจะได้รับจดทะเบียนนั่นเอง และจะมีข้อได้เปรียบ คือ กรณีที่สืบค้นแล้วไม่ผ่านเกณฑ์ ก็อาจแก้ไขรายละเอียดของงานก่อนยื่นคำขอได้ หรือยื่นขอรับความคุ้มครองในสิทธิบัตรประเภทที่มีเกณฑ์การพิจารณาที่น้อยกว่าย่อมได้ 

ผลการสืบค้นสิทธิบัตร
รูปที่ 1: ตัวอย่างผลการสืบค้นสิทธิบัตรของสำนักงานตรวจค้นคำขอระหว่างประเทศ (PCT/ISA) ที่มา: https://www.uspto.gov/web/offices/pac/mpep/s1845.html

โดยสรุปแล้ว การสืบค้นและประเมินความเป็นไปได้ในการจดสิทธิบัตร สามารถสร้างข้อได้เปรียบให้แก่เจ้าของงานดังนี้ 

  1. ตรวจสอบความใหม่ และขั้นการประดิษฐ์ของงาน การสืบค้นสิทธิบัตรจะช่วยให้เจ้าของงานทราบถึงความใหม่ และขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นเกณฑ์การพิจารณาที่สำคัญตั้งแต่ก่อนดำเนินการในขั้นตอนอื่น ๆ ในกรณีที่งานของเราขาดความใหม่หรือไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น เราจึงยังมีโอกาสที่จะปรับปรุงหรือพัฒนาการประดิษฐ์ของเราให้มีลักษณะพิเศษที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการรับจดทะเบียนนั่นเอง 
  2. ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น  ผลการสืบค้นสิทธิบัตร จะสามารถช่วยให้เจ้าของงานประเมินความคุ้มค่าของการยื่นสิทธิบัตรฉบับนั้น ๆ ได้ง่ายขึ้น หากสืบค้นแล้ว ปรากฏว่างานที่มีลักษณะคล้ายกับงานของเราเคยมีการประกาศโฆษณามาก่อน ซึ่งอาจเป็นผลให้งานของเราไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา ดังนั้นเจ้าของงานก็อาจจะเลือกที่จะไม่ดำเนินการต่อในขั้นตอนถัด ๆ ไป เพื่อนำค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ไปดำเนินการในการพัฒนาการประดิษฐ์อื่น ๆ แทนได้ 
  3. ใช้อ้างอิงในการร่างข้อถือสิทธิ ให้ต่างจากงานอื่น ในสิทธิบัตรทุกฉบับ ข้อถือสิทธิถือว่าเป็นหัวใจหลักของการคุ้มครอง เนื่องจากเป็นส่วนที่ระบุขอบเขตความคุ้มครองของงานเราตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นแล้ว การร่างข้อถือสิทธิให้มีความรัดกุมจึงมีความสำคัญมาก เพื่อทำให้เจ้าของงาน สามารถบังคับใช้สิทธิตามกฎหมายจากสิทธิบัตรได้มากที่สุดนั่นเอง ซึ่งการสืบค้นสิทธิบัตรนั้น ก็จะทำให้เราสามารถรู้ได้ว่างานที่มีลักษณะเดียวกับงานของเราเคยมีการร่างข้อถือสิทธิไว้อย่างไร เพื่อให้การร่างข้อถือสิทธิสามารถหลีกเลี่ยงการซ้อนทับกับงานอื่น ๆ รวมถึงทำให้รู้ช่องทางที่งานของเราสามารถขอถือสิทธิได้ อันเป็นการป้องกันโอกาสในการได้รับคำสั่งให้แก้ไข หรือโอกาสที่จะเกิดข้อพิพาทกับเจ้าของงานอื่น ๆ
  4. ช่วยกำหนดกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ นอกเหนือจากการสืบค้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการจดสิทธิบัตรแล้ว การสืบค้นสิทธิบัตรยังเป็นการวิเคราะห์เทคโนโลยีของคู่แข่งอีกด้วยว่า ในปัจจุบันคู่แข่งของเรากำลังพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมประเภทใด รวมถึงมีลักษณะ Portfolio ของสิทธิบัตรอย่างไรบ้าง ซึ่งเราก็สามารถนำข้อมูลส่วนนี้ไปปรับแผนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของเราได้

โดยทีมงานของเรา มีประสบการณ์ทำการสืบค้นและประเมินความเป็นไปได้ในการจดสิทธิบัตรมากกว่า 2,000 ฉบับ ซึ่งในทุกคำขอที่เราทำการสืบค้นนั้น จะมีการส่งรายงานผลการสืบค้นฉบับสมบูรณ์ รวมถึงรวบรวมการประดิษฐ์ที่ใช้ในการอ้างอิงทั้งหมดให้แก่เจ้าของงาน และมีการนัดประชุมเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางในการใช้ประโยชน์จากการประดิษฐ์นั้น ๆ ให้กับลูกค้าทุกราย โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม 

การวิเคราะห์ความอิสระในการดำเนินการ (Freedom to Operate / FTO)

นอกเหนือจากการสืบค้นและประเมินความเป็นไปได้ในการจดสิทธิบัตร (Patentability Search) แล้ว ยังมีการสืบค้นอีกประเภทที่ผู้ประกอบการและนวัตกรนิยมเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ การวิคราะห์ความอิสระในการดำเนินการ หรือที่คนมักจะเรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า “การสืบ FTO” นั่นเอง 

ในขณะที่การสืบค้นสิทธิบัตร มีวัตถุประสงค์หลักในการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการจดสิทธิบัตรฉบับนั้น ๆ ว่าจะผ่านเกณฑ์การพิจารณา หรือว่ามีความเหมือนคล้ายกับงานอื่น ๆ ก่อนหน้าหรือไม่ การสืบ FTO จะไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การประเมินความเป็นไปได้ที่เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมนั้นจะได้รับการจดสิทธิบัตรหรือไม่ แต่จะมุ่งเน้นไปที่ความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมของเรา ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ (เช่น ผลิต จำหน่าย และอนุญาตให้ใช้สิทธิ เป็นต้น) ในประเทศต่าง ๆ โดยที่ไม่เป็นการละเมิดกับสิทธิบัตรของผู้อื่นนั่นเอง หรือถ้าพูดกันแบบง่าย ๆ ก็คือเป็นการเช็กว่าเราสามารถนำงานของเราไปขายในประเทศต่าง ๆ โดยไม่ถูกฟ้องได้หรือไม่นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ การสืบ FTO จึงมักทำการวิเคราะห์โดยระบุเป็นรายประเทศ เพื่อตีกรอบข้อมูลในการโฟกัสตลาดของประเทศนั้น ๆ  

การสืบ FTO จึงเหมาะกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีการจำหน่ายหรือเผยแพร่ไปแล้ว ซึ่งต้องการตรวจสอบงานของตนเองว่ามีอิสระที่จะขยายตลาดไปยังต่างประเทศโดยที่ไม่เป็นการละเมิดงานของผู้อื่นนั่นเอง ซึ่งนอกเหนือจากข้อได้เปรียบในข้างต้น การสืบ FTO ยังมีเหตุผลสำคัญที่ผู้ประกอบการและนวัตกรเลือกที่ดำเนินการ ดังต่อไปนี้ 

  • ลดความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้อง หรือดำเนินคดี 

การสืบ FTO จะทำให้เรารู้ว่าการประดิษฐ์ในลักษณะของเรา มีการยื่นสิทธิบัตรไว้ในประเทศนั้น ๆ หรือไม่ ซึ่งหากเราสืบค้นไปแล้วพบว่ามี ก็อาจเลี่ยงไม่ทำการตลาดในประเทศนั้น ๆ เพื่อไม่ให้เป็นการละเมิด ซึ่งจะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ 

  • เป็นการหาช่องทางในการปรับปรุงการประดิษฐ์ หรือผลิตภัณฑ์ 

เมื่อเรามีข้อมูลแล้วว่าผลิตภัณฑ์ในประเทศนั้น ๆ มีการขอถือสิทธิ หรือขอรับความคุ้มครองไว้อย่างไรบ้าง เราก็สามารถปรับปรุงหรือแก้ไขผลิตภัณฑ์ของเรา ให้มีลักษณะแตกต่างกับงานนั้น ๆ เพื่อให้เรายังสามารถเข้าไปทำตลาดในประเทศนั้น ๆ โดยลดความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องได้ 

  • เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ 

ในการทำธุรกิจ ทรัพย์สินทางปัญญานั้นมีประโยชน์ที่นอกเหนือจากการคุ้มครองผลิตภัณฑ์ไม่ให้ถูกละเมิดอีกมากมาย หากเราทำการสืบ FTO ก่อนที่จะมีการทำการตลาดในประเทศนั้น ๆ ข้อมูลที่เรามี สามารถส่งผลให้เราเนื้อหอมมากขึ้น เป็นการดึงดูดคนที่สนใจมาร่วมลงทุนกับเรา เพราะเห็นว่าผลการสืบ FTO เป็นตัวรับประกันได้ในระดับหนึ่งว่างานของเรามีศักยภาพมากเพียงพอในการเข้าสู่ตลาด ซึ่งนอกเหนือไปจากการดึงดูดนักลงทุนแล้ว ผลของการสืบ FTO ยังเป็นประโยชน์ในการอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing) ในงานของเราด้วย 

Patentability Search
FTO Search
วัตถุประสงค์

สืบค้นเพื่อตรวจสอบว่าการประดิษฐ์นั้น มีความเหมือนคล้ายกับการประดิษฐ์ก่อนหน้าอย่างไร โดยพิจารณาตามเกณฑ์ความใหม่ และขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น เพื่อดูว่ามีโอกาสในการได้รับจดทะเบียนอย่างไร หากยื่นจดสิทธิบัตร

สืบค้นเพื่อตรวจสอบว่าการประดิษฐ์นั้น มีการยื่นจดสิทธิบัตรไว้แล้วหรือไม่ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะไปทำการละเมิด และถูกฟ้องร้อง

วิธีการสืบค้น

ตรวจสอบด้วยฐานข้อมูลสิทธิบัตร รวมถึงงานวิจัย และการเปิดเผยข้อมูลในช่องทางต่าง ๆ ทั้งหมด ที่ถือว่าเป็นการประกาศโฆษณา

ตรวจสอบด้วยฐานข้อมูลสิทธิบัตร รวมถึงงานวิจัย และการเปิดเผยข้อมูลในช่องทางต่าง ๆ ทั้งหมด ที่ถือว่าเป็นการประกาศโฆษณา

ข้อได้เปรียบ
  1. ตรวจสอบความใหม่ และขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นของงาน
  2. ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น 
  3. ใช้อ้างอิงในการร่างข้อถือสิทธิ ให้แตกต่างจากงานอื่น 
  4. ใช้กำหนดกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ
  1. ลดความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้อง หรือดำเนินคดี 
  2. เป็นการหาช่องทางในการปรับปรุงการประดิษฐ์ หรือผลิตภัณฑ์ 
  3. เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
เหมาะสำหรับ

ผู้ประกอบการหรือนวัตกรที่ต้องการยื่นจดสิทธิบัตรใหม่

ผู้ประกอบการหรือนวัตกรที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ไปแล้ว โดยต้องการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ

ข้อสังเกต

สิทธิบัตรที่เคยมีการประกาศโฆษณาทั้งหมด (รวมถึงที่หมดอายุความคุ้มครองแล้ว) สามารถส่งผลให้งานที่ยื่นภายหลังขาดความใหม่ และไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นได้ การประดิษฐ์ภายหลังที่คล้ายกัน จึงไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้

สิทธิบัตรที่ประกาศโฆษณาแต่ไม่ได้รับจดทะเบียน รวมถึงสิทธิบัตรที่หมดอายุความคุ้มครองแล้ว ไม่ถือว่ามีความคุ้มครองทางกฎหมาย การใช้ประโยชน์ในสิทธิบัตรเหล่านั้นจึงไม่ถือว่าเป็นการละเมิด