ผลิตภัณฑ์หนึ่งอย่าง ขอคุ้มครองหรือมีทรัพย์สินทางปัญญาอะไรบ้าง
หลายท่านซึ่งเป็นผู้ประกอบการ หรือกำลังจะทำธุรกิจของตัวเอง โดยการสร้างผลิตภัณฑ์หรือสินค้าใหม่ๆ เพื่อตอบสนองหรือสร้างความต้องการใหม่ให้กับตลาด หรือแม้กระทั่งนักวิจัย นักประดิษฐ์ต่างๆที่กำลังสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา แต่ก็กังวลว่าจะมีคู่แข่งทำของมาขายเหมือนกัน หรือเจ้าใหญ่ๆในตลาดจะมาเลียนแบบของเรา หรืออาจจะโดย copy ตรงนู้น ตรงนี้ไปใช่ก็ได้ หลายท่านคงอยากได้รับความคุ้มครองแต่ก็งงๆ ไม่รู้จะคุ้มครองอะไรดี ลิขสิทธิ์แบรนด์ สิทธิบัตรโลโก้ ลิขสิทธิ์งานประดิษฐ์ มันต่างกันยังไงนะ ความหลากหลายของทรัพย์สินทางปัญญาอาจทำให้หลายท่านนั้น มีอาการสับสนได้วันนี้จะมาแนะนำเบื้องต้นนะครับ ว่าเราควรทำอะไรและขอรับความคุ้มครองงานของเราในจุดไหนอย่างไรบ้างนะครับ
1.หากงานของท่านโดดเด่น ในเรื่อง กลไก องค์ประกอบทางโครงสร้าง กระบวนการ วิธีการ หรือลักษณะพิเศษทางวิศวกรรมที่ทำให้เกิดฟังก์ชันพิเศษ เป็นต้นนะครับ งานของท่านควรจะขอรับความคุ้มครองในลักษณะของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ หรือ อนุสิทธิบัตร
2.หากงานของท่านโดดเด่นในเรื่องของ รูปร่าง รูปทรง หน้าตา ลักษณะ สี ลวดลาย ของผลิตภัณฑ์ เช่นท่านกำลังพัฒนาเครื่องปรับอากาศที่มีรูปทรงสามเหลี่ยม (ทั่วไปเป็นสี่เหลี่ยม) หรือ เก้าอี้ที่มีขาเจ็ดขา งานของท่านควรขอรับความคุ้มครองในลักษณะของ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
3.แต่หากท่าน กลัวว่าใครจะเอาชื่อแบรนด์ โลโก้ (ชื่อ หรือ รูปภาพประกอบหรือทั้งสองส่วน) ชื่อรุ่น (sub-brand) ท่านควรจะจดทะเบียน เครื่องหมายการค้า ซึ่งจริงๆนั้นเครื่องหมายการค้าค่อนข้างสำคัญอย่างมาก แบรนด์มากมายที่มีสินค้าราคาสูง หรือเป็นที่รู้จักกันดี หรือที่พูดชื่อปุ๊บรู้เลยว่าขายอะไร โดดเด่นเรื่องอะไร เป็นผลพวงจากการสร้างแบรนด์ที่ยอดเยี่ยมทั้งนั้น การคุ้มครองแบรนด์ของเราด้วยการจดทะเบียน เครื่องหมายการค้า จึงค่อนข้างจำเป็นหากท่านอยากสร้างแบรนด์ของตัวเอง
4.ถ้าท่านเป็นนักสร้างสรรค์อื่นๆ สร้างงานต่างๆ เช่น รูปปั้น รูปถ่าย เพลง วิดีโอ มิวสิควิดีโอ หรือ ซอฟแวร์ ท่านควรใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ ในการคุมครองงานของท่าน แต่หากซอฟแวร์ของท่านเป็นการไปควบคุมฮาร์ดแวร์หรือเป็นระบบบางอย่างซึ่งให้ผลที่ดีขึ้น มีความใหม่ อาจพิจารณาในเรื่องของ สิทธิบัตรการประดิษฐ์หรืออนุสิทธิบัตร ได้ ในส่วนของลวดลาย หรือรูปทรงของชิ้นงานศิลปะหรือศิลปะประยุกต์ก็อาจพิจารณาเรื่องของสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยก็ได้
5.ความลับทางการค้า เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทุกคนไม่ค่อยทราบกัน หนึ่งในตัวอย่างที่ยอดเยี่ยม เช่น ผลิตภัณฑ์น้ำอัดลมสีดำ ซึ่งเก็บสูตรตัวเองเป็นความลับ เนื่องจาก สูตรหรือกรรมวิธีบางอย่าง หากนำไปจดเป็น สิทธิบัตรการประดิษฐ์หรืออนุสิทธิบัตร ซึ่งการยื่นจดสูตรดังกล่าวจะต้องเปิดเผยข้อมูลของสูตรดังกล่าวด้วย และด้วยอายุของ สิทธิบัตรการประดิษฐ์หรืออนุสิทธิบัตรที่จำกัด และขั้นตอนที่ต้องเปิดเผยข้อมูล อาจทำให้สูตรของท่านที่มีความซับซ้อนไม่มากนักอาจถูกนำไปดัดแปลงได้ง่าย อีกทั้งการพิสูจน์ว่าคู่แข่งของท่าน ผลิตด้วยสูตรหรือวิธีเดียวกันกับท่านนั้นยังเป็นเรื่องยากอีกด้วย การใช้ ความลับทางการค้า หรือทำสัญญาปกปิดความลับกับผู้ที่เกี่ยวข้องอาจดีที่สุด
ยังมีเรื่องอื่นๆอีกเช่น สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (ไข่เค็มไชยา ข้าวสังข์หยด) หรือแผนภูมิวงจรรวม (IC) เป็นต้น
ทั้งนี้หนึ่งผลิตภัณฑ์ของท่านในตลาดสามารถขอรับความคุ้มครองได้มากกว่าหนึ่งอย่าง เช่น เก้าอี้เจ็ดขา หากการทำเจ็ดขานั้นให้ผลดีในเชิงการใช้งานหรือทางอุตสาหกรรมด้วย ท่านอาจขอรับทั้งในส่วนของ สิทธิบัตรการประดิษฐ์หรืออนุสิทธิบัตร และ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ก็ได้ เมื่อสินค้าออกขาย ท่านก็อาจต้องจดทะเบียน เครื่องหมายการค้าด้วย และสมมติว่า วิธีการเตรียมเนื้อไม้เพื่อผลิตเก้าอี้เจ็ดขานั้นมีเทคนิคพิเศษ ก็อาจต้องจัดทำ ความลับทางการค้าอีกด้วย อย่างไรก็ตามการขอรับความคุ้มครองนั้น ทำได้หลากหลายเทคนิค และวิธีการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้งานหรืองานที่ท่านสร้างสรรค์หรือประดิษฐ์อีกด้วย
ในเบื้องต้น อาจจะพอเข้าใจเรื่องทรัพย์สินทางปํญญา มากขึ้นบ้างนะครับ โดยท่านสามารถติดตามบทความอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้ในเว็บไซต์ของเราเลยนะครับ