OUR BLOG

ข้อควรรู้ในการขอยื่นรับความคุ้มครองสิทธิบัตรในกลุ่มประเทศยุโรป

5

     นอกจากประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นเบอร์หนึ่งมาอย่างยาวนานในด้านการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ แล้ว ประเทศโซนยุโรปเองก็เป็นอีกภูมิภาคหนึ่งที่มีการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงจำนวนการขอยื่นจดสิทธิบัตรอีกเช่นกัน หลายคนอาจจะคิดว่าการยื่นขอความคุ้มครองสิทธิบัตรในทวีปยุโรปสำหรับคนไทยนั้นเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากเราอาจจะมีภาพจำว่าทวีปยุโรปนั้นเป็นที่ตั้งของบริษัทที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานและสำคัญหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นด้านยานยนต์ เวชภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์เสริมความงามต่าง ๆ แต่ในความเป็นจริงนั้น
มีผู้ประกอบการหรือเจ้าของนวัตกรรมชาวไทยจำนวนไม่น้อยเลย ที่ทำการยื่นขอความคุ้มครองด้านสิทธิบัตรในทวีปยุโรปในแต่ละปี

ช่องทางการยื่นขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรสำหรับประเทศโซนยุโรป

ในการยื่นขอรับความคุ้มครองในประเทศโซนยุโรปนั้น สามารถทำได้โดยสองช่องทางหลัก ๆ ได้แก่

  1. การยื่นกับสำนักงานสิทธิบัตรของประเทศนั้น ๆ โดยตรง ในการยื่นผ่านช่องทางนี้ เป็นการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไปยังสำนักงานสิทธิบัตรของประเทศนั้น ๆ โดยตรง โดยคำขอรับสิทธิบัตรนั้นอาจจะเป็นการยื่นโดยอ้างอิงคำขอที่มีการยื่นไว้ครั้งแรกในประเทศต้นทาง หรือคำขอรับสิทธิบัตรผ่านระบบสิทธิบัตรระหว่างประเทศก็ได้ (PCT Application) โดยจะยื่นขอรับความคุ้มครองผ่านทางช่องทางนี้ ก็จะมีลักษณะเหมือนกับการยื่นเข้าประเทศในโซนอื่น ๆ ไม่ได้มีลักษณะพิเศษอะไร ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองภายในประเทศที่มีการยื่นขอรับความคุ้มครองเท่านั้น

 

ยกตัวอย่างเช่น นายสมชายได้ยื่นคำขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรในประเทศไทย หากนายสมชายต้องการยื่นขอรับความคุ้มครองในประเทศเยอรมนี ก็จะสามารถยื่นตรงโดยอ้างอิงคำขอรับสิทธิบัตรเดิมแก่สำนักงานสิทธิบัตรประเทศเยอรมนีได้ภายใน 12 เดือนนับจากวันที่ยื่นคำขอไทยเป็นครั้งแรก หรือนายสมชายก็สามารถยื่นคำขอ PCT เพื่อที่จะขยายระยะเวลาสำหรับยื่นเข้าประเทศปลายทางเป็น 30 เดือน แล้วอ้างอิงคำขอ PCT ดังกล่าวเข้าประเทศเยอรมนีได้เช่นกัน ซึ่งทั้งสองกรณี หากคำขอรับสิทธิบัตรของนายสมชายได้รับการจดทะเบียน ก็จะได้รับความคุ้มครองแค่ภายในประเทศเยอรมนีเท่านั้น

  1. การยื่นผ่านสำนักงานสิทธิบัตรยุโรป (European Patent Office/EPO) สำหรับหน่วยงานนี้ เรียกได้ว่าเป็นพระเอกสำคัญที่ทำให้การ
    ยื่นขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรในประเทศโซนยุโรป มีความแตกต่างจากการยื่นสิทธิบัตรในภูมิภาคอื่น ๆ เลย โดยสำนักงานสิทธิบัตรยุโรปนั้น จัดว่าเป็นสำนักงานสิทธิบัตรระดับภูมิภาค (Regional Level) ซึ่งมีความพิเศษคือ ผู้ขอรับความคุ้มครองสามารถยื่นคำขอรับสิทธิบัตรผ่านสำนักงานสิทธิบัตรยุโรป และเมื่อคำขอดังกล่าวได้รับการจดทะเบียนแล้ว ผู้ขอสามารถระบุประเทศสมาชิกที่ต้องการให้สิทธิบัตรมีผลทางกฎหมายในได้เลย โดยสามารถยื่นคำขอรับสิทธิบัตรแก่สำนักงานสิทธิบัตรยุโรปได้ด้วยวิธีการยื่นตรง หรือยื่นผ่านระบบ PCT ก็ได้

 

ยกตัวอย่างเช่น นางสาวสมรได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรแก่กรมทรัพย์สินทางปัญญาไทย และมีความประสงค์ที่จะขอความรับรองในประเทศ
เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ รวมถึงอิตาลี นางสาวสมรสามารถยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไทย หรือคำขอ PCT แก่สำนักงานสิทธิบัตรยุโรปได้ทีเดียว และเมื่อได้รับจดทะเบียนแล้วจากสำนักงานสิทธิบัตรยุโรปแล้ว นางสาวสมรสามารถระบุประเทศที่ต้องการให้สิทธิบัตรมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายในประเทศดังกล่าวข้างต้นได้เลย

สำหรับประเทศที่เป็นสมาชิกของสำนักงานสิทธิบัตรยุโรป โดยส่วนมากก็จะเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรป (European Union/EU) ซึ่งมีทั้งหมด 38 ประเทศ ครอบคลุมประเทศยอดฮิตเกือบทั้งหมด เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮังการี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี และอังกฤษ ยิ่งไปกว่านั้น สิทธิบัตรยุโรปยังสามารถระบุประเทศที่ต้องการให้มีการคุ้มครองนอกภูมิภาคยุโรปได้อีก 4 ประเทศ ได้แก่ โมรอคโค มอลโดวา ตูนิเซีย หรือแม้กระทั่งประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเราอย่างประเทศกัมพูชา แต่สำหรับประเทศรัสเซียและเบลารุสนั้น ถึงแม้จะตั้งอยู่ในทวีปยุโรป แต่ก็ไม่ได้เป็นสมาชิกของสำนักงานสิทธิบัตรยุโรปแต่อย่างใด หากต้องการยื่นเข้าสองประเทศดังกล่าว ต้องทำการยื่นต่อสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาทั้งสองประเทศโดยตรง หรือผ่านสำนักงานสิทธิบัตรยูเรเซีย (Eurasian Patent Office/EAPO) ซึ่งเป็นอีกสำนักงานสิทธิบัตรระดับภูมิภาคที่ครอบกคลุมกลุ่มประเทศในเขตยูเรเซีย (เอเชียกลางและยุโรปตะวันออก)

ข้อสังเกตในการยื่นขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรยุโรป

           ขึ้นชื่อว่ายุโรปแล้ว แน่นอนว่าระดับนี้จะมีอะไรที่เหมือนประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ ไม่ได้ โดยการยื่นขอรับความคุ้มครองแก่สำนักงานสิทธิบัตรยุโรปนั้น จะมีข้อกำหนดที่พิเศษและแตกต่างจากภูมิภาคอื่น ๆ ได้แก่

  1. จำเป็นต้องทำการการสืบค้นและจัดทำรายงาน (European Extended Search Report) ถึงแม้ว่าคำขอดังกล่าวจะถูกยื่นผ่านระบบ PCT และผ่านการสืบค้นระหว่างประเทศมาแล้ว การยื่นสิทธิบัตรยุโรปนั้นจะต้องทำการสืบค้นโดยสำนักงานสิทธิบัตรยุโรปอีกครั้งหนึ่ง
    ซึ่งผู้ตรวจสอบจะทำรายงานเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ที่ได้ยื่นไป รวมถึงของความคิดเห็นของสำนักงานสิทธิบัตรยุโรปต่อเกณฑ์การพิจารณาสิ่งประดิษฐ์อีกด้วย เราอย่าเพิ่งสับสนระหว่างการสืบค้น (Search) และการตรวจสอบการประดิษฐ์ (Examination) เนื่องจากทั้งสองขั้นตอนนั้นเป็นคนละส่วนกัน และมีวัตถุประสงค์คนละอย่างกัน ซึ่งแน่นอน ในการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรยุโรปนั้น จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบการประดิษฐ์หลังจากได้รับการประกาศโฆษณาแล้วด้วยเช่นกัน
  2. มีวิธีการคำนวนค่าธรรมเนียมแบบเฉพาะเจาะจงเงื่อนไข โดยราคาค่าธรรมเนียมสำหรับการยื่นขอรับสิทธิบัตรยุโรปนั้นไม่มีการระบุอัตราค่าธรรมเนียมที่ตายตัว แต่จะขึ้นอยู่กับว่าคำขอดังกล่าวเคยผ่านการสืบค้นมาหรือไม่ หรือถูกสืบค้นโดยหน่วยงานใด ซึ่งงานที่ผ่านการสืบค้นจากแต่ละหน่วยงานที่แตกต่างกันก็จะมีอัตราค่าธรรมเนียมที่ไม่เท่ากัน หากคำขอดังกล่าวถูกสืบค้นโดยหน่วยงานที่มีความร่วมมือกับสำนักงานสิทธิบัตรยุโรป เช่น ประเทศสมาชิก สหรัฐอเมริกา หรือออสเตรเลีย ก็จะมีค่าธรรมเนียมในขั้นตอนของการสืบค้นหรือตรวจสอบการประดิษฐ์ที่ต่ำกว่าเล็กน้อยหากเทียบกับคำขอที่ผ่านการสืบค้นจากหน่วยงานสืบค้นอื่น ๆ เช่น ประเทศจีน เพราะฉะนั้นแล้ว ค่าใช้จ่ายในการขอรับสิทธิบัตรยุโรปของแต่ละคำขอจึงไม่เท่ากัน ตัวแทนต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องรู้ข้อมูลของคำขอนั้น ๆ เป็นอย่างดีก่อนที่จะสามารถคำนวนค่าธรรมเนียมได้
  3. ต้องมีการแปลข้อถือสิทธิทั้งหมด 2 ภาษา โดยข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรยุโรปนั้น จะต้องเลือกทำการแปลทั้ง 2 ภาษาจากภาษาราชการ (Official Language) ของสำนักงานสิทธิบัตรยุโรปจำนวน 3 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วคำขอจากประเทศไทยจะยื่นด้วยภาษาอังกฤษอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น หลังจากได้รับจดทะเบียน จะมีค่าใช้จ่ายในการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสหรือเยอรมัน
    ที่ผู้ขอรับความคุ้มครองต้องชำระแก่สำนักงานสิทธิบัตรยุโรปอีกด้วย ทั้งนี้ ในการระบุประเทศที่ต้องการรับความคุ้มครองปลายทาง
    บางประเทศ ยังต้องแปลเป็นภาษาราชการนั้น ๆ อีกครั้งหนึ่ง ขึ้นอยู่กับระเบียบของสำนักงานสิทธิบัตรประเทศนั้น ๆ
  4. แต่ละประเทศมีความคุ้มครองที่แตกต่างกัน สำหรับข้อนี้ก็คล้ายกับกรณีการยื่น National-phase ของ PCT เลย เนื่องจากกฎระเบียบในการคุ้มครองสิทธิบัตรของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน บางประเทศในยุโรปอาจจะไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอนุสิทธิบัตร เพราะฉะนั้นผู้ยื่นคำขอต้องทำการศึกษากฎหมายของประเทศนั้น ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจยื่นคำขอเข้าไปยังประเทศนั้น ๆ รวมถึงค่าธรรมเนียมในการบังคับใช้สิทธิในประเทศปลายทางต่าง ๆ ที่อาจจะมีอัตราราคาที่ไม่เท่ากัน

บทสรุปคุ้มไหมกับการยื่นผ่านสำนักงานสิทธิบัตรยุโรป?

        ในการพิจารณาความคุ้มค่า แน่นอนว่าเราต้องอ้างอิงกับสิ่งที่เราได้รับและราคาที่เราต้องจ่ายมาเปรียบเทียบกัน ถึงแม้ว่าการยื่นสิทธิบัตรยุโรปอาจจะมีราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ แต่ในหลายกรณี มูลค่าของงานประดิษฐ์หรือนวัตกรรมของเราอาจจะมีมูลค่ามากเพียงพอที่จะลงทุนขอรับความคุ้มครองในประเทศโซนยุโรป เพื่อป้องกันปัญหาการละเมิดหรือพิพาทในอนาคต ซึ่งอาจจะมีความเสียหายที่มากกว่าค่าใช้จ่ายในการขอรับความคุ้มครองตั้งแต่ต้นก็เป็นได้

หากท่านใดสนใจต้องการรับคำปรึกษาเพิ่มเติมในด้านสิทธิบัตรทาง IDG มีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาทุกท่าน
โทร: 02-011-7161 ถึง 6 (ติดต่อ 301 – 304) ฝ่ายสิทธิบัตร
E-Mail: [email protected]
Line: @idgthailand

Share this article

Facebook
Twitter
LinkedIn

ปรึกษา IDG

ผู้เชี่ยวชาญของเราพร้อมให้คำแนะนำคุณ

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

ติดต่อทีมผู้เชี่ยวชาญ