“มาแน่ แหล่งข่าวสหรัฐฯเผย Apple หลุดสิทธิบัตรฉบับใหม่ คาดนำมาใช้ในไอโฟนรุ่นถัดไป”
“หลุดสิทธิบัตรสหรัฐ Tesla พร้อมส่งยานยนต์ไร้คนขับทำตลาดภายในฤดูใบไม้ร่วงปีหน้า”
“Google เร่งยื่นจดสิทธิบัตร AI ตัวใหม่ในสหรัฐอเมริกา คาดทันเปิดตัวภายในปีนี้”
ทุกวันนี้ หลายคนอาจจะเคยได้เห็นการรายงานข่าวในลักษณะข้างต้นได้โดยทั่วไปผ่านทางโซเชียลต่าง ๆ จนอาจเกิดความคิดว่าการยื่นจดสิทธิบัตร
ในสหรัฐอมริกานั้นเป็นเรื่องยาก ต้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่มีความสลับซับซ้อน หรือต้องเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงโลกแน่ ๆ ในบทความนี้
เราจึงจะพาทุกท่านไปเจาะลึกถึงระบบสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกากัน ว่าจะเหมือนที่ทุกท่านคิดไว้หรือไม่ เป็นประเทศตัวตึงสำหรับผู้ที่ต้องการ
ขอรับความคุ้มครองอย่างที่เค้าว่ากันจริงหรือเปล่า
ระบบสิทธิบัตรในสหรัฐอมริกา
สำหรับสหรัฐอเมริกานั้น หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องการรับจด ตรวจสอบ หรือต่ออายุสิทธิบัตรนั้น ได้แก่ United States Patent and Trademark Office (USPTO) หรือสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าแห่งสหรัฐนั่นเอง ซึ่งหน่วยงานนี้จะดูแลทั้งด้านสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าตาม
ชื่อเลย จากข้อมูลของสำนักงานฯ สิทธิบัตรฉบับแรกของสหรัฐฯ ถูกประกาศเมื่อปี 1825 หรือเกือบจะ 200 ปีที่แล้ว จนถึงปี 2021 มีสิทธิบัตรสหรัฐฯ
ที่ได้รับการประกาศมากกว่า 11 ล้านฉบับเลยทีเดียว โดยแสดงให้เห็นว่า มีนักประดิษฐ์หรือผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญในการขอรับความคุ้มครอง
งานของตนเองในประเทศอเมริกาจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ แล้วคงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศอเมริกานั้นมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ ประชากรเยอะกำลังซื้อสูง เหมาะสมที่จะทำตลาดในประเทศนี้ รวมถึงเป็นประเทศที่การสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน จึงดึงดูด
ให้ผู้ประกอบการหรือนักประดิษฐ์ต่าง ๆ เข้ามาขอรับความคุ้มครองในประเทศดังกล่าวโดยไม่ขาดสาย หลายครั้งที่เจ้าของเทคโนโลยีที่มาจดสิทธิบัตรในสหรัฐนั้นไม่ได้เข้ามาทำตลาดเอง แต่ขอสิทธิบัตรเพื่อขาย license ให้ผู้ประกอบการในอเมริกาเป็นผู้ดำเนินการจัดจำหน่ายเองก็มี
ระบบของการคุ้มครองสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกานั้น ค่อนข้างมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากประเทศส่วนใหญ่อื่น ๆ ในทวีปยุโรปและเอเชีย โดยประเภทของสิทธิบัตรในอเมริกาจะได้แก่
- Utility Patent
มีอายุความคุ้มครอง 20 ปี นับตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอ หากเทียบกับสิทธิบัตรประเทศไทยจะมีลักษณะเหมือนกับสิทธิบัตรการประดิษฐ์
(Invention Patent) โดยพิจารณาการรับจดทะเบียนจากเกณฑ์ความใหม่ ขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม ทั้งนี้ คำว่า Utility Patent นั้นจะมีความใกล้เคียงกับ Utility Model (อนุสิทธิบัตร) ที่มีการคุ้มครองในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งอันที่จริงแล้วจะเป็นคนละประเภทกัน
Utility Patent | Utility Model |
พิจารณาจากความใหม่ ขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และการประยุกต์ใช้ในอุตสหกรรม | พิจารณาจากความใหม่ และการประยุกต์ |
อายุความคุ้มครอง 20 ปี | อายุความคุ้มครอง 10 ปี (โดยส่วนใหญ่) |
มีเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น | ใช้กันแพร่หลายในทวีปยุโรป และเอเชีย |
ทั้งนี้ การยื่นขอรับความคุ้มครอง Utility Patent ในสหรัฐอเมริกามีลักษณะเฉพาะอีกหนึ่งอย่าง ได้แก่ สามารถยื่นแบบ Provision Application ได้ กล่าวคือ ผู้ขอยื่นคำขอให้แก่สำนักงานฯ ไปก่อน จากนั้นค่อยยื่นรายละเอียดการประดิษฐ์ ข้อถือสิทธิ รวมถึงเอกสารอื่น ๆ ตามไปทีหลัง ทั้งนี้ จะต้องยื่นเอกสารอื่น ๆ ตามไปภายใน 12 เดือนนับจากวันที่ยื่นคำขอ มิเช่นนั้นคำขอดังกล่าวก็จะถูกถอนสิทธิไป
- Design Patent
มีอายุความคุ้มครอง 14 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับประกาศจดทะเบียน หากเทียบกับประเทศไทยก็คือสิทธิบัตรการออกแบบอุตสาหกรรมนั่นเอง สามารถมีข้อถือสิทธิได้เพียง 1 ข้อ
- Plant Patent
มีอายุความคุ้มครอง 17 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับจดทะเบียน โดยจะคุ้มครองการพัฒนาสายพันธุ์ของพืช สำหรับประเทศไทยนั้นจะไม่มีการคุ้มครองในลักษณะดังกล่าว
ลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของระบบการขอสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ค่าธรรมเนียมที่ทางสำนักงานเรียกเก็บกับผู้ยื่นคำขอจะลดหลั่นเป็นขั้นบันไดตามรายได้ของผู้ขอรับสิทธิบัตร หากผู้ขอรับสิทธิบัตรเป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัทขนาดเล็กที่มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะได้รับการลดหย่อนค่าธรรมเนียมจากสำนักงาน เพื่อเป็นนโยบายในการการส่งเสริมการสร้างสรรค์และคุ้มครองเทคโนโลยีของผู้พัฒนารายย่อย
ยื่นขอรับสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกา ยากจริงหรือ?
ถึงแม้จะรายงานข่าวว่าเทคโนโลยีที่จดสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกานั้นมีแต่เทคโนโลยีที่ทันสมัย มีความสลับซับซ้อน หรือถูกพัฒนาโดยบริษัทชั้นนำของโลก แต่การรับจดสิทธิบัตรในประเทศอเมริกานั้นก็มีลักษณะเหมือนกับประเทศอื่น ๆ ของโลก กล่าวคือ สิ่งประดิษฐ์ใด ๆ ที่ได้รับการพิจารณาโดยผ่านเกณฑ์ความใหม่ ขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมโดยสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าแห่งสหรัฐ ต่างก็ได้รับประกาศเป็นสิทธิบัตรในประเทศอมริกาได้ปกติ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีความหวือหวาอย่างที่เป็นข่าว
ข้อสังเกตสำคัญในการขอรับความคุ้มครองในสหรัฐอเมริกามีอยู่หลัก ๆ 2 ประการ ได้แก่
1) การที่สหรัฐฯ นั้นไม่มีการคุ้มครองประเภทอนุสิทธิบัตรเหมือนหลาย ๆ ประเทศ สิ่งประดิษฐ์ที่ยื่นขอความรับรองในอเมริกาจึงมีความจำเป็นที่ต้องถูกพัฒนาให้มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นด้วย จึงจะได้รับจดเป็น Utility Patent
2) เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีจำนวนการรับจดสิทธิบัตรที่ค่อนข้างมาก ฐานข้อมูลด้านสิทธิบัตรของสำนักงานจึงมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย
ในหลาย ๆ ครั้ง เมื่อผ่านการประเมินด้านความใหม่ในประเทศหนึ่งแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่จะไม่ผ่านการประเมินด้านความใหม่ในสหรัฐฯ เพราะฉะนั้นแล้ว
หากต้องการยื่นขอความรับรองในสหรัฐอเมริกาแล้ว ยื่นผ่านระบบ PCT โดยให้สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าสหรัฐเป็นผู้ตรวจสอบ
จะสามารถช่วยในการตัดสินไปต่อในสหรัฐอเมริกาได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว
ยื่นขอรับสิทธิบัตรในสหรัฐต้องทำอย่างไร?
เนื่องจากสหรัฐอเมริกานั้นเป็นหัวหอกที่สำคัญในการก่อตั้งสนธิสัญญาด้านความร่วมมือด้านสิทธิบัตรระหว่างประเทศ (PCT) ดังนั้นจึงเป็นสมาชิกในสนธิสัญญาดังกล่าวด้วยโดไม่ต้องสงสัย การยื่นขอรับความคุมครองด้านสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกาจึงสามารถทำได้ทั้งผ่านระบบการยื่นตรง (Direct Route System) และระบบ PCT (PCT National Phase Entry route)
ทั้งนี้ ในการยื่นสิทธิบัตรเข้าต่างประเทศแต่ละประเทศนั้น จะมีระเบียบต่าง ๆ ที่ค่อนข้างเฉพาะ การยื่นผ่านตัวแทนสิทธิบัตรนั้นจึงเป็นที่นิยมสำหรับบริษัท ผู้ประกอบการ รวมถึงนักประดิษฐ์ ที่ต้องการขอความรับรองด้านสิทธิบัตรเพื่อลดโอกาสที่จะได้รับคำสั่งให้แก้ไข ซึ่งเป็นการเสียเวลาและนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยตัวแทนจะเป็นผู้ช่วยดำเนินการจัดเตรียมเอกสารให้สอดคล้องกับข้อกำหนด ประสานงานด้านการแปลภาษาให้เป็นไปตามฟอร์มของสิทธิบัตร ติดตามคำขอ รวมถึงให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวกทั้งในขั้นตอนระหว่างประเทศ และขั้นตอนในประเทศอีกด้วย