การสืบค้นสิทธิบัตร
การสืบค้นสิทธิบัตรและประเมินความเป็นไปได้ในการจดสิทธิบัตร (Patentability Search) มักจะเป็นขั้นตอนแรกที่ทีมงานของเราแนะนำให้ผู้ประกอบการ นักวิจัย หรือเจ้าของนวัตกรรมต่าง ๆ ที่มีความสนใจในการผลักดันผลงานของตนเองเป็นสิทธิบัตรเริ่มต้นดำเนินการเป็นขั้นตอนแรกเสมอ เนื่องจากการสืบค้นสิทธิบัตรนั้น เปรียบเสมือนการวางแผนและประเมินเบื้องต้นว่า งานของเราจะมีโอกาสที่จะได้รับจดทะเบียนมากน้อยขนาดไหน รวมถึงเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลว่าในตลาดกำลังมีผู้เล่นเจ้าไหนที่กำลังผลักดันงานประเภทเดียวกับเรา เพื่อที่เราจะสามารถวางแผนรับมือได้ล่วงหน้าในการหลีกเลี่ยงข้อพิพาททางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับสาระสำคัญของการประดิษฐ์ไม่ให้ไปคล้ายกับผู้เล่นอื่น หรือเดินหน้าผลักดันการประดิษฐ์ประเภทอื่น ๆ ไปเลย
หากจะให้อธิบายถึงการสืบค้นสิทธิบัตรอย่างคร่าว ๆ หลักการสำคัญของการสืบค้นสิทธิบัตรก็คือการนำ “คำสำคัญ” หรือว่า “Keyword” ที่เกี่ยวข้องกับงานของเรา เช่น ท่อทำความเย็น, เครื่องกำเนิดพลังงาน, ระบบส่งกำลัง หรือแบตเตอรี่ ไปใส่ในฐานข้อมูลสิทธิบัตร ซึ่งเป็นระบบที่รวมรวมสิทธิบัตรที่เคยมีการประกาศโฆษณา ไว้ จากนั้นทำการวิเคราะห์และเทียบเคียงความเหมือนคล้ายของการประดิษฐ์ระหว่างงานของเรา และงานที่เคยมีการประกาศโฆษณาไว้ ว่ามีความแตกต่างเพียงพอที่จะขอรับสิทธิบัตรได้หรือไม่
ถึงแม้ว่าวิธีการสืบค้นสิทธิบัตรดังที่กล่าวไปข้างต้น อาจฟังดูเหมือนเป็นวิธีที่ไม่ได้ดูเหมือนมีความสลับซับซ้อนซักเท่าไหร่ ซึ่งทุกคนสามารถทำได้โดยทั่วไป แต่ว่าในความเป็นจริง การสืบค้นสิทธิบัตรที่ดีนั้นควรที่จะถูกทำโดยผู้ที่มีประสบการณ์ เนื่องจากงานที่เคยมีการประกาศโฆษณาในฐานข้อมูลต่าง ๆ นั้น มีมากมายหลายล้านฉบับ จึงค่อนข้างเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการเสาะหางานที่มีลักษณะใกล้เคียงกันให้ได้มากที่สุด ด้วยการใส่ Keyword ให้มีความครอบคลุม รวมถึงเทคนิคอื่น ๆ ที่จะทำให้สิทธิบัตรที่ถูกแสดงผลผ่านระบบขึ้นมานั้นสอดคล้องกับสิ่งที่เราต้องการค้นหามากที่สุด ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในการประดิษฐ์นั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ อีกขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือในส่วนของ “การวิเคราะห์และประเมินสิทธิบัตร”
โดยถึงแม้ว่าเราจะสามารถหาสิทธิบัตรที่ต้องการใช้ในการเทียบเคียงกับการประดิษฐ์เราจนเจอแล้วนั้น ผู้สืบค้นก็จะต้องมาเปรียบเทียบสิทธิบัตรทั้งหมดและวิเคราะห์ว่างานของเรา มีความใหม่ที่แตกต่างอย่างเป็นนัยยะสำคัญกับงานที่เคยมีการประกาศโฆษณาไว้ก่อนหน้าหรือไม่ รวมถึงต้องพิจารณาด้วยว่าเมื่อเปรียบเทียบกับงานอื่น ๆ งานของเราถือว่ามีขั้นการประดิษฐ์แล้วหรือไม่ ดังนั้น นอกเหนือจากความเข้าใจในสาระสำคัญของการประดิษฐ์เป็นอย่างดีแล้ว ผู้สืบค้นที่จะสามารถทำการสืบค้นได้อย่างมีคุณภาพจึงควรศึกษาผลการตรวจค้นของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาประเทศต่าง ๆ รวมถึงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ เพื่อที่จะได้รู้ว่าประเทศต่าง ๆ มีแนวทางในการตรวจค้นอย่างไร
ฐานข้อมูลสิทธิบัตร (Patent Database)
หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการสืบค้นสิทธิบัตร คือ การเลือกใช้ฐานข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ และถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของการสืบค้น ซึ่งหากเราต้องการที่จะสืบค้นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตร ก็ควรที่จะใช้ฐานข้อมูลของสิทธิบัตรโดยตรง เนื่องจากหากใช้ Search Engine ปกติในการค้นหา ก็จะไม่สามารถหาสิทธิบัตรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ ในหลายกรณี ผู้ประดิษฐ์ได้ทำการสืบค้นงานที่เหมือนคล้ายกับตนเองใน Search Engine ทั่วไปแล้วไม่พบการประดิษฐ์อื่น ๆ ที่คล้ายกัน จึงคิดว่าการประดิษฐ์ของตนเองมีความใหม่เพียงพอ และยังไม่มีผู้เล่นอื่น ๆ ขอรับความคุ้มครองในงานประเภทนี้ แต่สุดท้ายไม่ได้รับจดทะเบียน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ไปค้นเจองานในลักษณะคล้ายกันที่ถูกประกาศโฆษณาในฐานข้อมูลสิทธิบัตรนั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้น ในการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ในขั้นตอนการรับจดทะเบียนในเกือบทุกประเทศ จะพิจารณาด้วยการตรวจสอบจากฐานข้อมูลสิทธิบัตรที่น่าเชื่อถือ ดังนั้น ในขั้นตอนการสืบค้นสิทธิบัตร เราจึงควรดำเนินการด้วยฐานข้อมูลสิทธิบัตรตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้ผลการสืบค้นมีความน่าเชื่อถือ และสามารถใช้ในการอ้างอิงได้นั่นเอง
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ ผลิตภัณฑ์ ระบบ หรือกรรมวิธีต่าง ๆ ที่เราไม่เคยเห็นผู้ใดจำหน่าย หรือทำการตลาดมาก่อน รวมถึงไม่เคยเห็นออกข่าว หรือว่าทำการโฆษณาผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ได้แปลว่าสิ่งนั้นไม่เคยมีการจดสิทธิบัตรมาก่อน ในบางครั้ง อาจมีสิทธิบัตรที่ครอบคลุมงานประเภทที่เราคาดไม่ถึงอยู่ก็ได้ เพียงแต่เราอาจจะยังไม่เคยเห็น เพราะฉะนั้น การสืบค้นด้วยฐานข้อมูลสิทธิบัตรจึงถือว่าชัวร์มากที่สุด
คำถามที่พบบ่อย: ว่าด้วย การโฆษณา (Advertisement) และการประกาศโฆษณา (Publication) | |
การโฆษณา (Advertisement) | เป็นการสื่อสารให้มวลชน หรือคนส่วนใหญ่มีความรับรู้ คุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ บริการ กิจกรรม หรือองค์กรต่าง ๆ โดยมักมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มยอดขาย สร้างความมีส่วนร่วม หรือดึงดูดให้สิ่งนั้นเป็นที่สนใจ ซึ่งมักใช้กันอย่างแพร่หลายในด้านการตลาด (Marketing) |
การประกาศโฆษณา (Publication) | ในการประกาศโฆษณาในเชิงทรัพย์สินทางปัญญา หมายความว่าต้องมีการยื่นคำขอไปแก่เจ้าหน้าที่ และได้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว ว่าเป็นการประดิษฐ์ที่ไม่ขัดต่อข้อบังคับของประเทศนั้น ๆ จึงมีคำสั่งให้ทำการประกาศโฆษณาในฐานข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศนั้น ๆ เพราะฉะนั้น สิทธิบัตรที่ได้รับการประกาศโฆษณาในลักษณะนี้ จะต้องเป็นสิทธิบัตรที่มีการยื่นขอรับความคุ้มครองแล้วเท่านั้น |
โดยสรุปแล้ว ทั้งคำว่า การโฆษณา และการประกาศโฆษณา ในบริบทการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญานั้นมีความแตกต่างกัน ดังนั้นแล้ว จึงควรทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างทั้งสองคำให้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการสื่อสารกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และป้องกันไม่ให้สับสนในการทำการสืบค้น หรือวิเคราะห์ทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่าง ๆ |
การเลือกใช้ฐานข้อมูลสิทธิบัตร
เนื่องจากการประกาศโฆษณาสิทธิบัตรนั้น เป็นหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศนั้น ๆ อยู่แล้ว ซึ่งต้องทำการประกาศโฆษณาสิทธิบัตรที่ผ่านการตรวจสอบเบื้องต้น ลงไปในฐานข้อมูลสิทธิบัตรของตนเอง ผู้สืบค้นสิทธิบัตร หรือผู้ที่มีความสนใจอื่น ๆ จึงสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลเหล่านี้ได้โดยที่ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่อาจมีข้อจำกัดด้านจำนวนคำขอ เนื่องจากโดยส่วนมากแล้ว ฐานข้อมูลของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแต่ละประเทศ จะมีข้อมูลเฉพาะคำขอที่ถูกยื่นในประเทศนั้น ๆ หากต้องการเข้าถึงสิทธิบัตรจากทั่วโลก จึงอาจจะต้องใช้ฐานข้อมูลของแต่ละประเทศประกอบรวมกัน รวมถึงข้อจำกัดด้านภาษา เนื่องจากบางประเทศ อาจไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการประกาศโฆษณา เมื่อนำมาแปลด้วยซอฟต์แวร์ หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) จึงอาจจะยังคลาดเคลื่อนไปบ้าง นอกจากนี้ ในบางประเทศ เช่น ประเทศจีน ยังจำกัดการเข้าถึงฐานข้อมูลไว้เฉพาะผู้ใช้งานที่มีสมัครบัญชีผู้ใช้ที่ต้องยืนยันตัวตนกับระบบรัฐเท่านั้น จึงอาจไม่สะดวกสำหรับผู้ใช้งานจากต่างประเทศ แต่โดยรวมแล้ว ฐานข้อมูลสิทธิบัตรของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแต่ละประเทศนั้น ก็ยังมีความน่าเชื่อถือสูงเพียงพอที่จะนำมาใช้ในการสืบค้นสิทธิบัตรได้อยู่ ถึงแม้ว่าอาจจะมีบางประการที่อาจทำให้ผู้ใช้งานอาจไม่ได้ใช้งานได้อย่างสะดวกมาก อย่างที่กล่าวไปข้างต้น
ตัวอย่างฐานข้อมูลสิทธิบัตรของแต่ละประเทศ
- ฐานข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญา กรมทรัพย์สินทางปัญญา (DIP IP Database)
- ฐานข้อมูลสิทธิบัตร สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (USPTO Patent Database)
- ฐานข้อมูลสิทธิบัตร สำนักงานสิทธิบัตรยุโรป (EPO Espacenet Database)
- ฐานข้อมูลสิทธิบัตร องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Patentscope)
นอกเหนือไปจากฐานข้อมูลของหน่วยงานราชการที่สามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแล้ว ยังมีผู้ให้บริการฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถืออยู่บางเจ้า ที่สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลได้อย่างสะดวก และไม่มีค่าใช้จ่าย เช่น Google Patent และ LENS เป็นต้น ซึ่งทั้งสองผู้ให้บริการ ต่างรวบรวมฐานข้อมูลสิทธิบัตรของแต่ละประเภทให้อยู่ภายใต้แพลตฟอร์มเดียวกัน ทำให้ผู้สืบค้นสามารถเรียกดูข้อมูลสิทธิบัตรของทั่วโลกได้ง่ายดายมากขึ้น โดยไม่ต้องไปเรียกดูแต่ผ่านฐานข้อมูลในแต่ละประเทศ
สำหรับใครหลายคนที่เคยผ่านการใช้ฐานข้อมูล Google Scholars ในช่วงระหว่างการเรียนมหาวิทยาลัย อาจเคยเคยฐานข้อมูล Google Patent อยู่ผ่าน ๆ ตาอยู่บ้าง ซึ่งฐานข้อมูลดังกล่าวเป็นฐานข้อมูลสิทธิบัตรของ Google ที่เราคุ้นเคยกันดีนั่นเอง และแน่นอนว่าสามารถเข้าถึงได้โดยที่ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยฐานข้อมูลนี้มีข้อดีคือ การออกแบบ Interface ให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้งานตามแนวทางของ Google แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการสืบค้นขั้นสูงโดยการเรียกดูข้อมูลผ่านการกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร
อีกฐานข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายยอดฮิต ได้แก่ LENS ซึ่งก็มีหน้าตา Interface ที่สามารถใช้งานได้โดยง่ายไม่แพ้กัน แต่ที่เหนือกว่าคือสามารถค้นหาโดยการกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น จึงเหมาะกับการสืบค้นสิทธิบัตรขั้นสูงมากกว่า นอกจากนี้ ฐานข้อมูลดังกล่าวยังมีฟังก์ชั่นที่สามารถสั่งให้ระบบแสดงผลผลการสืบค้นสิทธิบัตรให้ออกมาในลักษณะแผนภูมิต่าง ๆ ตามที่เรากำหนดเงื่อนไขได้เลย
รูปที่ 1 : แสดงให้เห็นจำนวนคำขอรับสิทธิบัตรของบริษัท L’Oreal ทั้งหมดในแต่ละปี
โดยเป็นการแสดงข้อมูลผ่านการกำหนดเงื่อนไขในฐานข้อมูลสิทธิบัตร LENS
ทั้งนี้ ฐานข้อมูลฟรีทั้งสองยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น ความถี่ในการอัพเดทฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบันยังไม่ค่อยถี่นัก รวมถึงฟังก์ชั่นช่วยเหลือผู้ใช้งานต่าง ๆ ก็ยังไม่สมบูรณ์นัก เช่น ความสามารถในการวิเคราะห์สิทธิบัตรขั้นสูง ซอฟต์แวร์แปลภาษา และปัญญาประดิษฐ์ที่จะช่วยให้ผู้สืบค้นสามารถทำการวิเคราะห์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งหากต้องการใช้งานฟังก์ชันเหล่านี้ ก็จำเป็นที่จะต้องไปใช้บริการแบบมีค่าใช้จ่ายกับผู้ให้บริการฐานข้อมูลอื่น ๆ ซึ่งก็มีอยู่จำนวนมากในตลาด
โดยสรุปแล้ว การสืบค้นสิทธิบัตรสามารถทำได้ด้วยตนเอง เพียงแต่อาจจะต้องใช้เวลาศึกษาให้เกิดความเชี่ยวชาญซักระยะ ทั้งในเรื่องความเข้าใจในสาระสำคัญของการประดิษฐ์ และความถนัดในการใช้งานฐานข้อมูล ด้วยเหตุนี้ บริษัท ผู้ประกอบการ หรือมหาวิทยาลัยจำนวนมากจึงเลือกที่จะจ้างผู้เชี่ยวชาญถือที่มีความน่าเชื่อถือให้เป็นผู้ดำเนินการแทน เพื่อที่จะนำทรัพยากรบุคคลและเวลา ไปใช้ในการพัฒนาการประดิษฐ์ได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้าหากผู้ประกอบการ หรือนักวิจัยท่านใด มีความสนใจที่จะศึกษารายละเอียดเรื่องการสืบค้นสิทธิบัตรอย่างมืออาชีพจริง ๆ ก็สามารถติดตาม IDG ของเราเพื่อเข้าร่วมการสัมนา หรือการบรรยายต่าง ๆ ที่จัดขึ้นได้
ติดต่อทีม
สิทธิบัตร IDG :
โทร : 02-011-7161 ติดต่อ 301
E-mail : [email protected]
เปิดทำการวันจันทร์ – วันเสาร์ เวลา 09:00 – 18:00 น