จากความเดิมในตอนที่แล้ว เราได้ทำการพูดถึงการขอเร่งรัดการตรวจสอบการประดิษฐ์ผ่านระบบ DIP-JPO PATENT PRPSECUTION HIGHWAY
(DIP-JPO PPH) ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทุกท่านรู้หรือไม่ว่า นอกจากการใช้ผลการตรวจสอบการประดิษฐ์จากประเทศญี่ปุ่นแล้ว ผลการตรวจสอบการประดิษฐ์จากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศในอาเซียน ก็สามารถใช้ในการขอเร่งรัดการตรวจสอบการประดิษฐ์ในประเทศไทยเช่นกัน ผ่านทางโครงการ ASEAN Patent Examination Cooperation หรือ ASPEC นั่นเอง ซึ่งประชาคมอาเซียน (ASEAN) นั้นให้ความสำคัญในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเป็นระยะเวลานานแล้ว โดยได้ทำการลงนามในข้อตกลงร่วมกันด้านความร่วมมือเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญามา
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 และได้คณะทำงานขึ้นมาในอีกหนึ่งปีหลังจากนั้น อันมีผู้แทนจากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแต่ละประเทศเป็นสมาชิก คณะทำงานดังกล่าวมีเป้าหมายร่วมกันในการเปลี่ยนแปลงภูมิภาคอาเซียนให้เป็นภูมิภาคที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมและพร้อมสำหรับการแข่งขัน ผ่านการใช้ประโยชน์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาในแต่ละประเทศ และส่งเสริมให้ภูมิภาคมีขีดจำกัดที่สูงขึ้นในการแข่งขันด้านทรัพย์สินทางปัญญาใน
ระดับโลก
ในการขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น ประเทศอาเซียนได้เริ่มต้นโครงการ ASEAN Patent Examination Cooperation หรือ ASPEC ขั้นในปี พ.ศ. 2552 มีขอบเขตที่เกี่ยวกับสิทธิบัตรการประดิษฐ์โดยตรง ซึ่งในช่วงแรกนั้น เป็นเพียงความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพียงเท่านั้น แต่ปัจจุบันได้มีการขยายความร่วมมือเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอรับความคุ้มครองด้านสิทธิบัตรที่เป็นพลเมืองอาเซียน ในการขอรับสิทธิบัตรในหลาย ๆ ประเทศสมาชิก
ข้อดีของโครงการ ASPEC
สำหรับโครงการ ASEPC นั้นมีข้อดีที่น่าสนใจ คือ กรณีที่เป็นคำขอเดียวกันที่ยื่นในสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียนหลายประเทศ เมื่อคำขอรับสิทธิบัตรดังกล่าวได้รับการจดทะเบียนในประเทศใดประเทศหนึ่งแล้ว สามารถนำผลการตรวจสอบการประดิษฐ์ในประเทศที่ได้รับจดทะเบียนมา
ยื่นขอเร่งรัดการตรวจสอบการประดิษฐ์ในประเทศสมาชิกอื่น ๆ ที่ยื่นคำขอไว้ได้ ซึ่งโดยรวม ๆ จะคล้ายกับการขอเร่งรัดผ่านโครงการ DIP-JPO PPH
ที่ได้อธิบายไว้ในตอนที่แล้ว
ยกตัวอย่างเช่น นายสมชาย ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทย และได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์เดียวกันในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม หากคำขอรับสิทธิบัตรดังกล่าวได้รับการจดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์แล้ว นายสมชายสามารถนำผลการตรวจสอบการประดิษฐ์จากประเทศสิงคโปร์ยื่นแก่สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาประเทศอื่น ๆ ที่ยื่นไว้ เพื่อเร่งรัดการตรวจสอบการประดิษฐ์ในประเทศที่เหลือได้ ส่งผลให้การพิจารณาในการรับจดทะเบียนในประเทศที่เหลือมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาน้อยลง
การดำเนินการผ่านโครงการดังกล่าว เป็นการลดความซับซ้อนในการปฏิบัติงาน ประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพในการหาข้อมูลและตรวจสอบสิทธิบัตร การอ้างอิงผลการตรวจสอบนั้น จะช่วยลดภาระและระยะเวลาของผู้ตรวจสอบในการตรวจค้นสิทธิบัตร ส่งผลให้ใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบที่น้อยลง โดยสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย หรือสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศกลุ่มอาเซียนทั้งหมด ยกเว้นติมอร์ตะวันออกซึ่งยังไม่ได้เป็นสมาชิกของอาเซียนอย่างเป็นทางการนั่นเอง
- คำขอที่ยื่นในแต่ละประเทศสมาชิก ต้องเป็นคำขอรับสิทธิภายในการประดิษฐ์เดียวกัน
- ต้องมีคำขอรับสิทธิบัตรที่มีข้อถือสิทธิอย่างน้อยหนี่งข้อที่ผ่านการตรวจสอบและได้รับการจดทะเบียนโดยสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศสมาชิกแล้ว
- การยื่นเอกสารผ่านโครงการ ASPEC จะต้องใช้ภาษาอังกฤษเท่านั้น (มีโอกาสที่จะได้รับคำสั่งให้แปลเป็นภาษาราชการของประเทศนั้น ๆ ขึ้นอยู่กับนโยบายของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศดังกล่าว)
ขั้นตอนการยื่นขอเข้าโครงการ ASPEC
ในการนำผลการตรวจค้นจากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาจากประเทศสมาชิก มายื่นขอเร่งรัดการตรวจสอบการประดิษฐ์ในประเทศไทยผ่าน
กรมทรัพย์สินทางปัญญานั้นจะไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม ผู้ยื่นคำขอสามารถนำเอกสารประกอบพร้อมด้วยแบบฟอร์มขอรับการใช้บริการ
ยื่นด้วยตนเองหรือผ่านตัวแทนได้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยจะต้องยื่นหลังจากคำขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทยได้รับการประกาศโฆษณา แต่ต้องยื่นก่อนที่จะมีการเริ่มขั้นตอนตรวจสอบการประดิษฐ์ในประเทศไทย ดังนั้น หากสามารถยื่นพร้อมกับคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์จึงจะเหมาะสมที่สุด
เช่นเดียวกับการยื่นขอเร่งรัดการประดิษฐ์ผ่านโครงการ DIP-JPO PPH ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่มีจำนวนโควต้าต่อเดือนในการรับคำขอ
ผ่านโครงการดังกล่าว หากคำขอรับสิทธิบัตรนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขและมีเอกสารครบตามที่กำหนด ก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้
เอกสารประกอบการยื่นเข้าโครงการ ASPEC
- แบบฟอร์มขอรับการใช้บริการ (สามารถขอรับแบบฟอร์มได้ที่สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศสมาชิก)
- สำเนารายงานผลการตรวจค้น
- สำเนารายงานผลการตรวจสอบสิทธิบัตร
- หลักฐานแสดงการได้รับจดทะเบียน
- สำเนาข้อถือสิทธิตามรายงานผลการตรวจสอบ
บทสรุป
หากเป็นผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรที่มีเป้าหมายหลักในการขอรับสิทธิบัตรในประเทศอาเซียนหลาย ๆ ประเทศนั้น การเข้าร่วมโครงการเร่งรัดการตรวจสอบการประดิษฐ์ผ่านระบบ ASPEC นั้นก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากโดยส่วนมากแล้ว สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศสมาชิกมีแนวโน้มที่จะใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบสิทธิบัตรที่นานกว่าประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ หากมีสิทธิบัตรที่ได้รับจดทะเบียนในประเทศอาเซียน การนำสิทธิบัตรดังกล่าวไปเร่งรัดการตรวจสอบในอีกประเทศนึงจึงช่วยร่นระยะเวลาในการขอรับสิทธิบัตรได้มาก ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าผลการตรวจสอบจะใช้ในการเร่งรัดการตรวจสอบการประดิษฐ์ในประเทศสมาชิกอีกประเทศนึงได้ แต่ก็มีข้อควรระวังเช่นเดียวกับการยื่นสิทธิบัตรระหว่างประเทศอื่น ๆ นั่นก็คือ แต่ละประเทศนั้นจะมีระเบียบและขั้นตอนในการรับจดสิทธิบัตรต่างกัน เช่น การประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคไม่สามารถขอรับความคุ้มครองในไทยได้ อนุสิทธิบัตรของประเทศมาเลเซียสามารถมีข้อถือสิทธิได้เพียงข้อเดียว และประเทศสิงคโปร์ไม่มีกฎหมายรับรองการคุ้มครองการประดิษฐ์ประเภทอนุสิทธิบัตร รวมถึงข้อบังคับอื่น ๆ ที่แต่ละประเทศนั้นมีแตกต่างกัน จึงควรศึกษาข้อมูล หรือปรึกษาตัวแทนสิทธิบัตรที่มีความเชี่ยวชาญก่อนที่จะดำเนินการในส่วนดังกล่าว นอกจากนี้ นอกเหนือจากสิทธิบัตรแล้ว ประชาคมอาเซียนยังมีความร่วมมือในการส่งเสริมความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขอสิทธิบัตรการออกแบบ หรือเครื่องหมายการค้า แต่ในบทความดังกล่าว เราได้เน้นเฉพาะเจาะจงไปยังส่วนที่เป็นการประดิษฐ์เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ความร่วมมือของอาเซียนในด้านการส่งเสริมความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาก็มีแนวโน้นที่จะเพิ่มขึ้น ในอนาคต เราอาจจะมีโอกาสได้เห็นประชาคมอาเซียนร่วมกันจัดตั้งสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญากลางเพื่อขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว เช่นเดียวกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งยุโรป หรือสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งยูเรเซียก็เป็นได้