เมื่อ Donald Trump ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดและกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2025 ส่งผลให้ทั้งสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกเผชิญกับทิศทางใหม่ โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายของสหรัฐฯ ครั้งนี้ ทางฝ่ายพัฒนาธุรกิจของ IDG ได้วิเคราะห์และสรุป 3 ประเด็นหลักที่ผู้ประกอบการไทยควรคำนึงถึงเพื่อการปรับตัวในปี 2025
1. ผลกระทบทางเศรษฐกิจ: นโยบายลดภาษีและการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน
ชัยชนะของทรัมป์ในครั้งนี้ มาพร้อมกับการผลักดันนโยบายใหม่ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลในสหรัฐฯ ซึ่งมีผลบวกต่อตลาดหุ้นอเมริกาและเพิ่มกำไรของบริษัทใน S&P 500 อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยังมีแผนเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนและประเทศอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการค้าสูงขึ้น สหรัฐฯ ตั้งเป้าที่จะลดการขาดดุลการค้าและเพิ่มการจ้างงานภายในประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยอาจต้องพิจารณาการปรับตัว เนื่องจากเราได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ ประเทศไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกในภาคการผลิตอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงค่าเงิน โดยคาดว่าเงินบาทอาจอ่อนค่าลงถึง 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปี 2025 การที่เงินบาทอ่อนค่าอาจช่วยกระตุ้นการส่งออกได้บ้าง แต่อาจกดดันด้านเงินเฟ้อจากการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบที่มีราคาสูงขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรวางแผนด้านการเงินเพื่อรองรับความเสี่ยงจากการผันผวนของค่าเงินและอัตราดอกเบี้ยที่อาจลดลงถึง 100 จุดในปีหน้าของ FED
2. ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์: ทรัพย์สินทางปัญญากับสถานการณ์การเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ทรัมป์ประกาศไว้ว่าเขาจะพยายามเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามในยูเครน แต่ยังคงสนับสนุนการขยายอิทธิพลของอิสราเอลในตะวันออกกลาง รวมถึงลดการสนับสนุนไต้หวัน ซึ่งการลดการสนับสนุนไต้หวันนี้จะบีบให้ไต้หวันต้องเพิ่มงบประมาณการทหารขึ้น และอาจทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผชิญกับความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้นประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวถึงประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property – IP) หลายครั้งในช่วงดำรงตำแหน่ง โดยเฉพาะในบริบทของความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทรัมป์ได้เน้นย้ำถึงความกังวลเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อพิพาททางการค้าระหว่างสองประเทศ ส่วนในมุมมองของประเทศไทย สถานการณ์นี้อาจเปิดโอกาสให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ หรือ จุดที่เหมาะสมในการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Tech-Transfer) สำหรับอุตสาหกรรมจีนที่ต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากข้อพิพาทการค้ากับสหรัฐฯ การเป็นจุดศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์และการมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการลงทุนจะทำให้ไทยสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากจีนได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไทยก็ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการพึ่งพิงจีนมากเกินไป เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสหรัฐฯ และจีนอย่างสมดุล
3. ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม: การเปลี่ยนแปลงของสหรัฐฯ ต่อข้อตกลงปารีส
ทรัมป์เคยแสดงท่าทีว่าการเข้าร่วมใน “ข้อตกลงปารีส” ทำลายเศรษฐกิจและการจ้างงานของสหรัฐฯ และเขาอาจจะถอนตัวออกจากข้อตกลงดังกล่าวอีกครั้งหากเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ นโยบายนี้อาจส่งผลทางอ้อมต่อการผลักดันเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของไทย การที่สหรัฐฯ ชะลอการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น Clean Competition Act จะลดแรงกดดันต่อผู้ส่งออกไทยในการปรับตัวเพื่อลดคาร์บอนในระยะสั้น แต่ในระยะยาว ไทยยังคงต้องเตรียมความพร้อมในด้านนี้ เพราะแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกยังคงให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและการลดการปล่อยคาร์บอน การที่ทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งในปี 2025 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับทิศทางเศรษฐกิจและการเมืองโลก ในระหว่างนี้ ผู้ประกอบการไทยควรติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของนโยบายสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประเด็นที่มีผลกระทบต่อการค้า การลงทุน และการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์
ท้ายที่สุด การเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายจากสหรัฐฯ เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการด้านการเงิน การหาช่องทางการค้าระหว่างประเทศ หรือการรักษาความสมดุลในด้านการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อให้ธุรกิจสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพในยุคที่ความไม่แน่นอนกลายเป็นเรื่องปกติ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :