OUR BLOG

จดสิทธิบัตรเกาหลีใต้ ดาวรุ่งน่าจับตามองแห่งเอเชีย

idg cover content 10

   นอกเหนือจากอุตสาหกรรมด้านความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นซีรี่ย์ ภาพยนต์ หรือดนตรี ที่ก่อให้เกิดมูลค่ามหาศาลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้แล้ว อุตสาหกรรมในภาคการผลิต นวัตกรรม และเทคโนโลยีของประเทศเกาหลีใต้นั้นถือว่าน่าเป็นที่น่าจับตามองเช่นกัน เห็นได้จากการที่บริษัทชั้นนำของเกาหลีหลาย ๆ บริษัท เช่น ซัมซุง (SAMSUNG) และ แอลจี (LG) ในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์ หรือไม่ว่าจะเป็นฮุนได (HYUNDAI) หรือ เกีย (KIA) ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ต่างก็เป็นผู้เล่นสำคัญที่ต่อสู้เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดกับบริษัทจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงบริษัทจากฝั่งตะวันตกได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากบริษัทเหล่านี้ไม่ได้ทำการผลักดันผลงานหรือนวัตกรรมของตนเองให้เข้าสู่การคุ้มครองภายใต้ระบบสิทธิบัตร

   อ้างอิงจากข้อมูลขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ประเทศเกาหลีใต้นั้นมีจำนวนคำขอที่ขอยื่นสิทธิบัตรระหว่างประเทศ (PCT) เป็นอันดับ
ที่ 4 ของโลก เป็นรองเพียงประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นเท่านั้น โดยมีจำนวนคำขอถึง 20,678 คำขอในปี 2021 คิดเป็น 7.5% ของจำนวนคำขอทั้งหมดของทั้งปี ซึ่งประเภทงานส่วนใหญ่ที่มีการยื่น ได้แก่ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ การสื่อสารในระบบดิจิทัล และระบบการแสดงผลภาพและเสียง สำหรับการยื่นจดสิทธิบัตรจากประเทศเข้าสู่ประเทศเกาหลีใต้ก็ถือว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน โดยมีการยื่น PCT ขั้นตอนขาเข้าประเทศเกาหลีใต้ถึง 60,041
คำขอในปีดังกล่าว

   สำหรับหน่วยงานที่มีหน้าที่พิจารณา ตรวจสอบ และรับจดทะเบียนสิทธิบัตรในประเทศเกาหลีใต้ ได้แก่ สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งเกาหลี หรือ Korean Intellectual Property Office (KIPO) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาค่อนข้างทำงานรวดเร็ว รวมถึงเป็นอีกสำนักงานที่ได้รับการรับรองจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ในการส่งคำขอ PCT จากประเทศไทยให้ไปทำการตรวจค้นระหว่างประเทศที่ประเทศเกาหลีใต้ได้
อีกด้วย ในกรณีที่ยื่นคำขอ PCT ผ่านกรมทรัพย์สินทางปัญญาไทย

ประเภทของการคุ้มครอง

ในประเทศเกาหลีใต้ จะมีการคุ้มครองสิทธิบัตรทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่ สิทธิบัตรการประดิษฐ์ (Patent) อนุสิทธิบัตร (Utility Model) และสิทธิบัตรการออกแบบอุตสาหกรรม (Industrial Design) หากมองเผิน ๆ ตามการแบ่งประเภทแล้วอาจจะมีความคล้ายคลึงกับของประเทศไทย แต่ในส่วนของรายละเอียดและนิยามนั้น ถือว่ามีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร

  1. สิทธิบัตรการประดิษฐ์ (Patent) จะมีอายุความคุ้มครองอยู่ที่ 20 ปี ในการพิจารณารับจดสิทธิบัตรในประเทศเกาหลีใต้นั้น สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวจะต้องได้รับการตรวจสอบการประดิษฐ์ โดยจะต้องผ่านทั้งเกณฑ์ความใหม่ ขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม หากมองโดยรวม ๆ แล้ว เงื่อนไขการรับจดทะเบียนและระยะเวลาในการคุ้มครองของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในเกาหลีใต้นั้นแทบจะเหมือนกับประเทศอื่น ๆ เลย
  2. อนุสิทธิบัตร (Utility Model) จะมีอายุความคุ้มครองอยู่ที่ 10 ปี ซึ่งเงื่อนไขในการยื่นจดอนุสิทธิบัตรในเกาหลีใต้นั้น จะสามารถยื่นได้เฉพาะการประดิษฐ์ที่เกี่ยวกับรูปทรง โครงสร้าง และการรวมกันของวัตถุ (Combination of Subject) เท่านั้น เพราะฉะนั้นแล้ว การประดิษฐ์ที่เป็นสูตร กรรมวิธี วิธีการ หรือกระบวนการต่าง ๆ จึงไม่สามารถขอจดทะเบียนเป็นอนุสิทธิบัตรในเกาหลีใต้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ในการพิจารณาการรับจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร จะต้องยื่นขอตรวจสอบการประดิษฐ์เช่นกัน แต่การตรวจสอบสำหรับอนุสิทธิบัตรเกาหลีนั้นจะมีความละเอียดและใช้ระยะเวลาในการพิจารณาการรับจดทะเบียนที่น้อยกว่า
  3. สิทธิบัตรการออกแบบอุตสาหกรรม (Industrial Design) จะมีอายุความคุ้มครองอยู่ที่ 20 ปี ให้ความคุ้มครองการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับรูปทรง ลวดลาย สี อย่างใดอย่างหนึ่งหรือการนำมารวมกันในผลิตภัณฑ์ คล้ายคลึงกับของประเทศไทย แต่จะมีอายุความคุ้มครองที่ยาวนานกว่า

วิธีการยื่นขอรับสิทธิบัตรในประเทศเกาหลี

เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ผู้ขอรับสิทธิบัตรสามารถยื่นขอรับความคุ้มครองผ่านระบบการยื่นตรงภายใน 12 เดือนนับตั้งแต่วันที่มีการยื่นคำขอเป็นครั้งแรก หรือยื่นผ่านระบบ PCT ภายใน 31 เดือนนับตั้งแต่มีการยื่นขอรับความคุ้มครองเป็นครั้งแรก

บทสรุป

ประเทศเกาหลีใต้นั้นถือเป็นประเทศที่กำลังมาแรงในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในด้านต่าง ๆ มีตัวเลขการยื่นคำขอที่ค่อนข้างสูงทั้งขาเข้าและขาออก รวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐให้เอกชนมีความตื่นตัวในการนำผลงานของตนเองเข้าสู่ระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การยื่นสิทธิบัตรในเกาหลีถือได้ว่ามีความค่อนข้างน่าสนใจที่จะขยายความคุ้มครองเข้าไปในประเทศ นอกจากนี้ ประเทศเกาหลียังมีระบบอนุสิทธิบัตรที่ใช้ระยะเวลารับจดทะเบียนที่ค่อนข้างรวดเร็ว เหมาะสำหรับสิ่งประดิษฐ์ที่ต้องการขอรับความคุ้มครองที่ค่อนข้างด่วน แต่ไม่ต้องการรับความคุ้มครองเป็นระยะเวลานานเพื่อนำงานประดิษฐ์ใหม่เข้าไปจดทะเบียนและทำตลาดแบบแทนที่ หรืองานที่คาดว่าจะตกรุ่นเร็วและจะนำรุ่นใหม่ไปขายแทนที่นั่นเอง

นอกเหนือไปจากงานด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ขึ้นชื่อในประเทศเกาหลีใต้แล้ว เทคโนโลยีด้านเวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ก็ถือเป็นอีกตลาดที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในประเทศเกาหลีเช่นกัน  

อ่านสิทธิบัตรต่างประเทศตอนอื่น ๆ 

> วิธีการยื่นจดสิทธิบัตรต่างประเทศ ตอน 1 : สิทธิบัตรต่างประเทศ 101

> วิธีการยื่นจดสิทธิบัตรต่างประเทศ ตอน 2 : เจาะลึกสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (PCT)

> วิธีการยื่นจดสิทธิบัตรต่างประเทศ ตอน 3 : การขอรับความคุ้มครองในสหรัฐอเมริกา ตัวตึงแห่งวงการสิทธิบัตร? 

วิธีการยื่นจดสิทธิบัตรต่างประเทศ ตอน 4 : ข้อควรรู้ในการขอยื่นรับความคุ้มครองสิทธิบัตรในกลุ่มประเทศยุโรป

วิธีการยื่นจดสิทธิบัตรต่างประเทศ ตอน 5 : จดสิทธิบัตรประเทศญี่ปุ่น ยักษ์ใหญ่ไอทีแห่งเอเชีย

> วิธีการยื่นจดสิทธิบัตรต่างประเทศ ตอน 8 : การยื่นขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรในแดนมังกร พี่ใหญ่ในเอเชีย

 

Share this article

Facebook
Twitter
LinkedIn

ปรึกษา IDG

ผู้เชี่ยวชาญของเราพร้อมให้คำแนะนำคุณ

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

ติดต่อทีมผู้เชี่ยวชาญ