OUR BLOG

วิธีการยื่นสิทธิบัตรต่างประเทศ ตอน 2 : เจาะลึกสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (PCT)

6

   หลังจากได้ทราบถึงความสำคัญของการยื่นจดสิทธิบัตรระหว่างประเทศในตอนที่แล้ว ผู้อ่านหลายท่านอาจจะยังคงเปรียบเทียบว่าระหว่างการขอรับความคุ้มครองผ่านระบบการยื่นตรง หรือผ่านระบบ PCT ดีกว่ากัน ในตอนนี้ ทีมสิทธิบัตรต่างประเทศจึงจะมาอธิบายให้ผู้อ่านทุกท่านได้ทราบถึงรายละเอียดแบบเต็ม ๆ สำหรับการยื่นสิทธิบัตรผ่านระบบ PCT กัน ว่าจะคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าและระยะเวลาที่นานกว่าหรือไม่

    สนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อเล่นว่า PCT นั้น เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ทำขึ้นในปี 1970 (พ.ศ. 2513) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวก ลดภาระ ขั้นตอน และค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ขอรับสิทธิบัตรที่ต้องการยื่นคำขอในหลาย ๆ ประเทศ โดยผู้รับคำขอสามารถยื่นคำขอระหว่างประเทศเพียงครั้งเดียวเพื่อยื่นขอรับความคุ้มครองในประเทศที่เป็นสมาชิคในสนธิสัญญาได้

ซึ่งในปัจจุบันนั้น มีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นภาคีความร่วมมือกว่า 150 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกลำดับที่ 142 

ในปี พ.ศ. 2552 โดยมีการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรจากประเทศไทยผ่านระบบ PCT ออกไปยังต่างประเทศกว่า 900 ฉบับจนถึงปัจจุบัน

 

ข้อได้เปรียบในการยื่นผ่านระบบ PCT
  1. ได้รับการสืบค้นจากองค์กรตรวจค้นระหว่างประเทศ โดยคำขอ PCT ทุกฉบับนั้นจะต้องได้รับการสืบค้นจากองค์กรตรวจค้นระหว่างประเทศ โดยจะทำการตรวจสอบเงื่อนไขการรับจดเป็นสิทธิบัตร ได้แก่ ความใหม่ ขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม ทุกคำขอจะได้รับการตรวจสอบและมีการส่งผลการสืบค้นให้แก่ผู้ขอรับสิทธิบัตร เพื่อประกอบการตัดสินใจในการยื่นขอรับความคุ้มครองในแต่ละประเทศต่อไป
  2. ได้รับการประกาศโฆษณาในฐานข้อมูลสิทธิบัตรโลก ซึ่งเราสามารถใช้เอกสารที่มีการประกาศโฆษณาดังกล่าวประกอบการยื่นคำขอ
    รับความคุ้มครองในแต่ละประเทศได้เลย ทำให้เกิดความสะดวกสบายในกรณีที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรมีความประสงค์ที่จะขอรับความคุ้มครองในหลาย ๆ ประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น การประกาศโฆษณางานของเราในฐานข้อมูลที่รวบรวมคำขอสิทธิบัตรระหว่างประเทศ ซึ่งนักลงทุนต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลกจะสามารถพบสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมของเราผ่านทางช่องทางดังกล่าว และอาจเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้ในอนาคต
  3. ยืดระยะเวลาในการตัดสินใจ ตามระเบียบปกติของการจดสิทธิบัตรในต่างประเทศ ผู้ขอรับสิทธิขอจะดำเนินการยื่นคำขอเข้าประเทศนั้น ๆ ภายใน 12 เดือนนับจากวันที่มีการยื่นขอรับความคุ้มครองในประเทศแรก การยื่นผ่านระบบ PCT จะขยายระยะเวลาดังกล่าวเพิ่มอีก 18 เดือน (รวมทั้งหมด 30-31 เดือนนับจากวันที่ยื่นคำขอครั้งแรก) โดยการยืดระยะเวลาดังกล่าวนั้นเหมาะสำหรับผู้กำลังตัดสินใจ ธุรกิจที่ต้องการศึกษาตลาดในแต่ละประเทศก่อน รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีเงินทุนมากพอที่จะขอความคุ้มครองในต่างประเทศภายใน 12 เดือน
ขั้นตอนการดำเนินการผ่านระบบ PCT
  1. ขั้นตอนระหว่างประเทศ (International Phase) ซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้ระเบียบขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เช่น การยื่นคำขอระหว่างประเทศ การสืบค้บจากองค์การตรวจค้นระหว่างประเทศ และการประกาศโฆษณาลงในฐานข้อมูลสิทธิบัตรโลก โดยขั้นตอนดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาประมาณ 16 – 18 เดือนนับจากวันที่ยื่นคำขอ PCT
  2. ขั้นตอนภายในประเทศ (National Phase) เป็นการนำผลการสืบค้นและประกาศโฆษณาจากฐานข้อมูลเพื่อเข้าขอรับความคุ้มครองในประเทศปลายทาง ซึ่งแต่ละประเทศจะมีกฎระเบียบต่าง ๆ ภายในที่แตกต่างกัน อาจใช้เวลาในการรับจดสิทธิบัตรประมาณ 2 – 5 ปี ขึ้นอยู่กับนโยบายของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาประเทศนั้น ๆ
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการยื่นผ่านระบบ PCT

ถาม : PCT เป็นระบบการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรเลยหรือไม่?
ตอบ : ระบบ PCT ไม่ได้เป็นระบบรับจดสิทธิบัตร แต่เป็นเพียงกลไกในการอำนวยความสะดวกในการขอรับความคุ้มครองในแต่ละประเทศเท่านั้น เนื่องจากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาในแต่ละประเทศ ก็จะมีกฎระเบียบที่แตกต่างการในการพิจารณารับจดทะเบียนสิทธิบัตร

ถาม : เราสามารถเลือกองค์การตรวจค้นเองได้หรือไม่?
ตอบ : สำหรับคำขอจากประเทศไทย เราจะสามารถเลือกองค์การตรวจค้นได้ภายใน 7 หน่วยงานที่กรมทรัพย์สินทางปัญญากำหนด ได้แก่ สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา

ถาม : เลือกองค์การตรวจค้นไหนให้ตรวจสอบงานของเราดี?
ตอบ : องค์การตรวจค้นในแต่ละประเทศจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกัน ผู้ขอรับสิทธิบัตรสามารถเลือกองค์กรที่เหมาะสมกับงบประมาณของตนเองได้ แต่ถ้าหากไม่ได้พิจารณาในประเด็นงบประมาณเป็นหลัก การเลือกองค์การตรวจค้นเป็นหน่วยงานในประเทศเดียวกับที่เราจะเข้าไปจดสิทธิบัตร จะมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาในการรับจดสิทธิบัตรที่น้อยกว่า

ถาม : สิทธิบัตรประเภทใดที่สามารถยื่นผ่านระบบ PCT ได้บ้าง?
ตอบ : ระบบ PCT จะครอบคลุมเพียงสิทธิบัตรการประดิษฐ์ และอนุสิทธิบัตรเท่านั้น โดยจะต้องทำการเลือกว่าจะขอความคุ้มครองว่าเป็นสิทธิบัตรประเภทใดในขั้นตอนภายในประเทศ (National) โดยคำขอ PCT เดียวกันอาจจะขอความคุ้มครองเป็นสิทธิบัตรในบางประเทศ และเป็นอนุสิทธิบัตรในบางประเทศก็ได้ ทั้งนี้ ระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในบางประเทศจะไม่มีการคุ้มครองในส่วนของอนุสิทธิบัตร จึงควรทำการตรวจสอบด้วยตนเองหรือผ่านตัวแทนก่อนที่จะทำการยื่น สำหรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่น ๆ จะไม่ครอบคลุมภายใต้ระบบ PCT

ถาม : จำเป็นต้องยื่นคำขอในประเทศไทยก่อนที่จะยื่น PCT หรือไม่?
ตอบ : ไม่จำเป็น ผู้ขอรับสิทธิบัตรสามารถยื่นขอ PCT ในขั้นตอนระหว่างประเทศก่อน จากนั้นจึงค่อยยื่นเข้าประเทศไทยผ่านขั้นตอนภายในประเทศก็ได้ หรือหากผู้ขอรับความคุ้มครองพิจารณาแล้วว่าประเทศไทยไม่ได้อยู่ในเป้าหมายหลักในการทำตลาด ก็สามารถยื่นเข้าผ่านขั้นตอนภายในประเทศเฉพาะประเทศที่ต้องการได้

ถาม : คำขอ PCT สามารถยื่นด้วยตนเองได้หรือไม่?
ตอบ : ผู้ขอสามารถยื่นได้ด้วยตนเองที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือผ่านระบบ ePCT แต่เนื่องจากการยื่นคำขอผ่านระบบ PCT นั้น จะมีระเบียบต่าง ๆ ที่ค่อนข้างเฉพาะ การยื่นผ่านตัวแทนสิทธิบัตรนั้นจึงเป็นที่นิยมสำหรับบริษัท ผู้ประกอบการ รวมถึงนักประดิษฐ์ ที่ต้องการขอความรับรองด้านสิทธิบัตรเพื่อลดโอกาสที่จะได้รับคำสั่งให้แก้ไข ซึ่งเป็นการเสียเวลาและนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยตัวแทนจะเป็นผู้ช่วยดำเนินการจัดเตรียมเอกสารให้สอดคล้องกับข้อกำหนด  ประสานงานด้านการแปลภาษาให้เป็นไปตามฟอร์มของสิทธิบัตร ติดตามคำขอ รวมถึงให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวกทั้งในขั้นตอนระหว่างประเทศ และขั้นตอนในประเทศอีกด้วย

หากท่านใดสนใจต้องการรับคำปรึกษาเพิ่มเติมในด้านสิทธิบัตรทาง IDG มีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาทุกท่าน
โทร: 02-011-7161 ถึง 6 (ติดต่อ 301 – 304) ฝ่ายสิทธิบัตร
E-Mail: [email protected]
Line: @idgthailand

Share this article

Facebook
Twitter
LinkedIn

ปรึกษา IDG

ผู้เชี่ยวชาญของเราพร้อมให้คำแนะนำคุณ

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

ติดต่อทีมผู้เชี่ยวชาญ