OUR BLOG

ศึกเกม PUBG ยื่นฟ้อง Free Fire ข้อหาเลียนแบบ!!

template

    หากพูดถึงเกมแนว Battle Royale หลายๆ คนก็คงจะมีชื่อเกมโปรดที่คิดไว้ในใจใช่ไหมครับ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเกมไหน เป้าหมายของเกมแนวนี้ก็จะคล้ายๆ กัน คือการเข้าไป ต่อสู้ เก็บสะสมอาวุธ และทรัพยากรต่างๆ เพื่อที่จะเป็นผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายหรือทีมสุดท้าย แต่ถ้าหากเกมเหล่านี้ มันไม่ได้แค่คล้ายธรรมดา แต่คล้ายกันมากเสียจนเหมือนลอกเลียนกันมาเลยล่ะ!

    กระแสอันโด่งดังที่กำลังเป็นที่พูดถึงในกลุ่มของชาว gamer ในตอนนี้คงหนีไม่พ้นข่าวที่ Krafton บริษัทผู้พัฒนาและจัดจำหน่ายเกม อย่าง Player Unknown’s Battle Ground หรือที่เรียกกันติดปากว่า PUBG เกมแนว Battle Royale ที่ได้ยื่นฟ้องบริษัท Garena ผู้ให้บริการเกมมือถือ แนว Battle Royale ชื่อดังอย่าง Free Fire ต่อศาลแขวงแห่งสหรัฐประจำแขวงกลางแคริฟอร์เนีย ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งยังได้มีการฟ้อง Google ผู้ให้บริการ Google Play Store และ Apple ผู้ให้บริการ App store ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการพื้นที่สำหรับดาวน์โหลดเกม FreeFire

Screen Shot 2022 01 13 at 5.37.39 PM
ที่มาของภาพ : theverge

    โดยในคำฟ้องของบริษัท Krafton ที่มีจำนวนถึง 108 หน้า Krafton ได้อ้างถึงลักษณะหรือองค์ประกอบของเกม PUBG และได้อ้างว่า Garena ได้ลอกเลียนลักษณะหรือองค์ประกอบดังกล่าวเข้ามาในเกม Free Fire เช่น ผังล็อบบี้ แผนที่เกาะซึ่งให้ผู้เล่นสามารถเดินได้อย่างอิสระก่อนโดดร่ม ระบบการโดดร่มที่สามารถควบคุมทิศทางได้ ลักษณะของอาวุธ ชุดเกราะ แผนที่ซึ่งมีความใกล้เคียงกัน รวมไปถึงเอกลักษณ์ของเกม PUBG อย่างกระทะสนามซึ่งสามารถใช้ในการกันกระสุนปืนได้ รวมไปถึงภาพหน้าจอแสดงความยินดีเมื่อผู้เล่นชนะของเกม Freefire ซึ่งจะมีรูปของไก่อยู่ข้างบนรูปของไก่ย่างเต็มตัวนั้น ทาง Krafton ก็อ้างว่า มีที่มาจากประโยค “winner winner chicken dinner” ซึ่งเป็นคำที่ผู้เล่น PUBG ทราบกันดีว่าจะแสดงขึ้นมาเมื่อผู้เล่นสามารถพิชิตเกมได้เช่นกัน

    ซึ่งในส่วนของผลในทางกฎหมายของคดีนี้ ทางเราเองก็ไม่อาจทราบได้จริงๆ ครับ ว่าจะออกมาในทิศทางใด แต่หากลองจับเรื่องนี้มาเทียบกับกฎหมายของบ้านเราแล้ว ก็ต้องขออธิบายไว้ก่อนเลยว่า ชิ้นงานที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์นั้น จะต้องเป็นชิ้นงานที่เป็นการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ อย่างในกรณีของเกม PUBG ก็อาจจะมีหลายส่วน เช่นกรณีของรูปอาวุธ แผนที่ หรือสกินอาวุธ ก็จะได้รับความคุ้มครองในฐานะงานศิลปะ หากเป็นตัว code ของเกมก็จะได้รับความคุ้มครองในส่วนของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือถ้าหากเป็นส่วนของเสียง effect ในเกมก็จะได้รับความคุ้มครองในส่วนของสิ่งบันทึกเสียง

ซึ่งการดูว่าได้มีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่นั้น หากเป็นการก๊อปมาแบบตรงๆ หรือเหมือนกันทุกองค์ประกอบ ก็อาจจะพูดได้ว่าเป็นการทำซ้ำซึ่งเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ไม่ยาก แต่ในกรณีที่องค์ประกอบอาจจะเพียงเหมือนกันหรือคล้ายกัน ก็อาจเป็นกรณีของการได้รับแรงบันดาลใจซึ่งเป็นเรื่องของแนวความคิด  ซึ่งหากเป็นแบบที่พูดมานี้ก็อาจจะกลายเป็นว่าไม่ได้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือยังไม่เป็นการก๊อปกันเลยก็ได้ แต่ได้รับแรงบันดาลใจมาเท่านั้นครับ

    จากที่ได้พูดมาทั้งหมด ก็หวังว่าทุกคนจะเห็นภาพคร่าว ๆ เกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ไทยกับเรื่องที่เกิดขึ้นนะครับ สำหรับตัวผู้เขียนนั้น เกมในแนวเดียวกันอาจมีความคล้ายคลึงกันได้ เพราะถ้าจะให้ Developer หรือผู้สร้างเกมทำเกมออกมาให้แตกต่างกันแบบฉีกแนวหรือแตกต่างออกไปทุกเกม ก็คงจะเป็นไปไม่ได้หรืออาจเป็นไปได้ยาก แต่ไม่ว่ายังไง ก็ต้องเป็นเกมที่คิดและสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง ไม่ได้ไปลอกหรือไปก๊อปมาจากใคร ถึงจะดีที่สุดนะครับ

 


ผู้เขียน : K. วริศ เกียรติกุล 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร: 02-011-7161 ext 104 หรือ 106

Line: @idgthailand

Share this article

Facebook
Twitter
LinkedIn

ปรึกษา IDG

ผู้เชี่ยวชาญของเราพร้อมให้คำแนะนำคุณ

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

ติดต่อทีมผู้เชี่ยวชาญ