บางท่านอาจเคยได้ยินในข่าวที่อดีตพนักงานของ Google ชื่อ Anthony Levandowski ที่ออกไปตั้งบริษัท start-up ของตัวเองและขายบริษัทต่อให้ Uber นั้น โดน Google ฟ้องประเด็นการ “ละเมิดความลับทางการค้า” ของ Google ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลเทคโนโลยีต่างๆภายในรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (self-driving cars) ภายใต้ Project Chauffeur (ภายหลังกลายเป็น Waymo) ซึ่งสุดท้ายทาง Anthony ได้ออกมายอมรับแล้วว่าเขา download ไฟล์ข้อมูลเกี่ยวกับโปรเจ็คดังกล่าวออกมากว่า 1,000 ไฟล์ก่อนที่จะลาออกจาก Google ซึ่งจากหลักฐานที่ได้ Google สามารถมัดตัวและเรียกร้องค่าเสียหายกว่า $179 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนทำให้ Anthony ต้องยื่นคำร้องขอเป็นบุคคลล้มละลายของประเทศทันที และกำลังที่จะโดนศาลพิพากษาให้จำคุกอย่างน้อยอีก 2-3 ปี1
ข้อพิพาทลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ จะถี่ขึ้น และรุนแรงขึ้นกว่าเดิมเนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจที่ทุกองค์กรจำเป็นต้องปรับตัวหรือพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆอย่างรวดเร็วซะจน “สิทธิบัตร” ไม่สามารถตอบสนองความต้องการในการปกป้องนวัตกรรมได้ทันสถานการณ์ ภาวะของตลาดแรงงานที่มีพฤติกรรมแตกต่างจากเมื่อก่อนเนื่องด้วยคำว่า จงรักภักดี (loyalty) อาจไม่มีความหมายสำหรับบุคลากรรุ่นใหม่และแรงงานมืออาชีพที่มีความทะเยอะทะยานสูงอีกต่อไป เมื่อบุคลากรพวกนี้ย้ายไปอยู่กับคู่แข่งหรือทำธุรกิจแข่ง ข้อมูลสำคัญต่างๆก็อาจจะหลุดออกไปกันพวกเขาด้วย รวมถึงการก๊อปปี้ โอนถ่ายข้อมูลความลับ และองค์ความรู้ต่างๆออกนอกองค์กรสามารถทำได้ง่ายเพียงด้วยไม่กี่ clicks ซึ่งทั้งหมดนี้ ทำให้ธุรกิจในยุคปัจจุบันต้องเผชิญความท้าท้ายมากขึ้น และต้องมีการสร้างระบบและมาตรการในการปกป้องความลับทางการค้าที่เข็มแข็งและมีประสิทธิภาพมากกว่าเก่า ทั้งนี้ เพื่อให้คุณได้เห็นแนวโน้มคดีความที่เกี่ยวข้องกับความลับทางการค้าในประเทศไทย กราฟด้านล้างแสดงให้เห็นจำนวนคดีที่มีความเกี่ยวข้องกับ “ความลับทางการค้า” ทั้งหมดในประเทศไทย รวมเป็น 73 คดีที่มีการยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตั้งแต่ปี 2002-2020 โดยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าจำนวนการยื่นฟ้องคดีด้านนี้มีเกิดขึ้นทุกปี และคดีช่วงหลังมีความซับซ้อนและต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น ซึ่งบางเคสก็สู้กันต่อจนขึ้นไปถึงการพิพากษาของศาลฏีกาก็มี แต่ทั้งหมดนี้ ยังไม่รวมเคสอีกมากมายที่ลงเอยด้วยการเจรจาต่อรอง การไกล่เกลี่ย หรือกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เป็นต้น
นอกเหนือจาก Google ที่ได้กล่าวมาข้างต้น บริษัทและแบรนด์ในตลาดอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Coca-Cola, KFC, Krispy Kreme ล้วนเติบโตขึ้นมาเป็นบริษัทมูลค่ามากกว่าพันล้านเหรียญดอลลาร์จาก “ความลับทางการค้า” หรือ “Trade Secrets” ทั้งนั้น และยังมีอีกหลายๆธุรกิจที่กำลังเติบโตจากการถือครองความลับทางการค้าที่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับองค์กรของพวกเขา แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายธุรกิจที่กำลังจะตายจากการโดนขโมยความลับทางการค้าออกไปจากพวกเขา (โดยไม่รู้ตัว) เช่นกัน ผมยังสังเกตุเห็นหลายๆธุรกิจสับสน หรือยังไม่เข้าใจกระบวนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาประเภทนี้ เนื่องจาก “ความลับทางการค้า” ไม่มีระบบการคุ้มครองโดยการจดทะเบียนเหมือน “เครื่องหมายการค้า” หรือ “สิทธิบัตร” และกฎหมายปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบของ “ผู้ควบคุมความลับทางการค้า” ซึ่งตามมาตรา 3 ของ พรบ. ความลับทางการค้า คือ เจ้าของความลับทางการค้า รวมถึงผู้ครอบครอง ควบคุมหรือดูแลรักษาความลับทางการค้าเพื่อไม่ให้ข้อมูลความลับทางการค้านั้นรั่วไหล โดยตามหลักกฎหมายแล้ว ความลับทางการค้าจะได้รับการคุ้มครอง “ตราบเท่าที่ยังเป็นความลับ” อยู่ ซึ่งในหลายๆครั้งแล้ว พวกเรานักธุรกิจก็มักจะตั้งคำถามว่า แล้วเรารักษาความลับทางการค้าของเราได้อย่างถูกต้องหรือเปล่า? สิ่งที่เราคิดว่าเป็นความลับทางการค้ายังคงเป็นความลับทางการค้าจริงอยู่หรือไม่? หากเรากลับมาดูนิยามของ “ความลับทางการค้า” ที่ระบุอยู่ในมาตรา 3 ของ พรบ. ความลับทางการค้า คือ “ข้อมูลการค้าซึ่งยังไม่รู้จักกันโดยทั่วไป หรือยังเข้าถึงไม่ได้ในหมู่บุคคลซึ่งโดยปกติแล้วต้องเกี่ยวข้องกับข้อมูลดังกล่าว โดยเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์เชิงพาณิชย์เนื่องจากการเป็นความลับ และเป็นข้อมูลที่ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาไว้เป็นความลับ” ดังนั้น เพื่อให้ตอบคำถามให้ได้ว่า “สินทรัพย์ หรือ ข้อมูลนั้น” เป็นความลับทางการค้าหรือไม่ และเราจะสามารถใช้ในการดำเนินคดีกับผู้ที่ละเมิดสิทธิได้อย่างมีประสิทธิภาพในชั้นศาลหรือเปล่านั้น ผมจะแนะนำให้คุณเริ่มจากการตรวจสอบความลับทางการค้าภายในองค์กรของคุณ (Trade Secrets Audit) เพื่อสร้างระบบการจัดเก็บความลับทางการค้า (Trade Secrets Inventory System) ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพก่อน ซึ่งเบื้องต้นประกอบด้วย 4 ขั้นตอน3 ดังต่อไปนี้: 1.การสร้างรายการของข้อมูลที่อาจเป็นความลับทางการค้า (Inventory of Potential Trade Secrets) ความยากของการรวบรวมข้อมูลความลับทางการค้า คือ ความจับต้องได้ยาก ไม่มีหลักฐานการซื้อขายเหมือนสินทรัพย์ประเภทอื่นๆทั่วไปที่ฝ่ายบัญชีเก็บบันทึกเป็นปกติ และส่วนใหญ่ข้อมูลก็กระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งบริษัท ซึ่งบางส่วนอยู่ในรูปแบบกระดาษ บางส่วนเก็บบันทึกในคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องมือสื่อสารส่วนบุคคล ในอีเมล์ ใน Line บน server หรือ cloud storage บ้าง หรือแม้กระทั่งบนหัวสมอง ความทรงจำของพนักงานและผู้บริหารเอง ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ตัวเองรับรู้คือความลับการค้าของบริษัทหรือเปล่า ดังนั้น สิ่งที่จะต้องทำคือการช่วยกันสร้างรายการรวบรวมสิ่งที่อาจเป็นความลับทางการค้าทั้งหมดของบริษัทหรือองค์กร โดยการให้พนักงานทุกคนได้มีส่วนช่วยบันทึกความลับทางการค้าที่ตัวเองสร้างขึ้นมาภายใต้บริษัท หรือที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน้าที่ของตน โดยผู้บริหารอาจมีความจำเป็นที่จะต้องอธิบายหรือจัดการอบรมให้ความรู้แก่พนักงานทุกคนในเรื่องนี้ก่อนเริ่มกระบวนการตรวจสอบเพื่อให้พนักงานสามารถแยกแยะเบื้องต้นได้ว่าสินทรัพย์หรือข้อมูลที่ว่านั้น เข้าข่าย “ความลับทางการค้า” หรือ “ข้อมูลทั่วไป” ในระหว่างการรวบรวมความลับทางการค้า ห้ามให้มีการส่งต่อข้อมูลระหว่างเพื่อนร่วมงาน ข้ามทีม หรือข้ามฝ่ายเด็ดขาดเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ข้อมูลนั้นอาจไม่เป็นความลับตามกฎหมายอีกต่อไป ทางบริษัทอาจมีการแต่งตั้งผู้จัดการ (supervisor) ที่รับข้อมูลทั้งหมดภายในฝ่าย ทีม กอง หรือ แผนก นั้นอยู่แล้ว รวบรวม และคัดกรอง (เนื่องจากอาจมีข้อมูลที่เหมือนหรือซ้ำกันอยู่) เพื่อส่งต่อเข้าระบบรายการความลับทางการค้ากลางตามที่บริษัทกำหนด ทั้งนี้ การเข้าถึงข้อมูลความลับให้เป็นไปตามลำดับชั้นของการบริหารองค์กร เช่น ผู้จัดการฝ่ายผลิตอาจเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสูตร ขั้นตอน กระบวนการผลิตได้หมดก็จริง แต่ไม่สามารถเห็นข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการสั่งซื้อของลูกค้า และข้อมูลกลยุทธ์การตลาดที่ผู้จัดการฝ่ายการตลาดถืออยู่ ซึ่งเงื่อนไขอื่นๆเพิ่มเติมให้ขึ้นอยู่กับทางผู้บริหารกำหนดและวางเป็นข้อบังคับของบริษัท 2. การจำแนกประเภทของข้อมูลที่อาจเป็นความลับทางการค้า (Categorizing the potential trade secrets) หลังจากการรวบรวม “สินทรัพย์” หรือ “ข้อมูล” ที่อาจเป็นความลับทางการค้าจากทั่วทั้งองค์กรแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการจำแนกประเภทของมันเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสินทรัพย์ที่เป็นความลับทางการค้าเกือบทั้งหมดควรแบ่งตามระบบการจำแนกประเภทตามนี้ “<Subject><Format> สำหรับ <Product>” เช่น:
- <ฝ่ายผลิต><กระบวนการ> สำหรับ <แผ่นกรองอากาศรถยนต์ยี่ห้อ A>
- <ฝ่ายการตลาด><โมเดลธุรกิจ> สำหรับ <เครื่องดื่มผสมใบบัวบกยี่ห้อ B>
- <ฝ่ายวิศวกรรม><สเปค> สำหรับ <เครื่องต้นแบบแปรรูปกุ้งโครงการ C>
- <ฝ่ายขาย><คาดการณ์ยอดขาย> สำหรับ <เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายแบรนด์ D>
Subject หมายถึง ฝ่าย ทีม แผนก หน่วย กลุ่ม กอง หรือ สำนัก ภายในบริษัทหรือองค์กรที่สร้างและมีการใช้ความลับทางการค้านั้นขึ้นมา Format หมายถึง รูปแบบเอกสารต่างๆ รวมถึง งานต้นแบบ ระบบ กระบวนการ สูตร ผลการวิจัย แผนการ และประเภทอื่นๆตามความเหมาะสมของบริษัท และ Product คือ ชื่อแบรนด์ของสินค้า/บริการดังกล่าว หรือกลุ่มของสินค้า/บริการ เป็นต้น 3. การคัดเลือกข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้าที่แท้จริง (Identifying the actual trade secrets among the potential ones) เราจะนำความลับทางการค้าที่จัดสรรประเภทแล้วตามข้อ 2 มาทดสอบประเมินด้วย 6 ปัจจัยของการเป็นความลับทางการค้าที่แท้จริง (six-factor trade secret authencity test) โดยแต่ละปัจจัย จะมีการให้คะแนน 1-5 จาก 1 (น้อยที่สุด) ถึง 5 (มากที่สุด) ดังนี้:
- ข้อมูลดังกล่าวยังไม่เป็นที่รู้จักภายนอกองค์กร
- ข้อมูลดังกล่าวยังไม่เป็นที่รับรู้โดยพนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
- ขอบเขต/ความเข็มข้นของมาตรการที่ใช้ในการปกป้องรักษาข้อมูลดังกล่าว
- มูลค่า/ความสำคัญของข้อมูลดังกล่าว สำหรับองค์กร และคู่แข่งของเขา
- จำนวนเงินและความพยายามในการสร้างและพัฒนาข้อมูลดังกล่าว
- ความยากในการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ หรือลอกเลียนแบบได้โดยผู้อื่น
ในขั้นตอนนี้ คุณอาจจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยประเมิน และคัดกรองสิ่งที่เป็นความลับทางการค้าตามที่กฎหมายกำหนด ออกจากพวกความรู้ และข้อมูลทั่วไปที่สามารถลอกเลียนแบบ เปิดเผย หรือใช้โดยผู้อื่นได้โดยไม่เป็นการละเมิดสิทธิ ในกรณีนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา สามารถช่วยคุณแนะนำต่อไปได้ในกรณีที่ความลับทางการค้าบางประเภทควรได้รับการปกป้องเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า หรือลิขสิทธิ์ 4. การจัดประเภทของความลับทางการค้า (Classifying the actual trade secrets) การจัดประเภทของข้อมูลทั้งหมดในองค์กร เราไม่ควรให้เกิน 5 ประเภท เพื่อความเป็นระบบและให้มีกรอบการจัดการภายในองค์กรที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนี้:
- “Not Confidential” หมายถึง ข้อมูลทั่วไปที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งเราได้คัดแยกออกจากความลับทางการค้าในขั้นตอน 3
- “Personal Information” หมายถึง ข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานหรือลูกค้า เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เลขประจำตัวบัตรประชาชน ข้อมูลสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งทางบริษัทหรือองค์กรเองมีภาระหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องปกป้องข้อมูลดังกล่าวตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือที่เรียกว่า PDPA (Personal Data Protection Act)
ประเภทข้อมูลที่เป็น “ความลับทางการค้า” ซึ่งอาจแบ่งได้ตามระดับความสำคัญของข้อมูลและความเข้มข้นของมาตรการเพื่อควบคุมการเข้าถึง ลำดับชั้นในการเข้าถึง และการใช้ข้อมูลดังกล่าวภายในองค์กร เช่น:
- “Confidential” หมายถึง ข้อมูลความลับที่รับรู้กันเฉพาะในฝ่าย แผนก ทีม กลุ่ม ฯลฯ ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญแต่อ่อนไหว แต่เพื่อการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ข้อมูลเชิงเทคนิคเกี่ยวกับสินค้าใหม่ แหล่งซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ จำเป็นที่ต้องเปิดเผยให้กับพนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้องรับรู้พร้อมลงนามในสัญญาเพื่อรับทราบและแสดงความรับผิดชอบ
- “Secret” หมายถึง ข้อมูลความลับที่สำคัญในระดับของกลุ่มผู้บริหาร เจ้าของ กรรมการ หรือผู้ถือหุ้น/นายทุนของบริษัท เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับแผนธุรกิจ แผนการควบรวมกิจการ ปรับโครงสร้างองค์กร ข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างเงินเดือนและสวัสดิการ ฯลฯ ซึ่งมีเพียงกลุ่มผู้บริหาร กรรมการ และผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ และการที่ข้อมูลดังกล่าวถูกเปิดเผยออกไป อาจทำให้สูญเสียระบบการบริหาร หรือโอกาสทางธุรกิจ เป็นต้น
- “Top Secret” หมายถึง ข้อมูลที่เป็นความลับสุดยอดที่เจ้าของ ผู้บริหาร กรรมการผู้มีอำนาจสูงสุด จำเป็นต้องเก็บไว้เป็นความลับตลอดไป เนื่องจากการที่ข้อมูลดังกล่าวโดนเปิดเผยหรือหลุดออกไป อาจทำให้ธุรกิจเจอปัญหาขั้นรุนแรง และไม่สามารถดำเนินการต่อได้ เช่น หาก Search Engine Algorithms ของ Google หลุดออกไปถึงมือของวิศวกรของ Yahoo เมื่อ 15 ปีที่แล้ว Google อาจจะไม่สามารถอยู่มาได้จนกลายเป็นบริษัทมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐได้ในปัจจุบันอย่างแน่นอน
“ความลับทางการค้า” หรือ “Trade Secrets” มีความสำคัญกับธุรกิจในยุคปัจจุบันจนพวกเราไม่สามารถปฏิเสธได้อีกต่อไป และจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกๆบริษัท ทุกองค์กรต้องคอยปกป้อง และต้องมีการตรวจสอบสถานะ และจำแนกประเภทของข้อมูลที่ถือครองอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งระบบที่ผมเรียกว่า Trade Secrets Inventory System จะช่วยทำให้การสร้าง บันทึก ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และการบังคับใช้สิทธิตามกฎหมายเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แหล่งที่มาของข้อมูล:
- https://www.sharecast.com/news/international-companies/anthony-levandowski-pleads-guilty-to-stealing-google-trade-secrets–7393221.html
- https://www.businessinsider.com/anthony-levandowski-fired-from-uber-2017-5
- Trade Secret Management 2018 (Halligan & Weyand)