OUR BLOG

Applicant patent ผู้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์..ต้องยื่นคำขอสิทธิบัตร

idg 201802 73 1.jpg

รู้หรือไม่?

ผู้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์..ต้องยื่นคำขอสิทธิบัตร
ก่อนโฆษณาหรือจำหน่ายสินค้าออกสู่ตลาด

ในกรณีที่ท่านได้มีการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่มีความใหม่ และประยุกต์ใช้ได้จริงในอุตสาหกรรม และ/หรือมีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และท่านกำลังจะนำเอาการประดิษฐ์นี้ไปยื่นคำขอสิทธิบัตรต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา

แต่เผอิญว่า มีเหตุผลทางการตลาด หรือ เหตุผลใดๆ  ที่ทำท่านจะต้องเปิดตัวสินค้าของท่านในงานแสดงสินค้า หรือ ทางสื่อโฆษณาไม่ว่าจะเป็น สื่อสิ่งพิมพ์ เช่น ใบปลิว, แคตตาลอก, หนังสือนิตยสาร, หนังสือพิมพ์ หรือ สื่อออนไลน์ช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, Website, Blog ต่างๆ หรือ บทความในสื่อออนไลน์อื่นๆ ที่เป็นการเปิดเผยถึงรายละเอียดของการประดิษฐ์อันเป็นสาระสำคัญ  หรือ เปิดเผยรูปภาพผลิตภัณฑ์ต่อสาธารณะชน ก่อนวันที่ท่านจะได้ยื่นคำขออนุสิทธิบัตร, สิทธิบัตรการประดิษฐ์ หรือ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์

ความเสี่ยงทางกฎหมายที่อาจจะเกิดขึ้น  มีดังต่อไปนี้

  • 1. มีความเสี่ยงที่จะถูกบุคคลภายนอกลอกเลียนงานประดิษฐ์ของท่าน และนำเอาไปยื่นคำขอสิทธิบัตรในประเทศไทยหรือในต่างประเทศก่อนท่านเนื่องจากเมื่อท่านได้ทำการเปิดเผยงานประดิษฐ์คิดค้นของท่านออกสู่สาธาณชน โดยมีรายละเอียดเพียงพอที่จะทำให้บุคคลภายนอกสามารถนำไปยื่นคำขอสิทธิบัตร หรือสามารถผลิตสินค้าตามรายละเอียดการประดิษฐ์ที่ท่านเปิดเผยได้ เช่น งานประดิษฐ์ที่ไม่ได้มีความซับซ้อนทางกลไกล ยกตัวอย่างเช่น แก้วน้ำที่แยกช่อง หรือ โคมไฟที่มีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ จะเห็นได้ว่า งานในลักษณะนี้เป็นงานที่เมื่อบุคลภายนอกได้เห็นเพียงครั้งเดียวก็สามารถผลิตเลียนแบบได้โดยง่ายเป็นต้นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น คือ บุคคลเหล่านี้สามารถเอารายละเอียดการประดิษฐ์ที่ไม่ซับซ้อนมากเช่นนี้ ไปยื่นจดเป็นอนุสิทธิบัตร หรือ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อของตัวเอง และอ้างว่าตนเป็นผู้ประดิษฐ์ได้  ซึ่งเมื่อคนเหล่านี้ได้ไปยื่นคำขอต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทย หรือ ต่างประเทศ  ภาระการคัดค้าน หรือ เพิกถอน และการพิสูจน์ว่าท่านเป็นผู้ประดิษฐ์คนแรก และงานนี้เป็นงานที่ไม่ใหม่ จะตกอยู่กับท่านซึ่งเป็นผู้ประดิษฐ์ที่แท้จริง ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะตกเป็นภาระของท่าน และทำให้ท่านต้องเสียเงินและเสียเวลาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกรณีที่มีผู้เลียนแบบนำไปยื่นคำขอในต่างประเทศแล้วนั้น ค่าใช้จ่ายในการคัดค้านและเพิกถอนก็จะสูงขึ้นหลายเท่าตัว
  • 2. มีความเสี่ยงที่จะถูกบุคคลภายนอก มาคัดค้านหรือเพิกถอนสิทธิบัตรของท่านในกรณีที่ท่านได้ทำการโฆษณา เปิดตัวในงานสินค้า หรือ เปิดเผยรายละเอียดการประดิษฐ์ของท่าน ออกสู่สาธารณชนไม่ว่าจะเป็นโดยช่องทางใดที่ได้ยกตัวอย่างมาแล้วข้างต้น ก่อน  วันที่ท่านจะ ยื่นคำขอ อนุสิทธิบัตร/สิทธิบัตรการประดิษฐ์/สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ตามแต่กรณีบุคคลภายนอกมีสิทธิตามกฎหมายที่จะ
    • คัดค้านคำขอรับอนุสิทธิบัตร/สิทธิบัตรการประดิษฐ์/สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หลังการประกาศโฆษณา
    • ฟ้องศาลขอเพิกถอนอนุสิทธิบัตร/สิทธิบัตรการประดิษฐ์/สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ตลอดอายุสิทธิบัตรของท่าน

ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นจริง

บริษัทผลิตหลอดไฟ ก. ได้ฟ้อง บริษัทผลิตหลอดไฟ ข. ข้อหาละเมิดอนุสิทธิบัตรของ บริษัท ก.

แต่ทางบริษัท ข. ที่โดนฟ้องข้อหาละเมิด เห็นว่าตนไม่ได้ละเมิด เพราะว่ามีหลักฐานว่าบริษัท ก. ได้ทำการจัดจำหน่ายหลอดไฟตามอนุสิทธิบัตรในท้องตลาดตั้งแต่ ปี 2543  ก่อนวันที่ บริษัท ก. จะได้นำเอางานนี้ไปยื่นคำขออนุสิทธิบัตรต่อมาในปี 2544

บริษัท ข. จึงได้ยื่นคำฟ้องขอศาลเพิกถอนอนุสิทธิบัตรฉบับนี้ โดยยกประเด็นว่า งานของ บริษัท ก. เป็นงานที่มีการเปิดเผยมาก่อนวันที่ได้ยื่นคำขอ เนื่องจากได้ทำการจำหน่ายสินค้าออกจำหน่ายก่อนยื่นคำขอ ทำให้งานนี้ไม่มีความใหม่และไม่สมควรได้รับจดทะเบียนตั้งแต่แรก

ศาลฎีกาพิพากษา
ให้ บริษัท ข. ชนะคดี และมีคำสั่งให้เพิกถอน อนุสิทธิบัตรของบริษัท ก.

เนื่องจากเห็นว่า อนุสิทธิบัตรนี้ขาดความใหม่ ตามมาตรา 6 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ.2522 จึงเป็นอนุสิทธิบัตรที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าเป็นอนุสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ เห็นชอบที่จะเพิกถอนเสียได้ตาม ม. 65 และถือว่าการกระทำของ บริษัท ข. ไม่เป็นการละเมิดอนุสิทธิบัตร

อ้างอิง : คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2448/2554

จากตัวอย่างคำพิพากษาศาลข้างต้นนี้ สามารถสรุปได้ว่า ถึงแม้ว่าคนที่เป็นผู้ประดิษฐ์งานก่อน ก็จะไม่ได้เป็นคนมีสิทธิดีกว่าเสมอไป เนื่องจากได้มีการจัดจำหน่ายงานประดิษฐ์ก่อนวันที่ได้ยื่นคำขออนุสิทธิบัตร ทำให้ขาดองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้อนุสิทธิบัตรมีความสมบูรณ์ตามกฎหมาย ทำให้อนุสิทธิบัตรเป็นสิทธฺบัตรที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องถูกเพิกถอนไป เนื่องจากทำให้งานประดิษฐ์เป็นงานที่ไม่ใหม่อีกต่อไป

Share this article

Facebook
Twitter
LinkedIn

ปรึกษา IDG

ผู้เชี่ยวชาญของเราพร้อมให้คำแนะนำคุณ

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

ติดต่อทีมผู้เชี่ยวชาญ