– 4 ธันวาคม –
ดีเดย์ทั้งประเทศ
วันสิ่งแวดล้อมไทย..งดใช้พลาสติก
งดใช้พลาสติก งดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว เริ่มกันแล้วในวันสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งปีนี้นอกจากทุกภาคส่วนจะช่วยรณรงค์และขอความร่วมมือให้ทุกคนลดการใช้พลาสติกแล้ว กลุ่มห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อต่างๆ ก็จับมือกันงดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วด้วยเช่นกัน
เรามาลองคิดกันดูนะคะว่า ถ้าเราไม่ใช้ถุงพลาสติกกันเพียงแค่ 1 วัน แต่เป็น 1 วันของทั้งประเทศจะช่วยลดการใช้พลาสติกไปมากแค่ไหน ทั้งนี้มีข้อมูลว่าประเทศไทยมีการใช้ถุงพลาสติกปีละกว่า 7 พันล้านใบ1 หรือหากหารเป็นวันแล้ว เท่ากับว่า เฉลี่ย 1 คนใช้ถุงพลาสติกวันละ 3 ใบ เลยทีเดียว วันนี้ IDG จึงอยากนำเสนอวัสดุและกรรมวิธีในการผลิตบรรจุภัณฑ์ ที่สามารถใช้ทดแทนถุงพลาสติกหรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกต่างๆ มาฝากทุกท่านค่ะ
➊ วัสดุใหม่จากเส้นในธรรมชาติ
วัสดุใหม่จากเส้นในธรรมชาติ โดย บริษัท Paptic Ltd จากประเทศฟินแลนด์ โดยบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวได้จดสิทธิบัตรผ่านระบบ PCT (Patent Cooperation Treaty) เลขที่ประกาศโฆษณา WO2016083667A1 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2559 ในชื่อการประดิษฐ์ Fiber sheet and structure comprising fiber sheets 2
เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมจากเส้นใยชีวภาพ ที่สามารถนำมาใช้ทดแทนถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติกได้ โดยเส้นใยดังกล่าวสามารถนำมารีไซเคิลได้ ทั้งความสวยงามและความทนทานในการใช้งาน ถือได้ว่าไม่น้อยหน้าพลาสติกเลยค่ะ และที่สำคัญส่วนประกอบของบรรจุภัณฑ์วัสดุใหม่นี้ สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติถึง 70 เปอร์เซ็นต์ จึงถือได้ว่าเป็นวัสดุที่จะมาช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วได้อย่างดีทีเดียว 2
➋ กรรมวิธีในการผลิตบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย
อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการใช้โฟมพลาสติก เชื่อว่าหลายคนรู้จักกันดีอยู่แล้วนะคะ กับแบรนด์ที่มีชื่อว่า “Gracs”
กรรมวิธีในการผลิตบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย โดย นายแพทย์วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ ซึ่งบรรจุภัณฑ์ดังกล่าว ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรในประเทศไทย เลขที่อนุสิทธิบัตร 13242 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 ชื่อการประดิษฐ์ กรรมวิธีในการผลิตบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย4
โดยกรรมวิธีในการผลิตบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยตามการประดิษฐ์นี้ ประกอบด้วย การตีปั่นเยื่อชานอ้อย โดยนำเยื่อชานอ้อยไปปั่นเยื่อและเติมนํ้า เพื่อทำการมาตีปั่นเยื่อให้ละเอียด และเติมสารเติมแต่ง (Additive) ลงในเยื่อที่ตีปนเรียบร้อยแล้ว เพื่อเพิ่มความแข็งแรง และเพิ่มความสามารถในการกันนํ้าและนํ้ามัน จากนั้นกรองเยื่อด้วยระบบปนเหวี่ยง (Centi-Cleaner) เพื่อคัดแยกสิ่งสกปรกออกจากนํ้าเยื่อ การปรับความเข้มข้นของนํ้าเยื่อ โดยการเติมนํ้าใหัมีความเหมาะสมสำหรับการนำไปขึ้นรูปชิ้นงาน โดยจะขึ้นรูปชิ้นงานด้วยเครื่อง หลังจากนั้นทำให้ชิ้นงานแห้งและเรียบ พร้อมกับตัดแต่งขอบชิ้นงานด้วยเครื่องดัดขอบ และทำการตรวจสอบชิ้นงานด้วยสายตาและตรวจสอบชิ้นงานด้วยเครื่องตรวจจับโลหะ พร้อมทั้งการฆ่าเชื้อด้วยเครื่อง UV
จะเห็นได้ว่ากว่าจะได้กล่องชานอ้อยสักใบนั้น มีกรรมวิธีการผลิตมากมาย ดังนั้น เราจึงควรใช้กล่องชานอ้อยอย่างรู้คุณค่า ใช้อย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุดด้วยนะคะ
ที่มาของข้อมูล :
- 1 https://www.pptvhd36.com/newsประเด็นร้อน/83354
- 2 https://patentscope.wipo.int/search/en/detail.jsf?docId=US203769312
- 3 ข้อมูลรูปภาพจากเพจ https://www.creativemove.com/design/paptic
- 4 ข้อมูลจากฐานข้อมูลสิทธิบัตรไทย https://www.ipthailand.go.th