OUR BLOG

สิทธิบัตรกัญชา หายนะ..หรือโอกาสของธุรกิจไทย?

ip vision 13 1 2

สิทธิบัตรกัญชา
หายนะ..หรือโอกาสของธุรกิจไทย?

“When you think everything is someone else’s fault, you will suffer a lot. When you realize that everything springs only from yourself, you will learn both peace and joy”Dalai Lama

CannabisBudPatentPending

Source: https://newearth.media

“ ผมตั้งใจเขียนบทความนี้เพื่อสื่อสารให้ผู้ที่สนใจและติดตามข่าวเรื่องสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับกัญชาอยู่ โดยเฉพาะประเด็นการให้บริษัทต่างชาติเข้ามาจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชา ได้เข้าใจสถานการณ์ในมุมมองของ นักกลยุทธ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญา มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาผมรู้สึกว่ามีหลายๆ องค์กร ทั้งภาครัฐ, กลุ่ม NGOs, อาจารย์, นักวิชาการ และนักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ต่างออกมาถกกันในประเด็นทางกฎหมาย เศรษฐกิจ และสังคมท้องถิ่นในมุมมองเชิงลบ และไม่ค่อยก่อให้เกิดประสิทธิผลที่ดีต่อประเทศซักเท่าไหร่นัก

และยังลามไปถึงการที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาไทย ที่ต้องเร่งถอนคำขอที่เป็นเป้าหมายของบางกลุ่ม อีกทั้งบางแหล่งข่าวที่พ่วงเรื่อง พรบ. คุ้มครองพันธุ์พืช เข้ามา ซึ่งอาจทำให้ผู้ติดตามข่าวกังวลเรื่องการผูกขาดสายพันธุ์กัญชาตั้งแต่ต้นน้ำเข้าไปอีก จนทำให้ผมรู้สึกว่าการปลูกฝังมุมมองแนวคิดลักษณะนี้ ไม่ใช่เรื่องผิดก็จริง แต่ถ้าตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลยุคนี้ คือ ต้องการสนับสนุนให้คนไทยสามารถคิดสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ในระดับโลก สามารถปกป้องสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของพวกเขาได้จริง และส่งเสริมการร่วมมือวิจัยพัฒนา และการลงทุนจากบริษัทต่างชาติเข้ามาไทยแล้วละก็ เราคงจะต้องกลับไปศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริง และทำความเข้าใจเหตุผลของฝั่งตรงข้ามให้ได้อย่างถ่องแท้ ก่อนที่จะกลับมาสรุปความเข้าใจ และปรับเปลี่ยนมุมมองของเราเอง

โดยในกรณีของสิทธิบัตรกัญชานี้ ประเทศไทยสามารถแปลงความวิตกกังวลเป็นวิสัยทัศน์ใหม่ของประเทศและโอกาสทางธุรกิจได้ หากเข้าใจกฎเกณฑ์และขั้นตอนที่จำเป็นในการจดทะเบียนสิทธิบัตรระหว่างประเทศ และเริ่มสร้างพอร์ทสิทธิบัตรด้านกัญชาในระดับสากล รวมถึงเรียนรู้วิธีการใช้ข้อมูลสิทธิบัตรที่ดึงมาวิเคราะห์ศึกษาจากทั่วโลกแบบคู่ขนาน เพื่อศึกษากลยุทธ์ของคู่แข่ง หาช่องว่างทางนวัตกรรม หรือพัฒนายอดนวัตกรรมกัญชาในรูปแบบใหม่ที่ดีกว่า มีประสิทธิภาพกว่า และตอบโจทย์ตลาดโลกได้ด้วยเช่นกัน ตามตัวอย่างการวิเคราะห์ข้อมูลสิทธิบัตรใน IP Vision ตอนที่ 11 เรื่อง สร้างนวัตกรรมให้ทันโลกด้วยข้อมูลสิทธิบัตร

19958898 1532090320198397 6818523233460538972 n.jpg? nc cat=110& nc ht=scontent.fbkk22 1

ตามที่นักกฎหมายต่างออกมาชี้แจงให้บางกลุ่มทราบแล้วว่า สารสกัดจากพืชกัญชา ไม่สามารถได้รับความคุ้มครองตามที่ระบุในมาตรา 9 (1) ใน พรบ.สิทธิบัตรไทย แต่กระบวนการในการสกัดสารสำคัญดังกล่าว หรือการนำสารสกัดจากัญชาไปเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของสารผสมของพืชหลายชนิด หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบริสุทธิ์ที่ได้รับจากธรรมชาติโดยตรง ไปเป็นโครงสร้างดัดแปลงที่มีความใหม่ทางพันธุกรรม และ/หรือไม่มีอยู่ตามธรรมชาติจริง ก็อาจได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรได้ หากแต่รัฐบาลไทยจะตัดสินใจใช้มาตรา 9 (5) กับคำขอที่เกี่ยวข้องกับกัญชา ซึ่งระบุว่าการประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับกัญชานั้น ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี อนามัยหรือสวัสดิภาพของประชาชน

ดังนั้น ก็ไม่ควรมีผู้ยื่นคำขอรับจดสิทธิบัตรทั้งไทยและต่างชาติรายใด ได้รับการอนุญาตให้การประดิษฐ์ที่เกี่ยวกับกัญชาได้รับการคุ้มครองในประเทศไทยเลยหรือไม่? จะขัดแย้งกับเทรนด์การลงทุนวิจัยพัฒนาและจดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับกัญชาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่มีจำนวนมากกว่า 60,000 สิทธิบัตร และอีก 90,000 คำขอทั่วโลกหรือเปล่า? เมื่อไม่มีใครสามารถได้รับความคุ้มครองนวัตกรรมด้านกัญชาในประเทศเราได้เลย ผู้ประดิษฐ์หรือบริษัทที่ลงทุนวิจัยพัฒนา ก็จะไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาต่อยอดหรือเข้ามาทำมาค้าขายในประเทศไทยแล้วหรือไม่?

ทั้งนี้ นอกจากข้อมูลดังกล่าวแล้ว ผมอยากแชร์ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า กฎหมายสิทธิบัตรไทยเองนั้น มีส่วนเกี่ยวเนื่องสอดคล้องกันกับกฎหมายสิทธิบัตรระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน และประเทศเรามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องให้มีการให้การปฎิบัติที่เท่าเทียมกัน (Equal National Treatment) กับผู้ยื่นคำขอสัญชาติอื่น ที่เข้ามาขอรับความคุ้มครองในประเทศไทย เปรียบเสมือนคนในชาติตามบทบัญญัติในอนุสัญญากรุงปารีส ว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินอุตสาหกรรม (Paris Covention for Industry Property) ที่เราเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกหรือคู่สัญญา ตั้งแต่ปี 2008 โดยในบริบทเดียวกัน หากผู้ยื่นคำขอสัญชาติไทยต้องการเข้าไปยื่นจดสิทธิบัตรในประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญากรุงปารีส เช่น Argentina ที่เข้าร่วมตั้งแต่ปี 1967 ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรใน Argentina เองก็มีความจำเป็นที่จะต้องให้สิทธิที่เท่าเทียมและยุติธรรมแก่ผู้ยื่นคำขอสัญชาติไทยด้วยเช่นกัน ดังนั้น การที่คนบางกลุ่มไปโวยวายขอให้รัฐบาลไทยเร่งถอนคำขอที่ต่างชาติยื่นเข้ามา โดยไม่เป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้องเหมาะสม หรือไม่ให้รับคำขอสิทธิบัตรจากต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับกัญชาเข้ามาเลย อาจทำให้เราขัดแย้งกับกฎเกณฑ์ที่ระบุในอนุสัญญากรุงปารีส ที่ให้ทุกๆ ประเทศคู่อนุสัญญาจำต้องให้ปฎิบัติตาม ซึ่งหากเรามัวแต่จะเพ่งเล็งหรือกีดกันไม่ให้ต่างชาติเข้ามาจดสิทธิบัตรในประเทศไทย อาจตามมาด้วยผลกระทบเชิงลบต่อประเทศในหลากหลายมิติ เช่น การระงับหรือถอนการลงทุนจากต่างชาติ, การย้ายเงินทุน ฐานผลิตและวิจัยพัฒนาไปยังประเทศเพื่อนบ้านแทน และการระงับการร่วมมือในเชิงเศรษฐกิจ วัฒนธรรม นวัตกรรมและเทคโนโลยีระหว่างประเทศ เป็นต้น

Weed RTSQOUF

Source: https://www.wired.com

บางท่านอาจพอทราบเรื่องกระบวนการยื่นจดในต่างประเทศมาบ้างแล้วนะครับ ว่าผู้ยื่นคำขอเองสามารถขอถือสิทธิตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอครั้งแรก (Right of Priority) ซึ่งโดยปกติเป็นการยื่นคำขอในประเทศแม่ ก่อนที่จะเข้าไปในประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญากรุงปารีสอื่นๆ ต่อไป แต่ในการ Claim Priority Rights จำต้องดำเนินการภายใน 12 เดือน นับแต่วันที่ยื่นครั้งแรก เช่น ยื่นในประเทศไทยวันที่ 1 ม.ค. 2562 ต้องยื่นต่อเข้าไปใน China, Singapore, US, และประเทศอื่นๆ ที่เป็นภาคีสมาชิกภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2562 โดยหากผู้ยื่นคำขอไม่สามารถดำเนินการยื่นต่อในประเทศต่างๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ จะไม่สามารถใช้สิทธิ Right of Prioirty ได้ และอาจจะโดนการปฎิเสธการรับจดทะเบียนในต่างประเทศก็เป็นได้ เนื่องจากไม่สามารถยื่นคำขอเข้าไปภายในระยะอันควร ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ยื่นคำขอหลายๆ ท่านคงจะมองว่า 12 เดือน เป็นช่วงเวลาที่สั้นไปสำหรับการศึกษาตลาดเพื่อการนำสินค้าเข้าไปขาย หรือใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ในประเทศนั้นๆ รวมถึงปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่อาจจะสูงกว่าที่ผู้ประดิษฐ์หรือบางธุรกิจโดยเฉพาะ Start-ups และ SMEs ที่สามารถตั้งงบประมาณขึ้นมาหรือรับได้ภายในระยะเวลาอันสั้น แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเองก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty หรือ PCT) ตั้งแต่ปี 2009 โดยเป็นระบบกลางที่อำนวยความสะดวกในการยื่นระหว่างประเทศ ที่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (World Intellectual Property Organization หรือ WIPO)

paris pct

Source: https://www.wipo.int

ซึ่งในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก PCT นั้น ให้ประโยชน์แก่ผู้ยื่นคำขอสัญชาติไทยอย่างมาก เนื่องจากเป็นระบบที่ให้เวลาถึง 30 เดือน (จาก 12 เดือน) นับจากวันที่ยื่นคำขอครั้งแรก และมีหน่วยงานที่เรียกว่า องค์กรตรวจค้นระหว่างประเทศ (International Search Authority หรือ ISA) โดยมีผู้ตรวจสอบชำนาญการในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง คอยตรวจสอบหรือสืบค้น Prior Arts เบื้องต้น ผ่านฐานข้อมูลสิทธิบัตรต่างๆ เพื่อพิจารณาความใหม่ (Novelty) ขั้นการประดิษฐ์ (Inventive Step) และการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม (Industrial Applicability) ของคำขอนั้นๆ ก่อนส่งกลับไปให้ผู้ยื่นคำขอภายในเดือนที่ 16 เพื่อให้ผู้ยื่นคำขอได้ประเมินถึงโอกาสและความเสี่ยง ที่จะได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตรในประเทศ ที่ต้องการเข้าไปยื่นจดทะเบียนในขั้นตอนภายในประเทศ (National Phase) ภายในเดือนที่ 30 ต่อไป ทางผู้ยื่นคำขอ สามารถนำผลการสืบค้นดังกล่าวมาพิจารณาความเหมาะสมในการตั้งงบประมาณ เพื่อลงทุนจดทะเบียนสิทธิบัตรในประเทศต่างๆ ต่อไป หรือกลับมาปรับปรุงแก้ไขข้อถือสิทธิหรืองานประดิษฐ์ ให้ดีหรือแตกต่างจากสิทธิบัตรก่อนๆ เป็นต้น

โดยรวมแล้ว การที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกของสนธิสัญญา Paris Convention และ PCT นั้น ควรมองเป็นโอกาสของประเทศ..มากกว่าวิกฤตนะครับ เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการ นักวิจัย/ประดิษฐ์ บริษัทต่างๆ ของคนไทย ได้รับประโยชน์มากกว่าครับ แต่เท่าที่ผ่านมาผมยังไม่ค่อยเห็นนวัตกรไทย มีความทะเยอทะยานที่จะเข้าไปขอรับความคุ้มครองในระดับโลกมากเท่าที่ควร (สำหรับ PCT International ค่าเฉลี่ยประมาณ 100 คำขอ/ปี เมื่อเทียบกับ Malaysia ที่ 200 คำขอ/ปี และ Singapore ที่ 800 คำขอ/ปี) ทำให้งานประดิษฐ์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไทยส่วนใหญ่ อาจจะยังไม่สามารถเข้าไปเจาะตลาดในต่างประเทศได้อย่างเข็มแข็งและมีประสิทธิภาพ ด้วยพอร์ทสิทธิบัตรที่ดึงดูดความร่วมมือและความสนใจจากนักลงทุน หรือ Licensees จากต่างประเทศมากนัก  ควบคู่กับการที่ไม่เข้าใจกฎเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการในการจดสิทธิบัตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาจจะทำให้เกิดความกลัวที่จะลงทุนจดทะเบียนสิทธิบัตร เพื่อคุ้มครองนวัตกรรมของตน และอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดมุมมองเชิงลบเกี่ยวกับสิทธิบัตร และการที่บริษัทต่างชาติจะเข้ามาลงทุนจดทะเบียนสิทธิบัตรในประเทศไทยได้ด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ผมแนะนำให้ขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิบัตรหรือตัวแทนสิทธิบัตร เพื่อให้ช่วยคุณประเมินโอกาสและความเสี่ยงต่างๆ ก่อนการจดทะเบียน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยทาง IDG เป็นบริษัทของคนไทยที่ให้บริการครบวงจรด้านสิทธิบัตร ซึ่งสามารถให้คำแนะนำได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ยื่นคำขอประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรม และสร้างพอร์ทสิทธิบัตรที่เข็มแข็งออกสู่ตลาดที่สำคัญทั่วโลก

Share this article

Facebook
Twitter
LinkedIn

ปรึกษา IDG

ผู้เชี่ยวชาญของเราพร้อมให้คำแนะนำคุณ

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

ติดต่อทีมผู้เชี่ยวชาญ