OUR BLOG

ความรู้เกี่ยวกับค่าสิทธิ หรือ Royalty Fee ตอนที่ 1

knight-3

ความรู้เกี่ยวกับค่าสิทธิ หรือ Royalty Fee ตอนที่ 1

ตามพจนานุกรม Royalty หรือที่เราเรียกว่า ค่าสิทธิ นั้น แปลว่า “สัมปทาน”  ซึ่งเป็นคำเดียวกับ “Concession” โดยหลักการแล้วค่าสิทธิจะเกี่ยวข้องกับการที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิผูกขาดในการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรใดๆ มีลักษณะ ของผู้มีสิทธิผูกขาด 2 ลักษณะดังนี้

1. รัฐเป็นเจ้าของสัมปทานสิทธิ : ค่าตอบแทนจากการที่เอกชนมอบให้รัฐ

 สัญญาลักษณะนี้เป็นการที่รัฐให้สิทธิ(franchise) แก่เอกชนในการให้บริการไปจนถึงการที่เอกชนลงทุนสร้าง-ดำเนินการ-โอนทรัพย์สินในโครงการกลับมาเป็นของรัฐเมื่อครบกำหนดโครงการ (Build-Transfer-Operate, BOT)

รัฐเป็นผู้มีสิทธิผูกขาดในการแสวงหาประโยชน์จากการทำกิจการเหมืองแร่ กิจการโทรคมนาคมหรือ กิจการปิโตรเลียม การขนส่ง การป่าไม้ ฯลฯ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับทรัพยากรสาธารณะ แต่หากรัฐไม่ทำเอง ก็อาจจะเปิดโอกาสให้เอกชน เข้ามาประกอบกิจการดังกล่าว ในรูปแบบ “สัญญาสัมปทาน” (Concession Agreement)  โดยเอกชนจะต้องมีการชำระค่าธรรมเนียมรายปี และเงินส่วนแบ่งรายได้ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของ Royalty Fee ให้แก่รัฐ

2. Royalty Right เอกชนเป็นเจ้าของสิทธิ ค่าตอบแทนจากการที่เอกชนมอบให้เอกชน

เอกชนผู้เป็นฝ่ายที่คิดค้นสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ ผ่านรูปแบบงานอันมีลิขสิทธิ์ นวัตกรรม หรือกระทั่งเครื่องหมายการค้าสินค้า/บริการที่ได้มีการวางระบบอย่างดีจนมีชื่อเสียงแพร่หลาย ซึ่งอาจจะอนุญาตให้ผู้อื่นนำงานนั้นไปผลิต ทำซ้ำ เผยแพร่ ดัดแปลง นำไปประยุกต์ใช้ทางอุตสาหกรรม เพื่อจัดจำหน่ายแก่สาธารณชนได้ เช่น เงินได้จากการอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing) ในสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และ เครื่องหมายการค้า เป็นต้น (เรื่องราวการได้รับสิทธิ Royalty Right นี่ค่อนข้างสนุกครับ เดี๋ยวจะมาเล่าในตอนต่อไป)

images (1)

สำหรับตอนนี้จะขอเน้นในกรณีที่ เอกชนเป็นเจ้าของ Royalty Right

ในงาน 1 งาน เราอาจจะอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิได้มากกว่า 1 ราย นั่นหมายถึง งาน 1 งานของเรา จะสร้างรายได้ให้เราในลักษณะ Passive Income โดยที่เราไม่ต้องไปลงแรงกับมันอีกเป็นครั้งที่ 2 (แค่เซ็นสัญญาอนุญาต คลิ๊กเดียว)

ทำไมเราต้องมารู้จักค่าตอบแทนประเภท Royalty Fee…

ก่อนอื่น ผมขอแบ่งเงินได้ในโลกนี้ เป็น 2 ประเภทครับ

  1. Active Income เงินได้จากการทำงาน เช่นเงินเดือน ค่าบริการ หรือเงินได้จากการขายของแบบซื้อมาขายไป
  2. Passive Income เงินได้จากการลงทุน เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า เป็นต้น

โดยหลักการทั่วไป ค่าสิทธิ นี้ผมมองว่ามันเป็น เงินได้ลูกผสม (Hybrid Income) ระหว่าง Active Income และ Passive Income ครับ เพราะในการสร้างสรรค์งานทรัพย์สินทางปัญญา 1 ชิ้น จุดเริ่มต้นนั้น เจ้าของจะต้องมีการลงทุน ลงแรง พอสมควร เช่น ค้นคว้าในการเขียนนิยาย เขียนซอฟท์แวร์ หรือ  Application คิดค้นทดสอบสิ่งประดิษฐ์ คิดค้นสูตรกระบวนการอุตสาหกรรม ที่จะต้องมีการลงมือทำ (Active) เพื่อให้เกิดผลงานนั้นออกมา   เมื่อได้ผลงานนั้นออกมาแล้ว ก็ถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลของมัน  (Harvest) โดยการอนุญาตให้ผู้อื่นใช้ หรือโอนขายสิทธิให้ผู้อื่น ซึ่งการอนุญาตให้ผู้อื่นใช้นั้น ผู้อื่นก็จะตกลงจ่ายค่าตอบแทนในรูปของ Royalty Fee นั้นเอง

ผู้มีสิทธิได้รับ  Royalty Fee

ตัวอย่าง

  • K. Rolling กับนิยายชุด Harry Potter
  • ซอฟท์แวร์ที่ต้องชำระค่าสิทธิในการใช้เป็นรายปี (Office 365)
  • ลิขสิทธิ์ เพลงของ Grammy หรือ ลิขสิทธิ์ การนำ  Sticker ในไลน์ไปใช้
  • สิทธิบัตรการออกแบบ Macbook Pro ของ Apple
  • ภาพยนตร์การ์ตูนของ  Walt Disney
  • ค่าสิทธิ ในการขอประกอบธุรกิจ Franchise ร้านอาหาร KFC

ค่าสิทธิ นั้น เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงภายในประเทศ แต่ยังอาจเป็นธุรกรรมข้ามประเทศอีกด้วย จึงจะต้องมีการโอนเงินค่าตอบแทนนี้ ซึ่งจะเกิดภาระภาษีตามมา อาจกล่าวได้ว่า “ภาษี” จะเป็นตัวกำหนดความหมายดังนี้

ค่าสิทธิตามประมวลรัษฎากร  (มาตรา 40 (3))

  • ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ (Goodwill)
  • ค่าแห่งลิขสิทธิ์ (Copyright)
  • ค่าแห่งสิทธิอย่างอื่น (Any Other Rights)
  • เงินปี (Annuity)
  • เงินได้มีลักษณะเป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคาพิพากษาของศาล

ในส่วนของคำว่า “สิทธิอย่างอื่น” มีคำพิพากษาฎีกาที่ 1271/2531 ได้ให้ความหมายว่าสิทธิอย่างอื่นคือ สิทธิที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับค่าแห่งกู๊ดวิลล์ หรือค่าแห่งลิขสิทธิ์

ค่าสิทธิตาม OECD Model Tax Convention หรือ แม่แบบอนุสัญญาภาษีซ้อน ของ OECD

ในข้อ 12 ได้ให้ความหมายของ ค่าสิทธิ หรือ Royalty ไว้ดังนี้

“ค่า Royalty ให้หมายถึง เงินที่ได้ชำระเพื่อเป็นค่าตอบแทน การใช้, สิทธิในการใช้ซึง:

  • ลิขสิทธิ์ ในงานวรรณกรรม ศิลปกรรม งานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งรวมถึง ภาพยนตร์
  • สิทธิบัตร
  • เครื่องหมายการค้า
  • แบบหรือหุ่นจำลอง (Design or model)
  • แผนผังสูตรลับ หรือ กรรมวิธีลับใด ๆ (Secret formula or process)”
  • ประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พานิชยกรรม หรือ ทางวิทยาศาสตร์ (Information concerning industrial, commercial or scientific experience)”

ความแตกต่างระหว่าง การได้รับเงินได้ประเภทค่าสิทธิ และ การได้รับเงินได้ประเภทอื่นๆ

เพื่อความเข้าใจในเบื้องต้น ขอเปรียบเทียบการสร้างสรรค์งานประเภทลิขสิทธิ์

  1. เงินได้จากการจ้างแรงงาน

กรณีนี้ ผู้คิดค้นงาน จะมีลักษณะเป็นพนักงานประจำตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งจะดัรับค่าตอบแทนในลักษณะค่าจ้างประจำเช่น ค่าจ้างรายวัน หรือ รายเดือน เป็นต้น  แม้ว่าตามกฎหมายลิขสิทธิ์ จะกำหนดให้ ลิขสิทธิ์ในงานนั้นตกเป็นของพนักงาน แต่นายจ้างมีสิทธินำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งในระหว่างสัญญาจ้าง ลูกจ้างอาจไม่มีสิทธินำงานนั้นไปใช้ประโยชน์ส้วนตัวได้ (เพราะอาจเกิดกรณี  conflict of interest) และยังไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนพิเศษในลักษณะ ค่าสิทธิ จากทางบริษัทอีกด้วย

  1. เงินได้จากการรับจ้างผลิต หรือจ้างทำของ

กรณีนี้ ผู้คิดค้นงานจะได้รับค่าตอบแทนในลักษณะค่าบริการ และตามกฎหมายลิขสิทธิ์ กำหนดให้ลิขสิทธิ์ตกเป็นของผู้ว่าจ้างทันที  ผู้ให้บริการไม่มีสิทธิ นำงานนั้นมาแสวงหาประโยชน์อีกต่อไป

  1. เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน

การอนุญาตให้ใช้สิทธินี้ มีลักษณะใกล้เคียงการให้เช่าทรัพย์สินอย่างมาก ซึ่ง การให้เช่าทรัพย์สินนั้น จะต้องเป็น

ทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งสาระสำคัญคือ

  • เป็นเจ้าของทรัพย์สิทธิ์ (เช่น กรรมสิทธิ์ เป็นต้น)
  • เป็นเจ้าของบุคคลสิทธิ (เช่นสิทธิครอบครอง เป็นต้น)

ในขณะที่การอนุญาตให้ใช้สิทธิ จะต้องเป็นสิทธิที่มีกฎหมายอื่นกำหนดไว้เป็นพิเศษ เช่น

  • เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ตาม พรบ. ลิขสิทธิ์
  • เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ตาม พรบ. เครื่องหมายการค้า
  • เป็นเจ้าของสิทธิบัตร ตาม พรบ. สิทธิบัตร เป็นต้น

ความแตกต่างประการสำคัญคือ

  • การให้เช่าทรัพย์สินนั้น จะสามารถให้เช่าได้เป็นครั้งๆ ไป เนื่องจากสภาพจำกัดของตัวทรัพย์สินเอง เช่น การให้เช่าบ้าน เมื่อให้เช่าบ้านหลังนั้นไปแล้ว ก็จะหมดสิทธินำบ้านนั้นออกให้ผู้อื่นเช่าอีก
  • ในขณะที่ การอนุญาตให้ใช้สิทธินั้น สามารถอนุญาตให้ใช้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด

ในตอนต่อไป ผมจะมาเล่าความเจ๋งของเจ้า “ค่าสิทธิ” ให้อ่านกันครับ 

Facebook
Twitter
LinkedIn

บทความล่าสุด

ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ IDG

ผู้เชี่ยวชาญของเราพร้อมให้คำแนะนำคุณอย่างเต็มที่

ติดต่อทีมผู้เชี่ยวชาญ