- ลิขสิทธิ์
- เครื่องหมายการค้า
- สิทธิบัตร
เพราะแต่ละกฎหมายให้ขอบเขตการคุ้มครองที่แตกต่างกันนั่นเอง
เช่นงานอันมีลิขสิทธิ์ ให้ความคุ้มครอง เจ้าของลิขสิทธิ์ อาจจะยาวนานถึง 50 ปี นับแต่วันที่ “ผู้สร้างสรรค์”ถึงแก่ความตาย และไม่ต้องจดทะเบียน ส่วนเครื่องหมายการค้า เมื่อจดทะเบียนก็จะได้รับความคุ้มครอง 10 ปี นับแต่วันที่ยื่นคำขอรับความคุ้มครอง หรือ ถ้าเป็นสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ก็อาจจะได้รับความคุ้มครอง 20 ปี นับแต่วันที่ยื่นคำขอรับความคุ้มครองเช่นกัน
แล้วจะเป็นไปได้ไหมที่ งานอย่างเดียวกันจะได้รับความคุ้มครองหลากหลายกฎหมาย ในคดี ปากกาแลนเซอร์ (คำพิพากษาฎีกาที่ 6379/2537) ปากกาแลนเซอร์ ได้ถูกออกแบบมา 2 รุ่น (model)
- ปากกา รุ่น แคนดี้คอมแพค (CANDY COMPACT) (คิดค้น สร้างสรรค์ และออกแบบระหว่างปี ๒๕๒๒ ถึงปี ๒๕๒๔) ก่อนมีการผลิตและจำหน่าย
- ปากกา รุ่น แลนเซอร์คาเดท (LANCER CADET หรือ CLIC II) (คิดค้น สร้างสรรค์ และออกแบบระหว่างปี ๒๕๒๔ ถึงปี ๒๕๒๖) ก่อนมีการผลิตและจำหน่าย
ปากกาทั้งสองรุ่นได้มีการจดสิทธิบัตรการออกแบบเอาไว้ (สิทธิบัตรการออกแบบมีอายุความคุ้มครอง 10 ปี) ตามหลักทั่วไป ว่ากันว่าขณะที่เกิดเหตุ อายุความคุ้มครองสิทธิบัตรการออกแบบของโจทก์ใกล้จะหมดอายุความคุ้มครองแล้ว โจทก์ก็เริ่มผลิตและ นำปากกาวางตลาด ปรากฎว่า 2527 มีปากกาใช้ชื่อว่า จ๊อต จอย(JOT JOY)วางจำหน่ายในท้องตลาด มีลักษณะเป็นการทำซ้ำดัดแปลงบางส่วนในแบบปากกาแคนดี้คอมแพค และ ปากกาแบบแลนเซอร์คาเดท เมื่อโจทก์นำปากกาแลนเซอร์คาเดทออกวางจำหน่ายได้ประมาณ 1 เดือนก็พบว่าได้มีปากกาที่ใช้ชื่อว่า ติ๊ก แต๊ก(TIK TAK)วางจำหน่ายในท้องตลาด มีลักษณะเป็นการทำซ้ำดัดแปลงบางส่วนในแบบปากกาแลนเซอร์คาเดท
ถึงขั้นนี้ เข้าใจว่าทีมที่ปรึกษาของโจทก์ต้องมาวางวกลยุทธ์กันว่า โดยพิจารณาว่าหากจะฟ้องร้องตามกฎหมายสิทธิบัตร ว่าจำเลยละเมิดสิทธิบัตรของตนก็จะได้รับความคุ้มครองไม่เต็มที จึงฟ้องร้องโดยใช้กฎหมายลิขสิทธิ์
ถึงส่วนนี้ นักกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาก็ได้เห็นต่างเป็นสองมุมมองครับ
- กลุ่มแรก มองว่า โดยเจตนารมณ์ของการสร้างแบบของปากกาทั้งสองรุ่น มีเจตนารมณ์ที่จะนำไปใช้ทางอุตสาหกรรมเป็นหลัก ไม่ได้มุ่งใช้สอยในฐานะงานศิลปะ แบบของปากกาก็ไม่ควรจะถูกมองเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ การยอมให้มีการคาบเกี่ยวของการคุ้มครองจะเป็นการขยายขอบเขตความคุ้มครองให้เจ้าของงานมากเกินไป
- อีกกลุ่มกลับมองว่า ไม่มีกฎหมายกำหนดห้ามในเรื่องขอบเขตของงาน ไม่มีกฎหมายบอกว่าถ้าเป็นงานอันมีสิทธิบัตร จะต้องไม่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ หรือ ถ้าเป็นเครื่องหมายการค้า ก็จะต้องไม่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ และ ความหมายของงานศิลปกรรม ในวรรคท้ายก็ยังบอกว่า
“ทั้งนี้ ไม่ว่างานตาม (1) ถึง (7) จะมีคุณค่าทางศิลปะหรือไม่ และให้หมายความรวมถึงภาพถ่ายและแผนผังของงานดังกล่าวด้วย”
ซึ่งแสดงให้เห็นว่า งานอันมีลิขสิทธิ์ จะไม่มอง “คุณค่าทางศิลปะ” เป็นองค์ประกอบในการพิจารณางาน ในคดีปากกาแลนเซอร์นี้ ศาลมองว่า “…..แบบปากกาเคนดี้คอมแพค และแบบปากกาแลนเซอร์คาเดท เป็นงานสร้างสรรค์อันเกิดจากการนำเอาการสร้างแบบพิมพ์รูปลักษณะของปากกาและแบบแม่พิมพ์ ซึ่งเขียนด้วยลายเส้นประกอบเป็นรูปทรงอันเข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานจิตรกรรม และการสร้างแม่พิมพ์กับหุ่นจำลองของปากกาดังกล่าว ซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้ เข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานประติมากรรมมาประกอบเข้าด้วยกัน และสร้างขึ้นเป็นปากกาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการขีดเขียน เพื่อประโยชน์ทางการค้าอันเป็นประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานจิตรกรรมและประติมากรรมดังกล่าว งานสร้างสรรค์แบบปากกาทั้งสองแบบจึงเป็นงานศิลปประยุกต์อันอาจได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๒๑ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีคุณค่าทางศิลปหรือไม่
คดีนี้จำเลยถูกตัดสินว่าละเมิดลิขสิทธิ์งานศิลปะประยุกต์ของโจทก์
อ้างอิง:
- คำพิพากษาฎีกาที่ 6379/2537
- ปัญหาคาบเกี่ยวระหว่างการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์สิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า [ชัชวาลย์ เสวี]