การจ่ายค่าบริการไปต่างประเทศ มีภาระภาษีอะไรบ้าง?
กรณีนี้ขอกล่าวถึงการหักภาษี ณ ที่จ่ายก่อน เพราะคนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าการจ่ายค่าบริการไปต่างประเทศ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ซึ่งความเป็นจริงจะต้องพิจารณารายละเอียด ดังนี้
1. จ่ายค่าบริการเป็นเงินได้ประเภทใด
2. จ่ายไปประเทศใดมีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทยหรือไม่
วิธีดูการหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับค่าบริการ ให้ดูที่กฏหมาย มาตรา 70 ซึ่งมีใจความว่า
1. เป็นบริษัทต่างประเทศ
2. ที่ไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย
3. แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย
4. เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2)(3)(4)(5) หรือ (6)
ให้นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายภายใน 7 วันของเดือนถัดไป (ภ.ง.ด.54)
วิธีการดูเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการจ่ายค่าบริการให้ดูที่กฏหมาย มาตรา 83/6 ซึ่ง มีใจความว่า
1. ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.104/2544 ) ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 7 วันของเดือนถัดไป(ภ.พ.36)
ตัวอย่าง 1.การจ่ายค่าโฆษณา
บริษัทในประเทศไทยมีการจ่ายค่าโฆษณา Google ให้กับบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกา เรามาพิจารณาว่า ค่าโฆษณา จัดอยู่ในเงินได้ประเภทใด และค่าบริการดังกล่าว เป็นให้บริการในต่างประเทศ และมีการใช้บริการในประเทศไทยหรือไม่
คำตอบ
1. ค่าโฆษณา จัดอยู่ในเงินได้ประเภท 40(8) ไม่ต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย
2. การโฆษณา Google แน่นอนต้องมีคนในประเทศไทยเห็น ถือว่าเป็นบริการในต่างประเทศและมีการใช้บริการในประเทศไทย ต้องนําส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม(ภ.พ.36) และบริษัทผู้จ่ายเงินได้สามารถนําใบเสร็จที่ได้จากกรมสรรพากรมาหักเป็นภาษีซื้อของบริษัทตนเองได้
ตัวอย่าง 2 การจ่ายค่า Software
บริษัทในประเทศไทยซื้อโปรแกรม Software จากคู่ค้าในประเทศสหรัฐอเมริกา เรามาพิจารณาว่า โปรแกรม Software จัดอยู่ในเงินได้ประเภทใด และค่าบริการดังกล่าว เป็นให้บริการในต่างประเทศ และมีการใช้บริการในประเทศไทยหรือไม่
คำตอบคือ
1. ค่าโปรแกรม Software จัดเป็นเงินได้ประเภท 40(3) ค่าสิทธิ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ในการหัก ณ ที่จ่าย 5%
(เพราะประเทศสหรัฐอเมริกา มีการจดอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย ระบุว่าถ้าจ่ายค่า Software ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายเพียง 5%) และนําส่งกรมสรรพากรด้วยแบบ (ภ.ง.ด.54)
2. ค่าโปรแกม Software นั้นถูกนํามาใช้ในประเทศไทย ดังนั้นต้องนําส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% (ภ.พ.36) และบริษัทผู้จ่ายเงินได้สามารถนําใบเสร็จที่ได้จากกรมสรรพากรมาหักเป็นภาษีซื้อของบริษัทตนเองได้เช่นกัน
IDG บริการรับทำบัญชีและภาษี ให้คำแนะนำพื้นฐานทางด้านการจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำบัญชีและภาษี