OUR BLOG

Trade Dress คุ้มครองธุรกิจอย่างรอบด้านด้วย “เครื่องหมายรูปลักษณ์”

Trade Dress คุ้มครองธุรกิจอย่างรอบด้านด้วย “เครื่องหมายรูปลักษณ์”

TRADE DRESS
+ คุ้มครองธุรกิจอย่างรอบด้านด้วย +
เครื่องหมายรูปลักษณ์

idg ip blog 10 pic2

ปัจจุบันนี้ เรามักเห็นร้านค้าต่างๆ ทั้งร้านอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม ฯลฯ มีการออกแบบตกแต่งร้านอย่างสวยงาม และมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเมื่อผู้บริโภคพบเห็นก็ทำให้สามารถทราบได้ทันทีว่าเป็นร้านของผู้ประกอบการรายใด ซึ่งการจัดรูปแบบหรือการตกแต่งเช่นว่านี้อาจถือได้ว่าเป็น เครื่องหมายรูปลักษณ์ (Trade Dress) วันนี้ผู้เขียนจึงถือโอกาสแชร์ความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองตามกฎหมายสำหรับเครื่องหมายรูปลักษณ์ (Trade Dress) โดยสรุปดังนี้ค่ะ

เครื่องหมายรูปลักษณ์ (Trade Dress) หมายถึง การให้ความคุ้มครองเครื่องหมายในภาพรวม เช่น การคุ้มครองฉลากหีบห่อของสินค้า ซึ่งนอกเหนือจากเครื่องหมายการค้า รวมถึงให้ความคุ้มครองการจัดหน้าร้านหรือการตกแต่งสถานที่ให้บริการอันมีลักษณะโดดเด่นเป็นที่จดจำของผู้บริโภค[1]

idg ip blog 10 pic4

แม้ว่าจะมีการให้คำนิยามเกี่ยวกับเครื่องหมายรูปลักษณ์ไว้ แต่สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันนั้นการตีความตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2543 ไม่อาจให้ความคุ้มครองไปถึงรูปแบบการตกแต่งร้านอันเป็นเครื่องหมายรูปลักษณ์ได้ โดยจะเห็นได้จากคำนิยามของเครื่องหมาย ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2543 มาตรา 4 ซึ่งบัญญัติว่า ..

idg ip blog 10 pic1

“เครื่องหมาย” หมายความว่า ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ เสียง หรือสิ่งเหล่านี้อย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน

แต่หากพิจาณาตามกฎหมายเครื่องหมายการค้าของประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวคือ The Lanham Act หรือ Trademark Act 1946 จะเห็นได้ว่า การจัดรูปแบบตกแต่งร้านอันเป็นเครื่องหมายรูปลักษณ์ (Trade Dress) นั้น สามารถได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว โดยศาลฎีกาประเทศสหรัฐอเมริกาได้ให้คำนิยามในการคุ้มครององค์ประกอบโดยรวมในรูปลักษณ์ของสินค้ารวมไปถึงการบริการ เช่น การจัดตกแต่งร้าน เครื่องแบบพนักงาน รวมถึงเทคนิคการขาย ดังที่ปรากฏในคดี Two Pesos, Inc. v. Taco Cabana, Inc. และคดี Wal-Mart Stores, Inc. v. Samara Brothers, Inc.[2]

idg ip blog 10 pic3

อย่างไรก็ดีแม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่สามารถให้ความคุ้มครองแก่เครื่องหมายรูปลักษณ์ (Trade Dress) ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าในการป้องกันการละเมิดอย่างใดๆ ที่อาจเกิดขึ้น ผู้ประกอบการที่มีการจัดรูปแบบตกแต่งร้านอันมีเอกลักษณ์ อาจพิจารณาขอรับความคุ้มครองตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยพิจารณาจากสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่นั้น เช่น หากมีสิ่งประดิษฐ์ใดๆ ที่ใช้ภายในร้าน อาจขอรับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตร หรืออนุสิทธิบัตรแล้วแต่กรณี หรือแม้กระทั่งชื่อร้านที่อาจขอรับความคุ้มครองตามกฎหมายเครื่องหมายการค้า หรือสูตรอาหารที่อาจขอรับความคุ้มครองตามกฎหมายความลับทางการค้า รวมถึงหากมีการสร้างสรรค์งานใดๆ ที่เข้าข่ายขอรับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ได้ ก็อาจขอรับความคุ้มครองตามกฎหมายแห่งการนั้น เป็นต้น

[1] กรมทรัพย์สินทางปัญญา อ้างถึงใน อรพัทธ์ วงศาโรจน์, การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในกรณีการตกแต่งร้าน (วิทยานิพนธ์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, 2556), 17-18.

[2]  มธุรส เจิมจันทร์โสภณ, การคุ้มครองส่วนประกอบของสินค้าหรือบริการ Trade Dress (วิทยานิพนธ์ นิติศาสตรมหาบัณทิต บัณทิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543).

ขอบคุณภาพประกอบจาก : unsplash.com

Share this article

Facebook
Twitter
LinkedIn

ปรึกษา IDG

ผู้เชี่ยวชาญของเราพร้อมให้คำแนะนำคุณ

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

ติดต่อทีมผู้เชี่ยวชาญ