ประเทศจีน หรือสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น เป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังมาแรงในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี สังเกตได้จากสถิติการยื่น
จดสิทธิบัตรในประเทศดังกล่าว โดยในปี 2021 มีคำขอรับสิทธิบัตรระหว่างประเทศ (PCT) จากประเทศจีนมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งมีจำนวนคำขออยู่ที่ 69,540 คำขอ คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 25% ของคำขอรับสิทธิบัตรระหว่างประเทศทั้งหมด ทิ้งห่างจากสหรัฐอเมริกาที่เป็นอันดับที่ 2 ด้วยคำขอรับสิทธิบัตรระหว่างประเทศอยู่ที่ 56,494 คำขอ (21.5%)
สำหรับผู้ประกอบการหรือเจ้าของเทคโนโลยีที่กำลังศึกษาข้อมูลเรื่องการยื่นขอรับสิทธิบัตรในต่างประเทศ ประเทศจีนนั้นเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าสนใจในการยื่นขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรเป็นอย่างมาก เนื่องจากความพร้อมด้านอุตสหกรรมและสาธารณูปโภคของประเทศจีน เจ้าของเทคโนโลยีจาก
ทั่วโลกจึงเลือกที่จะยื่นจดสิทธิบัตรในประเทศจีนเพื่อดำเนินการผลิต ยิ่งไปกว่านั้น การมีสิทธิบัตรของประเทศจีนอยู่ในมือ ก็เป็นการการันตีอีกระดับนึงว่าจะสามารถดำเนินการฟ้องร้องได้ ในกรณีที่เทคโนโลยีของเราถูกละเมิดในประเทศจีน อย่างที่เราเห็นในข่าวค่อนข้างบ่อย อีกประการหนึ่งที่ผู้ประกอบการจำนวนมากเลือกที่จะดำเนินการจดสิทธิบัตรในประเทศจีนนั้นคล้ายกับกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกา ไก้แก่ เนื่องจากประเทศจีนนั้นเป็นตลาดที่ใหญ่และมีผู้ที่ต้องการทำตลาดจำนวนมาก ถึงแม้เราไม่ได้ต้องการวางแผนทำตลาดด้วยตนเองโดยตรง แต่เมื่อเรามีสิทธิบัตรอยู่ในมือแล้ว
เราก็สามารถหาผู้ร่วมทุน รวมถึงขายหรือโอนสิทธิดังกล่าวให้แก่ผู้ประกอบการอื่น ๆ ได้
ในประเทศจีน หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องสิทธิบัตร ได้แก่ สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติจีน หรือ China National Intellectual Property Administration (CNIPA) โดยจะดูแลครอบคลุมไปถึงทรัพย์สินทางปัญญาประเทศอื่น ๆ ด้วย ซึ่งตามปกติแล้ว CNIPA จะมีการดำเนินการตรวจสอบและให้จดทะเบียนที่ค่อนข้างรวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย หากรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์นั้นเป็นไปตามข้อกำหนด นอกจากนี้ CNIPA ยังเป็น 1 ใน 7 สำนักงานรับคำขอที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาไทยอนุมัติให้เป็นสำนักงานตรวจสอบสิทธิบัตรระหว่างประเทศ ในกรณีที่ยื่นขอรับสิทธิบัตรสิทธิบัตรต่างประเทศผ่านกรมทรัพย์สินทางปัญญาไทยอีกด้วย
ประเภทของสิทธิบัตรในประเทศจีน
สำหรับกฎหมายสิทธิของประเทศจีนนั้น มีการกำหนดประเภทของสิทิบัตรไว้ใกล้เคียงกับประเทศไทย ได้แก่
- สิทธิบัตรการประดิษฐ์ (Invention Patent) มีอายุความคุ้มครองอยู่ที่ 20 ปี สิทธิบัตรการประดิษฐ์นั้นสามารถขอถือสิทธิได้ไปจนถึงวิธีการในการผลิต ตัวผลิตภัณฑ์ และส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ โดยจะต้องทำการยื่นขอรับการตรวจสอบการประดิษฐ์ ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายในการขอรับความคุ้มครองที่สูงกว่า รวมถึงใช้ระยะเวลาในการพิจารณาที่ยาวนานกว่า (ประมาณ 3-5 ปี)
- อนุสิทธิบัตร (Utility Model) มีอายุความคุ้มครองอยู่ที่ 10 ปี โดยอนุสิทธิบัตรนั้นสามารถขอถือสิทธิได้เพียงชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่สามารถจับต้องได้ของตัวผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ไม่สามารถครอบคลุมไปถึงวิธีการหรือกระบวนการในการผลิตผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ได้ อนุสิทธิบัตรของประเทศจีนนั้นจะไม่ต้องยื่นขอรับการตรวจสอบการประดิษฐ์ ดังนั้นจึงมีค่าใช้จ่ายและระยะเวลาการพิจารณาที่น้อยกว่า (ประมาณ 12 เดือน)
- สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Industrial Design) มีอายุความคุ้มครองอยู่ที่ 10 ปี คุ้มครองเรื่องรูปร่างและรูปทรงในการออกแบบผลิตภัณฑ์เหมือนกับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของประเทศไทย
วิธีการยื่นขอรับสิทธิบัตรในประเทศจีน
เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ผู้ขอรับสิทธิบัตรสามารถยื่นขอรับความคุ้มครองผ่านระบบการยื่นตรงภายใน 12 เดือนนับตั้งแต่วันที่มีการยื่นคำขอเป็นครั้งแรก หรือยื่นผ่านระบบ PCT ภายใน 30 เดือนนับตั้งแต่มีการยื่นขอรับความคุ้มครองเป็นครั้งแรก
ประเทศจีนนั้นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจในการยื่นขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตร เนื่องจากขนาดของตลาดภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่ ศักยภาพของผู้ผลิตที่ค่อนข้างสูง รวมถึงสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาที่ดำเนินการค่อนข้างรวดเร็ว และค่าใช้จ่ายในการขอรับสิทธิบัตรที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศในโซนยุโรป และสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ การยื่นขอรับสิทธิบัตรในประเทศจีนนั้นมีข้อสังเกตอีกหนึ่งอย่าง คือ การยื่นขอรับสิทธิบัตรในประเทศจีน จะต้องยื่นเป็นภาษาจีนเท่านั้น ดังนั้น ผู้ขอรับสิทธิบัตรอาจต้องเตรียมค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งไว้สำหรับการแปลภาษาไว้ด้วย
เพื่อให้การยื่นขอรับสิทธิบัตรเป็นไปได้อย่างราบรื่น ลดอุปสรรคและความยุ่งยากด้านการตรวจสอบเอกสารและอื่นเอกสารด้วยตนเอง การยื่นขอรับสิทธิบัตรต่างประเทศผ่านตัวแทนที่น่าเชื่อถือนั้นเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากตัวแทนสิทธิบัตรจะเป็นผู้ดำเนินการด้านการตรวจสอบเอกสาร จัดส่งเอกสาร ประสานงานกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงประสานงานกับผู้แปลภาษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแปลสิทธิบัตรโดยเฉพาะ
จึงเป็นการลดโอกาสที่จะเกิดข้อผิดพลาดในการยื่นสิทธิบัตรที่จะนำไปสู่ค่าใช้จ่ายและระยะเวลาการตรวจสอบที่มากขึ้นนั่นเอง
FUN FACT
- บริษัทที่ยื่นขอรับสิทธิบัตรต่างประเทศ (PCT) มากที่สุด 10 อันดับแรกในปี 2021 นั้น เป็นบริษัทสัญชาติจีนถึง 3 บริษัท ได้แก่
- HUAWEI TECHNOLOGIES CO., LTD (อันดับที่ 1) หรือที่คนไทยเรารู้จักกันในชื่อหัวเว่ยนั่นเอง โดยยื่นคำขอ PCT ไปทั้งหมด 6,952 คำขอ
- GUANG DONG OPPO MOBILE TELECOMMUNICATIOND CORPS., LTD (อันดับที่ 6) ซึ่งคนไทยอาจจะคุ้นเคยจากผลิตภัณฑ์สมาร์ตโฟนจากค่าย OPPO
- BOE TECHNOLOGY GROUP CO., LTD. (อันดับที่ 7) สำหรับบริษัทนี้ คนไทยเราอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าไหร่ เนื่องจากไม่ได้มีผลิตภัณฑ์ที่เข้ามาทำตลาดสำหรับผู้บริโภคในประเทศไทยมากนัก แต่บริษัทดังกล่าวนั้นเป็นหนึ่งในผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนมากที่เราใช้กันในปัจจุบัน