3 เหตุผล ทำไมช่วงวิกฤต เป็นเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการปรับโฉมธุรกิจด้วย Intangible Assets?
ปีนี้เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของโลก โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ 2019 ส่งผลกระทบไปทั่วทุกมุมโลกในหลายด้านหลายมิติจริงๆ จำนวนผู้ป่วยโรค COVID-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายๆคนกลัวการติดเชื้อจนกลายเป็นหวาดระแวงตลอดเวลา หลายๆธุรกิจก็เจอปัญหาหนัก เช่น พนักงานติดเชื้อทำให้ต้องปิดบริษัทไปช่วงเวลานึง คู่ค้าต่างชาติลดลงอย่างเห็นได้ชัด นักท่องเที่ยวหาย สนามบินและห้างเงียบกริบ ประเทศอิตาลีถึงกับต้องประกาศปิดประเทศเพื่อยับยั่งการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว ฯลฯ
แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการที่นักธุรกิจอย่างเราหันมาดูแลภายในองค์กรของเรามากยิ่งขึ้น เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจดี ธุรกิจกำลังโต ลูกค้าติดต่อเข้ามาเยอะทำให้เราต้องเร่งขยายตลาด เราอาจจะไม่ค่อยมีเวลามาตรวจสอบโครงสร้างการบริหาร บุคลากร หรือกระบวนการต่างๆภายในสักเท่าไหร่ ผมเองเล็งเห็นความสำคัญด้านวัฒนธรรมองค์กร ที่จะนำมาปรับใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพการของบริษัท และรู้ว่าผมเองต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แต่เนื่องด้วยภารกิจในต่างประเทศทำให้ไม่ได้เริ่มสักที จนมาถึงช่วงที่ไวรัสฯระบาด งานเริ่มหดตัวหรือถูกเลื่อนไปอีกหลายเดือน ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ ทำให้ผมมีเวลากลับมาโฟกัสกับองค์กรมากขึ้น เพื่อการตรวจสอบ ปกป้อง พัฒนาสินทรัพย์ไม่มีตัวตน (Intangible Assets: IA)
โดยผมมีความเชื่อว่าในช่วงที่ธุรกิจกำลังประสบปัญหา เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่เราสามารถกลับมาดูแล IA ของเราให้เข็มแข็งขึ้น เพื่อที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจของเราเติบโตได้อย่างมั่นคง และการตรวจสอบทรัพย์สินทางปัญญา หรือที่เรียกว่า IP Audit นั้น จะเป็นเครื่องมือและกลไกที่สำคัญในการปรับโฉมธุรกิจของคุณเนื่องด้วยเหตุผล 3 ประการดังนี้
ในช่วงที่ธุรกิจกำลังประสบปัญหา เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่เราสามารถกลับมาดูแล IA ของเราให้เข็มแข็งขึ้น เพื่อที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจของเราเติบโตได้อย่างมั่นคง
- IA เป็นตัวขับเคลื่อนประสิทธิภาพที่ทรงพลังที่สุด
เราคงปฎิเสธไม่ได้แล้วว่า intangible assets (IA) เช่น แบรนด์ ดาต้า อัลกอริทึม ใบอนุญาต ใบรับรองมาตรฐาน สิทธิบัตร คอนเนคชั่น ฯลฯ เป็นตัวขับเคลื่อนประสิทธิภาพของธุรกิจที่สำคัญที่สุดในยุคนี้ โดย 90% ของมูลค่าสุทธิของกิจการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมนั้นได้มาจาก IA และมีเพียง 10% ของมูลค่าที่มาจาก tangible assets เช่น ที่ดิน โรงงาน เครื่องจักร อุปกรณ์สำนักงาน ฯลฯ แต่หลายๆธุรกิจก็ยังไม่รู้ว่า IA ที่ตนมีอยู่นั้นคืออะไร แล้วจะปกป้องและใช้มันอย่างไรให้ได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งขั้นตอนแรกที่ธุรกิจต้องทำคือการตรวจสอบ IA ทั้งหมดที่ตนเองมี สอบถามข้อมูล IA เพื่อรวบรวมจากทุกทีมงาน ทุกฝ่าย อย่าถามแต่พวกผู้บริหาร หรือ front office เช่น ทีมขาย การตลาด หรือพัฒนาธุรกิจ แต่ให้รวมไปถึงพนักงานที่อยู่ back office เช่น บัญชี กฎหมาย และ HR แล้วคุณจะเซอร์ไพรส์ว่า IA มีอยู่ทุกที่ในองค์กร ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ก็อาจจะไม่ได้รู้ว่าตัวเองมีส่วนช่วยในการสร้าง IA ชิ้นนั้นขึ้นมา เช่น HR อาจมีการสร้างโปรแกรมการอบรมภายในให้พนักงานช่างเทคนิคที่ต้องการพัฒนาทักษะเฉพาะด้าน หรือกลไกการให้รางวัลส่งเสริมทีมวิจัย เป็นต้น ซึ่งพอเรารู้ว่าเรามีอะไรที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะขององค์กร เราจะเริ่มเห็นชัดขึ้นมาแล้วว่า IA แต่ละตัวมีองค์ประกอบอะไรที่สามารถขอรับความคุ้มครองเป็นทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property: IP) ได้บ้าง เช่นในกรณีของโปรแกรมการอบรมภายใน อาจมีทั้งรูปและเนื้อหาประกอบการอบรมที่เป็นลิขสิทธิ์ขององค์กร ชื่อโปรแกรมอาจเป็นเครื่องหมายการค้า และถ้ามีการใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีประกอบการอบรม ถ้าเครื่องมือนั้นเป็นการประดิษฐ์ใหม่ขึ้นมาเพื่อการอบรม เราสามารถไปดำเนินการขอรับความคุ้มครองเป็นสิทธิบัตร รวมถึงเทคนิคพิเศษหรือ know-hows ที่มีการแชร์กันในห้องเรียน เฉพาะกลุ่ม อาจจะเป็นความลับทางการค้าภายในที่ธุรกิจควรรับทราบและพิจารณาปกป้องให้ดีด้วยเช่นกัน
คุณจะเซอร์ไพรส์ว่า IA มีอยู่ทุกที่ในองค์กร ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ก็อาจจะไม่ได้รู้ว่าตัวเองมีส่วนช่วยในการสร้าง IA ชิ้นนั้นขึ้นมาด้วยซ้ำ
2. ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว คดีความด้าน IP จะมีเพิ่มมากขึ้น กราฟด้านล่างจาก Wilmerhale (2018) แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันดิบและจำนวนการยื่นฟ้องคดีด้านสิทธิบัตร ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมช่วงที่ราคาน้ำมันดิบตกในปี 2013-2015 ถึง 3 เท่าตัว แต่การยื่นฟ้องคดีด้านสิทธิบัตรมีจำนวนสูงขึ้นถึง 3 เท่าด้วยเช่นกัน ทั้งที่ผลกำไรจากกลุ่มผู้ค้าน้ำมันควรลดลงเยอะ ส่งผลต่อการลงทุนที่น่าจะต้องลดลงด้วยเช่นกัน ถึงจะเป็นช่วงปี 2011-2015 แต่อาจสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ เวลาผู้เล่นในอุตสาหกรรมประสบกับปัญหา หรือวิกฤตอะไรบางอย่าง บริษัทเหล่านี้จะเริ่มหาวิธีการหารายได้ทางอื่น และจะเริ่มกลับมาตรวจสอบในองค์กรดูว่ามีอะไรที่เป็นสินทรัพย์ที่สามารถแยกหรือคัดออกมาใช้ประโยชน์เพิ่มเติมได้บ้าง แล้วสิ่งนั้นอาจจะเป็น “สิทธิบัตร” ก็ได้ ทำให้ผู้เล่นที่มีพอร์ทสิทธิบัตรเยอะ สนใจในการตรวจหาผู้ละเมิด และบังคับใช้สิทธิเพื่อเป็นรายได้เสริมให้ตนในเหตุวิกฤตดังกล่าว สำหรับผู้เล่นที่ไม่มีการปกป้อง IP ที่ดีพอ อาจจะโดนดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายจนไม่สามารถกลับมาลืมหูลืมตาได้อีกเลย
3. IA เสริมแกร่งให้ธุรกิจสามารถสร้างรายได้หลายช่องทาง ไม่ต้องถามก็รู้ว่า “รายได้” สำคัญที่สุดในธุรกิจ ถ้ารายได้ลดหาย กำไรไม่มี ธุรกิจก็คงไม่สามารถอยู่ได้ แต่ผมยังเห็นธุรกิจไม่กี่แห่งใช้ประโยชน์จาก IA หรือ IP ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อาจเป็นเพราะยังไม่มีการทำ IP Audit ไม่มีการสร้าง IP portfolio เลยยังไม่เห็นภาพว่าสิ่งที่มีจะเอาไปใช้ประโยชน์ด้วยวิธีอื่นใดนอกจากไว้ปกป้องงานของตัวเองจากผู้ละเมิด ซึ่งการปกป้อง IP ได้ดี ก็ไม่ได้การันตีว่าธุรกิจนั้นจะไปได้รอด และบ่อยครั้งเจ้าของธุรกิจเชื่อว่า IP ที่ตนถืออยู่มีมูลค่าเกินจริง ทุกคนต้องสนใจ แต่มันเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการหรือเปล่าไม่รู้ เจ้าของอาจไม่ได้ตรวจสอบความต้องการให้แน่ชัดก่อนยื่นจดทะเบียน ผลิต และจัดจำหน่ายต่อไป ทำให้มูลค่าของ IP ที่ออกมานั้นไม่ได้สูงเท่าที่ควร ดังนั้น เวลาธุรกิจตัดสินใจว่าจะปรับโฉมตัวเองด้วย IA ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ การตรวจสอบให้ครบถ้วนถึง IA ที่มีอยู่นั้นสำคัญมาก การเข้าใจวิธีการปกป้อง IP ให้ครอบคลุมทุกรูปแบบ โดยมองให้เห็นโอกาสทางธุรกิจก่อนที่จะปกป้องมันเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำเป็นอันดับต้นๆ และโอกาสทางธุรกิจสำหรับการใช้ IA หรือ IP เป็นเครื่องมือนั้น ไม่ได้มีเพียงการใช้เองแต่เพียงผู้เดียว หรือ internal use เช่น ใช้เพื่อปกป้องสินค้าที่ตนขาย ใช้ปกป้องกระบวนการผลิตภายใน แต่ยังสามารถใช้ประโยชน์ด้วยช่องทางอื่นๆได้ เช่น:
-
- ขาย (assignment/sale): ในกรณีที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว แต่ IA/IP นั้นยังมีคุณค่ากับผู้อื่นอยู่
- การอนุญาตใช้สิทธิ (licensing): ในกรณีที่มี IA/IP ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หลักแต่ยังอยากเป็นเจ้าของอยู่ และอยากหารายได้เสริมจากการอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในระยะเวลาหนึ่ง
- การแฟรนไชส์ (franchising): ในกรณีที่มี IA/IP หลายตัวรวมกันที่สามารถอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิเพื่อขยายธุรกิจแฟรนไชส์ได้ในระยะเวลาหนึ่ง
- การร่วมทุน/กิจการร่วมทุน (joint venture): ในกรณีที่ IA/IP ในธุรกิจมีประโยชน์มากกว่าเมื่อนำไปรวมกับ IA/IP ของพันมิตร การนำ IA/IP มารวมกันในธุรกิจร่วมทุนใหม่ อาจสร้าง synergies และโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายในธุรกิจเดิม
- การแยกตัวออกมาเป็นธุรกิจย่อย (spin-off): ในกรณีที่ IA/IP ในธุรกิจมีประโยชน์กว่าเมื่อแยกออกไปเพื่อพัฒนาให้เป็นธุรกิจใหม่เลย การที่ IA/IP อยู่ในธุรกิจเดิมอาจไม่ตอบโจทย์ธุรกิจหรือไม่มีใครใส่ใจกับมันเพียงพอ แยกตัวออกมาอาจจะทำให้ IA/IP ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่กว่าอยู่ในธุรกิจเดิม
วิธีการใช้ประโยชน์จาก IA/IP มีหลากหลายรูปแบบและมีโปรไฟล์ความเสี่ยงไม่เหมือนกัน ยิ่งถ้าเป็นในรูปแบบ spin-off ยิ่งมีความเสี่ยงสูงกว่า แต่อาจให้ผลตอบแทนที่เยอะกว่ารูปแบบอื่น เช่น licensing ก็เป็นได้ ดังนั้น เวลาที่ธุรกิจจะวางกลยุทธ์ด้าน IP ให้เลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ให้คำนึงถึงความเข็มแข็งของ IP portfolio ของเรา ประเมินโอกาส และความเสี่ยงต่างๆให้รอบด้านด้วยเช่นกัน ทั้งหมดที่กล่าวมา ผมอยากชี้ให้เห็นว่าการปฎิรูปธุรกิจด้วย IA ต้องมีการวางแผน ต้องมีการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ ต้องอาศัย teamwork ความร่วมมือจากทุกๆฝ่ายในองค์กร อย่าหวังพึ่งแต่ฝ่ายกฎหมาย หรือปล่อยให้เป็นเรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่ให้เป็นการร่วมมือระหว่างฝ่ายต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการปรับโฉมธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถปกป้องและใช้ประโยชน์จาก IA และ IP ได้จริง แล้วธุรกิจของคุณจะประสบความสำเร็จ แม้ในภาวะวิกฤตครับ