OUR BLOG

สิทธิบัตรกัญชา

กัญชา 02 1

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจัดให้กัญชาเป็นสารเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โดยห้ามมิให้ผู้ใดเสพหรือนำไปใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วย หรือนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และยังกำหนดโทษทั้งผู้เสพและผู้ครอบครองด้วย แต่เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 มีการประกาศพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันถัดไป เพื่อแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ในการใช้ประโยชน์จากการวิจัยสารสกัดจากกัญชาและพืชกระท่อม และเพื่อเปิดโอกาสให้มีการอนุญาตให้ประชาชนใช้กัญชาและพืชกระท่อมเพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคและประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ ซึ่งหลายประเทศก็ได้ให้การยอมรับอย่างแพร่หลายและแก้ไขกฎหมายเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เช่นเดียวกัน  กัญชา จัดเป็นพืชสมุนไพรที่มีสารออกฤทธิ์ (bioactive compounds) มากกว่า 400 ชนิด มีประโยชน์ทางการแพทย์มากมาย ซึ่งมีงานวิจัยและข้อมูลสนับสนุนทางด้านวิชาการอย่างชัดเจน เช่น มีการใช้สำหรับอาการปวดเรื้อรัง โดยเฉพาะอาการปวดที่เกิดจากการมีกระแสประสาทที่ผิดปกติ (neuroleptic pain) หรืออาการปวดที่เกิดจากโรคมะเร็ง (cancer pain) และภาวะกล้ามเนื้อเกร็งเนื่องจากภาวะปลอกประสาทอักเสบ (spasticity due to multiple sclerosis) โดยใช้สาร cannabinoids (CBN) ได้แก่ nabiximol, nabilone, delta-9 tetrahydrocannabinol (THC), cannabidiol (CBD) และ dronabinol การใช้ประโยชน์จากสารเหล่านี้ในต่างประเทศได้มีการพัฒนาและขอจดสิทธิบัตรจำนวนมาก

ภาพรวมของคำขอรับสิทธิบัตรเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้กัญชาจากทั่วโลก

 

1.
รูปที่ 1 คำขอรับสิทธิบัตรเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้กัญชาจากทั่วโลก ระหว่างปี ค.ศ. 2008-2020

จากการสืบค้นฐานข้อมูลสิทธิบัตรทั่วโลกที่มีการยื่นขอรับความคุ้มครองเกี่ยวกับการนำกัญชาและสาร cannabinoids ไปใช้ประโยชน์ ที่ยื่นคำขอระหว่างปี ค.ศ. 2008 จนถึงปัจจุบัน (สืบค้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2020) คำขอถือสิทธิส่วนมากนั้นจะเน้นไปที่การนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และการรักษาโรค เช่น การใช้สาร THC (delta-9 tetrahydrocannabinol) เป็นส่วนประกอบในสูตรยา เพื่อช่วยรักษาอาการกล้ามเนื้อกระตุก นอนไม่หลับ และเบื่ออาหาร รวมถึงมีการขอถือสิทธิในกระบวนการสกัดสาร CBD (cannabidiol) ซึ่งสามารถบรรเทาอาการลมชัก ซึมเศร้า การอักเสบของกล้ามเนื้อ รวมถึงไมเกรน การสกัดสารในกลุ่ม CBN (cannabinoid) ที่สำคัญให้บริสุทธิ์ สำหรับสิทธิบัตรที่มีมูลค่าสูงที่สุด (Highest Market-Valued Patents) คือสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกา เลขที่ประกาศโฆษณา US20190255011A1 ชื่อการประดิษฐ์ “Inhibition of tumour cell migration” ขอถือสิทธิโดย GW Pharmaceuticals บริษัทผลิตและจำหน่ายยาจากประเทศอังกฤษ เป็นการขอถือสิทธิในสารสกัดจากกัญชาหรือสาร cannabinoid ที่เป็นสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมเพื่อยับยั้งการกระจายของเซลล์มะเร็ง

แนวโน้มการขอรับสิทธิบัตรเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้กัญชาในแต่ละปี

จากการสืบค้นฐานข้อมูลสิทธิบัตรทั่วโลกที่มีการยื่นขอรับความคุ้มครองเกี่ยวกับการนำกัญชาและสาร cannabinoids ไปใช้ประโยชน์ ที่ยื่นคำขอระหว่างปี ค.ศ. 2008 จนถึงปัจจุบัน พบสิทธิบัตรที่ประกาศโฆษณาทั้งหมด 9,764 ฉบับ ซึ่งนับเป็น 2,909 patent families หรือ จำนวนครอบครัวสิทธิบัตร กล่าวคือเป็นการนับจำนวนสิทธิบัตรต่อหนึ่งการประดิษฐ์ ไม่มีการนับรวมคำขอจดรับสิทธิบัตรในประเทศที่แตกต่างกันในการประดิษฐ์เดียวกัน (สืบค้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2020) อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข้างต้นนั้นเป็นการรวบรวมจากคำขอรับสิทธิบัตรที่ได้รับการประกาศโฆษณาแล้วเท่านั้น ทำให้ข้อมูลตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019 อาจยังไม่ครบถ้วน ดังที่แสดงในรูปที่ 2 จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 มีอัตราการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนการยื่นคำขอมากที่สุด 1,119 คำขอในปี ค.ศ. 2018 โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสม หรือ CAGR (Compound Annual Growth Rate) ระหว่างปี ค.ศ. 2013-2018 อยู่ที่ 26.4% แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาเพื่อใช้กัญชาหรือใช้สารที่มีประโยชน์ในกัญชานั้นยังคงมีความสำคัญและได้รับความสนใจจากตลาดโลก

การขอรับสิทธิบัตรเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้กัญชารายประเทศ

3. 
รูปที่ 3 ประเทศที่ขอรับสิทธิบัตรเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้กัญชามากที่สุด 10 อันดับแรก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008-2020

จากรูปที่ 3 พบว่าประเทศสหรัฐอเมริกามีการขอรับความคุ้มครองเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้กัญชามากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนกว่า 23.73% รองลงมาคือประเทศจีน และการยื่นจดสิทธิบัตรผ่านระบบ PCT ซึ่งเป็นการยื่นผ่านระบบกลางขององค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก เพื่อดำเนินการยื่นจดสิทธิบัตรในหลายประเทศพร้อมกัน คิดเป็นสัดส่วน 15.57% และ 12.67% ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าประเทศสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับการประยุต์ใช้กัญชามากกว่าประเทศอื่น จากสัดส่วนจำนวนคำขอรับที่มากกว่าทุกประเทศ สำหรับในประเทศไทยนั้น เมื่อกฎหมายได้อนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จากสารสกัดของกัญชา คาดว่าในอนาคตจะมีการขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรในเรื่องดังกล่าว

ตัวอย่างยาจากสารสกัดกัญชา

4. 
รูปที่ 4 ยาเอพิดิโอเล็กซ์ (EPIDIOLEX®)

เอพิดิโอเล็กซ์ (EPIDIOLEX®) เป็นยาน้ำ (Oral Solution) ประกอบด้วยสาร CBD 99% และ THC 0.10% ซึ่งสกัดได้จากกัญชา พัฒนาโดยบริษัท GW Pharmaceuticals ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยาจากประเทศอังกฤษ ยานี้ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ให้ใช้ได้กับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป เพื่อใช้รักษาอาการของโรคลมชัก (Epilepsy) แบบควบคุมไม่ได้ด้วยยา ซึ่งเป็นโรคลมชักชนิดรุนแรงหายาก (rare, severe childhood-onset epilepsies) 2 กลุ่ม ได้แก่ (1) Darvet Syndrome (DS) ซึ่งเป็นโนคลมชักที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่หายากของสมอง และ (2) Lennox-Gastaut Syndrome (LGS) เป็นโรคลมชักอีกชนิดหนึ่งที่พบได้ยากในวัยเด็ก โดยยาดังกล่าวจะช่วยลดความถี่ของอาการชักให้น้อยลง ผลข้างเคียงในการใช้ยานี้คือ อาการง่วงนอน ลดความอยากอาหาร และอาจเป็นอันตรายต่อตับ สตรีมีครรภ์หรือวางแผนที่จะมีบุตรไม่ควรใช้ยานี้ ซึ่งสิทธิบัตรสากล เลขที่ประกาศโฆษณา WO2017025712A1 ชื่อการประดิษฐ์ “Use of cannabinoids in the treatment of epilepsy” เป็นหนึ่งในสิทธิบัตรหลายฉบับที่นำมาพัฒนาเป็นยา EPIDIOLEX® นี้

ทั้งนี้การนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์หรือเพื่อรักษาโรคต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้ได้รับอนุญาตเท่านั้น เนื่องจากอาจส่งผลเสียข้างเคียงในระยะสั้นหรือระยะยาวได้

Share this article

Facebook
Twitter
LinkedIn

ปรึกษา IDG

ผู้เชี่ยวชาญของเราพร้อมให้คำแนะนำคุณ

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

ติดต่อทีมผู้เชี่ยวชาญ