จดมาดริด (Madrid)
– PART 1 –
ระบบมาดริดคืออะไร?
ในยุคปัจจุบันที่ผู้ประกอบการไทยมีกำลังในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ผ่านการขับเคลื่อนและผลักดันจากทั้งหน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชน จนทำให้สินค้าและบริการจากประเทศไทยครองใจผู้คนจากทั่วโลก และมีความต้องการของตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่ต้องสงสัย ทำให้การปกป้องแบรนด์ในต่างประเทศ ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่หรือไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนการทำธุรกิจในต่างประเทศ และควรวางแผนไว้แต่เนิ่นๆ เพราะการจดทะเบียนในแต่ละประเทศก็มีความยากง่ายแตกต่างกันไป
แต่ปัจจุบัน ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ พิธีสารกรุงมาดริด (Madrid Protocol) ว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศภายใต้พิธีสารมาดริด หรือที่เรียกกันว่า “จดมาดริด” ซึ่งทุกท่านคงพอได้ยินกันมาบ้างแล้ว แต่หลายท่านก็คงยังลังเลหรือมีคำถามคาใจเกี่ยวกับระบบทางเลือกนี้ วันนี้ IDG จึงขออาสาเป็นผู้ตอบข้อสงสัยต่างๆ โดยมาเริ่มกันจากสิ่งที่ควรรู้ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจเลือกยื่นจดมาดริด
การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศภายใต้พิธีสารมาดริด มีสถานะเป็นเหมือนระบบการจดทะเบียนคู่ขนาน เป็นทางเลือกหนึ่งที่ไม่ได้เข้ามาแทนที่การจดทะเบียนในต่างประเทศผ่านการยื่นคำขอโดยตรงไปยังสำนักเครื่องหมายการค้าของประเทศนั้นๆ แต่เป็นระบบที่มีข้อดีกว่าดังนี้
- อำนวยความสะดวกช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ขอจดทะเบียน ที่ตั้งใจจะบุกตลาดต่างประเทศหลายๆ ประเทศพร้อมกัน ด้วยที่ระบบมาดริดมีรูปแบบเฉพาะตัวที่อนุญาตให้ผู้ขอจดทะเบียน ยื่นคำขอผ่านสำนักเครื่องหมายการค้าของสำนักงานต้นกำเนิดหรือผ่านประเทศไทยได้
- ประหยัดค่าใช้จ่ายเพราะไม่ต้องตั้งตัวแทนเครื่องหมายการค้าในแต่ละประเทศ และด้วยที่เป็นการยื่นผ่านหน่วยงานกลาง คือ สำนักเครื่องหมายการค้าไทย และ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO)
- ง่ายต่อการติดตามและบริหารจัดการคำขอการจดทะเบียนด้วยระบบมาดริด ไม่จำเป็นจะต้องคอยจดบันทึกข้อมูลวันที่ยื่นคำขอหรือเลขที่คำขอแต่ละประเทศให้ยุ่งยาก
การจดทะเบียนด้วยระบบมาดริด ผู้ขอ จะต้องมีการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ในประเทศไทยก่อน เรียกว่า คำขอพื้นฐาน (Basic Application) หรือเคยได้รับจดทะเบียนในประเทศไทยมาแล้ว เรียกว่า ทะเบียนพื้นฐาน (Basic Registration) โดยจะใช้เลขคำขอ หรือทะเบียนนั้น มาอ้างอิงเป็นคำขอระหว่างประเทศต่อไป
นอกจากนั้น ข้อจำกัดสำคัญที่ควรทราบ คือ คำขอระหว่างประเทศผ่านระบบมาดริด จะต้องมีข้อมูลถูกต้องตรงกันกับคำขอ/ทะเบียนพื้นฐานเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นชื่อและที่อยู่ผู้ขอ ชื่อหรือภาพเครื่องหมายการค้า ตลอดจนจำพวกและรายการสินค้า/บริการ โดยผู้ขอจะไม่สามารถระบุเกินกว่าที่มีในคำขอ/ทะเบียนพื้นฐานได้ ซึ่งข้อนี้ควรจะพิจารณาให้ดีก่อนการยื่นคำขอมาดริด เพราะโดยส่วนมาก ผู้ประกอบการหรือเจ้าของเครื่องหมายการค้ามักจะจดทะเบียนในประเทศไทยโดยระบุรายการสินค้าจำนวนไม่มาก เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าธรรมเนียมของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กรณีเช่นนี้ ก็จะกระทบต่อขอบเขตรายการสินค้าที่สามารถระบุในคำขอมาดริดด้วยเช่นกัน