ลิขสิทธิ์ไม่จำเป็นต้องยื่นเพื่อจดทะเบียนเหมือนกับสิทธิบัตรหรือเครื่องหมายการค้า แต่ก็สมควรยิ่งที่เจ้าของลิขสิทธิ์ยื่นจดอย่างเป็นทางการกับสำนักงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะหากคุณมีแผนที่จะใช้งานลิขสิทธิ์ในทางการค้า เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิที่จะกีดกันผู้อื่นจากการคัดลอก การจำหน่าย การแสดง การเผยแพร่ภาพ หรือการใช้เนื้อหามาดัดแปลง หรือใช้ค้าขายในรูปแบบต่างๆ โดยไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของสิทธิ งานที่มีลิขสิทธิ์ในปัจจุบันมีหลายรูปแบบ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่คุณควรเรียนรู้เพื่อการปกป้องและใช้สิทธิของคุณได้อย่างเต็มที่
ลิขสิทธิ์ คืออะไร ?
สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ริเริ่มโดยการใช้สติปัญญาความรู้ ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะของตนเองในการสร้างสรรค์ โดยไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่น โดยงานที่สร้างสรรค์ต้องเป็นงานตามประเภทต่างๆ ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้คุ้มครอง โดยผู้สร้างสรรค์จะได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์โดยไม่ต้องจดทะเบียน ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์จะมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ เกี่ยวกับงาน ลิขสิทธิ์ของตนโดยกฎหมายลิขสิทธิ์ได้ให้ความคุ้มครองถึงสิทธิของนักแสดง และสร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยี เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย
ลิขสิทธิ์ คือ “ทรัพย์สินทางปัญญา” ประเภทหนึ่งที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ดังนั้น เจ้าของลิขสิทธิ์จึงควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถหาประโยชน์จากงานลิขสิทธิ์ของตนได้
ลิขสิทธิ์ 9 ประเภท มีอะไรบ้าง
โดยทั่วไปแล้ว “งานสร้างสรรค์ที่ผ่านกระบวนการคิด”จะได้รับการคุ้มครองอย่างอัตโนมัติตั้งแต่แรกวันที่เจ้าของได้สร้างสรรค์ขึ้นมา และมีอายุถึง 50 ปีหลังจากเจ้าของลิขสิทธิ์เสียชีวิต หากเป็นงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของนิติบุคคล งานลิขสิทธิ์จะได้รับความคุ้มครองสูงสุด 50 ปีหลังจากวันแรกที่ได้ทำการเผยแพร่
ยึดตามมาตรา 4 ในกฎหมายลิขสิทธิ์ของราชอาณาจักรไทย งานที่มีลิขสิทธิ์ประกอบไปด้วย 9 ประเภท
- งานวรรณกรรม เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ คำปราศรัย รวมทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Coding, Source Code)ด้วย
- งานการแสดง นาฏกรรม เช่น งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว
- งานวิจิตรศิลป์ ศิลปกรรม
- ภาพวาด
- ประติมากรรม
- งานพิมพ์
- งานตกแต่งสถาปัตย์
- ภาพถ่าย
- ภาพวาดเขียน แผนที่ ภาพร่าง
- งานประยุกต์ศิลป์ (งานประยุกตศิลป์ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ 25 ปีหลังจากวันจัดสร้าง)
- งานดนตรีกรรม เช่น คำร้อง ทำนอง การเรียบเรียง เสียงประสาน และโน้ตเพลง
- งานสิ่งบันทึกเสียง เช่น เทปเพลง ซีดีเพลง แผ่นเสียง
- งานโสตทัศนวัสดุ เช่น วีซีดี วีดิโอเทป แผ่นดิสก์ที่บันทึกข้อมูลภาพและเสียงเอาไว้
- งานภาพยนตร์ เช่น ภาพยนตร์ รวมทั้งเสียงประกอบด้วย
- งานแพร่เสียงแพร่ภาพ เช่นการแพร่ภาพกระจายเสียง ทางวิทยุ หรือโทรทัศน์
- งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ
ประโยชน์ของลิขสิทธิ์
1. ประโยชน์ต่อเจ้าของลิขสิทธิ์
การคุ้มครองลิขสิทธิ์ย่อมเกิดแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ เนื่องจากเจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายและเป็นผู้มีสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณะ ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนา หรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้ลิขสิทธิ์ของตนเองได้ โดยที่เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องได้ค่าตอบแทน
2. ประโยชน์ต่อประชาชนและผู้บริโภค
การคุ้มครองลิขสิทธิ์ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนให้กล้าคิดและสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าสู่สาธารณะมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคได้บริโภคงานที่มีคุณภาพ
อายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์
โดยทั่วไป การคุ้มครองลิขสิทธิ์เริ่มทันทีหลังจากงานถูกสร้างสรรค์ออกมา และจะมีอายุการคุ้มครองตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และคุ้มครองไปอีก 50 ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม อายุการคุ้มครองอาจแตกต่างออกไปตามประเภทผู้สร้างสรรค์และประเภทผลงาน ดังนี้
- กรณีมีผู้สร้างสรรค์งานคนเดียว ลิขสิทธิ์จะอยู่ตลอดอายุขัยและคุ้มครองต่อไปอีก 50 ปีหลังผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต
- กรณีมีผู้สร้างสรรค์หลายคน ลิขสิทธิ์จะอยู่ตลอดอายุขัยของผู้สร้างสรรค์ และอยู่ต่อไปอีก 50 ปี หลังผู้สร้างสรรค์คนสุดท้ายเสียชีวิต
- กรณีผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล ลิขสิทธิ์จะมีอายุ 50 ปี นับตั้งแต่ได้สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา หรือนับตั้งแต่มีการโฆษณางานนั้นครั้งแรก
- กรณีผู้สร้างสรรค์ใช้นามแฝงหรือไม่ปรากฏชื่อ ลิขสิทธิ์จะมีอายุ 50 ปี นับตั้งแต่ได้สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา
- งานภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ลิขสิทธิ์จะมีอายุ 50 ปี นับตั้งแต่ได้สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา หรือนับตั้งแต่มีการโฆษณาขึ้นครั้งแรก
หลักเกณฑ์ในการพิจารณางานลิขสิทธิ์
- เป็นงานที่แสดงออกถึงความคิด (expression of idea)
- เป็นงานที่ริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยตนเอง (originality)
- การทุ่มเทกำลัง ความรู้ ความสามารถ ความตั้งใจวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์ (sweat & labour and judement)
- มีลักษณะเข้าข่ายตามประเภทของงานที่กฎหมายลิขสิทธิ์รับรอง
- เป็นงานที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดี
สิ่งที่ยื่นแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ไม่ได้
- ความคิด ขั้นตอน กรรมวิธี ระบบ วิธีใช้หรือวิธีทำงาน แนวความคิด หลักการ การค้นพบ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์
- ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่างๆที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร
- รัฐธรรมนูญและกฎหมาย
- ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือท้องถิ่น
- คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานทางราชการ
- คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่างๆ ตามข้อ 2-5 ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานใดของรัฐหรือของท้องถิ่นที่จัดทำขึ้น
เอกสารสำหรับจดลิขสิทธิ์
- แบบคําขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ (ลข.01) Downlaod > แบบฟอร์มคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ (ลข.01) (moc.go.th)
- ผลงานสร้างสรรค์ที่ต้องการจดลิขสิทธิ์
- สําเนาบัตรประชาชน เจ้าของผลงาน
- สําเนาบัตรประชาชนผู้ร่วมสร้างสรรค์ผลงาน (ถ้ามีผู้ร่วมสร้างสรรค์)
- หนังสือมอบอำนาจ (ในกรณีจดในนามบริษัท หรือใช้ตัวแทน)
ระยะเวลาการดำเนินการ
หลังจากจดแจ้งลิขสิทธิ์ หรือยื่นจดแจ้งกับนายทะเบียนเพื่อพิจารณาอนุมัติ ใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์
จดลิขสิทธิ์ที่ไหนได้บ้าง ?
การจดลิขสิทธิ์สามารถจดได้ 2 รูปแบบ คือ
- ยื่นจดลิขสิทธิ์ด้วยตัวเอง ซึ่งสามารถยื่นขอจดลิขสิทธิ์ได้ที่ส่วนบริหารงานจดทะเบียน (ชั้น 3) สำนักสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ หรือที่พาณิชย์จังหวัด และสามารถยื่นจดลิขสิทธิ์แบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ https://copyright.ipthailand.go.th/
- ใช้บริการยื่นจดลิขสิทธิ์กับผู้ให้บริการอย่าง IDG ผู้ให้บริการบริการด้านลิขสิทธิ์แบบครบวงจร ตั้งแต่ให้คำปรึกษา ร่างสัญญาด้านทรัพย์สินทางปัญญา และอำนวยความสะดวกด้วยบริการยื่นจดแจ้งลิขสิทธิ์
การจดลิขสิทธิ์ เสียค่าอะไรบ้าง ?
ปัจจุบันไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจดลิขสิทธิ์
ในการยื่นจดลิขสิทธิ์ ผู้ยื่นควรเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน ศึกษาขั้นตอนให้ละเอียด และติดตามผลหลังจากยื่นจด เพื่อให้การจดลิขสิทธิ์สำเร็จลุล่วง หรืออีกแนวทางหนึ่ง คือ เลือกใช้บริการยื่นจดลิขสิทธิ์กับทาง IDG ที่พร้อมอำนวยความสะดวกในการยื่นจดลิขสิทธิ์ และมีบริการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาพื่อประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่ให้ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ได้
เพิ่มเติม
- คุณสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์และงานชนิดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ได้ที่นี่ หรือที่นี่
- เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องเข้าใจและรับทราบว่ากฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองเฉพาะการแสดงออกของความคิดเท่านั้น แต่ไม่ใช่ความคิดหรือไอเดียในตัวของมันเอง ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ใดนำเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของวรรณกรรมของคุณไปใช้และเขียนเผยแพร่ความคิดของคุณด้วยประโยคของเขาเอง โดยไม่ทำให้คุณเสื่อมเสียหรือสูญเสียรายได้ นั่นก็อาจไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ อีกทั้งหากผู้ใดผู้หนึ่งสร้างงานสร้างสรรค์คล้ายคลึงเหมือนกับงานของคุณ แต่ได้แสดงออกให้เห็นชัดเจนว่าเขาได้ใช้ความคิดของตนเองในการสร้างงาน ไม่ได้ไปเอามาจากที่อื่นใด ลักษณะนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของคุณเช่นกัน
- ดังนั้น ก่อนที่คุณจะฟ้องผู้ที่อาจละเมิดลิขสิทธิ์ คุณควรมีหลักฐานการเป็นเจ้าของสิทธิอย่างชัดเจน ประกอบกับคำยืนยันจากทนายความหรือผู้เชี่ยวชาญแล้วเท่านั้น คุณจึงสามารถฟ้องหรือคัดค้านผู้ที่ละเมิดงานของคุณได้อย่างมั่นใจ ไม่เสี่ยงถูกฟ้องกลับ
- อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณต้องการได้รับการคุ้มครองไอเดียของคุณ คุณควรยื่นจดเป็นสิทธิบัตร แต่ก็ต้องทำการสำรวจก่อนว่าไอเดียของคุณนั้นเข้าเกณฑ์ข้อใด ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากหัวข้อ การยื่นจดสิทธิบัตร นอกเหนือจากนี้หากคุณต้องการใช้งานออกแบบกราฟิก รูปถ่าย หรือภาพวาดใดๆ เพื่อการยื่นจดเป็นโลโก้บริษัทหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ คุณควรตรวจสอบข้อมูลในหัวข้อ การจดเครื่องหมายการค้า