OUR BLOG

พันธุ์พืชสามารถขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรได้หรือไม่ ?

เปิดก่อนได้เปรียบ พาแบรนด์แจ้งเกิด 3

               สำหรับหลาย ๆ คนที่มีประสบการณ์ในด้านกฎหมายหรือเทคโนโลยี อาจเคยมีการศึกษาระบบสิทธิบัตรในต่างประเทศมาบ้าง โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทุกต่างเคยเห็นข่าวพาดหัวกันในไทม์ไลน์ไม่เว้นแต่ละวัน ถึงการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญากันระหว่างผู้เล่นต่าง ๆ ในตลาด รู้หรือไม่ว่า นอกจากทรัพย์สินทางปัญญาในประเภทหลัก ๆ ที่เราเคยได้เห็นกันมาผ่านตา เช่น ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า หรือสิทธิบัตรแล้ว ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ยังมีระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา  ที่น่าสนใจอีกประเภท นั้นก็คือ “สิทธิบัตรพันธุ์พืช” หรือ “Plant Patent” นั่นเอง ซึ่งความคุ้มครองประเภทนี้ ได้มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวมาเป็นระยะเวลากว่า 90 ปีเลยทีเดียว 

ขึ้นชื่อว่า สิทธิบัตร (Patent) แล้ว ก็ย่อมต้องมีวัตถุประสงค์หลักในการคุ้มครอง การประดิษฐ์ (Invention) นั่นเอง โดยคำว่าการประดิษฐ์นั้น สามารถครอบคลุมรวมถึงทั้ง ผลิตภัณฑ์ (Product) และกรรมวิธี (Process) ซึ่งหมายความว่า ในกรณีหากได้รับความคุ้มครองในส่วนของสิทธิบัตรพันธุ์พืชนั้น เรียกได้ว่าจะขอถือสิทธิได้ตั้งแต่ วิธีการจัดเตรียม วิธีการปลูก และวิธีการขยายพันธุ์ ตลอดจนลำต้น กิ่ง ผล ราก หรือดอกของพืชชนิดนั้นเลย หากได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของสิทธิบัตรพันธุ์พืชนั้นแล้ว แทบจะหมดโอกาสสำหรับคู่แข่งในการผลิต ขยายพันธุ์ จำหน่าย หรือนำเข้าพืชชนิดนั้นไปเลยตลอดอายุของสิทธิบัตรพันธุ์พืชฉบับนั้น หรือ 20 ปี นับตั้งแต่วันที่มีการยื่นขอรับความคุ้มครอง

หลักเกณฑ์ในการตรวจสอบการประดิษฐ์ของสิทธิบัตรพันธุ์พืช

ในสหรัฐอเมริกา หลักเกณฑ์ในการตรวจสอบการประดิษฐ์ของสิทธิบัตรพันธุ์พืชจะเหมือนกับสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลย นั่นก็คือ 

  1. ความใหม่ (Novelty)
  2. ขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น (Inventive Step)
  3. การประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม (Industrial Applicability)

สิทธิบัตรพันธุ์พืช สามารถขอรับความคุ้มครองในประเทศไทยได้หรือไม่ ?

ถ้าเปรียบเทียบกันระหว่างสิทธิบัตรพันธุ์พืชของประเทศสหรัฐอเมริกา และการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ของประเทศไทย เรียกได้ว่า ขอบเขตการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่จะมีขอบเขตความคุ้มครองที่น้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยหลักการแล้ว ผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชใหม่จะมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการผลิต ขาย จำหน่าย นำเข้า และส่งออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ (เช่น เมล็ด หรือกิ่งสำหรับปักชำ เป็นต้น) แต่จะไม่ได้รับสิทธิ
แต่เพียงผู้เดียวในส่วนของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ หรือกระบวนการในการผลิต ยืดอายุ รวมถึงแปรรูปของพืชชนิดนั้นดังเช่นสิทธิบัตร นอกจากนี้ ยังมีข้อยกเว้นบางประการสำหรับเกษตรกร (Farmer Exemption) ในการนำพันธุ์พืชใหม่ไปใช้ประโยชน์ โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้ทรงสิทธิ ได้แก่ 

  1. การกระทำโดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นส่วนขยายพันธุ์ เช่น ขายเป็นผลผลิต 
  2. การศึกษา ค้นคว้า ทดลอง หรือวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์หรือพัฒนาพันธุ์พืช 
  3. การกระทำโดยสุจริตหรือไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า 
  4. เกษตรกรสามารถเพาะปลูกจากส่วนขยายพันธุ์ที่ตนเองผลิต (แต่อาจไม่เกิน 3 เท่าของปริมาณที่ได้รับมา ในกรณีที่รัฐมนตรีประกาศให้เป็นพันธุ์พืชที่ควรส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์ให้เกษตกร)

ในการพิจารณาและขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ในประเทศไทย หน่วยงานที่มีหน้าที่ดังกล่าว ได้แก่ สำนักคุ้มครองพันธุ์พืข กรมวิชาการเกษตร สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยในการขอรับความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่นั้น จะต้องเป็นพืชที่อยู่ในบัญชีรายชื่อพืชที่สามารถจดทะเบียนได้ มีการตั้งชื่อที่ถูกต้องตามข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติ เช่น ต้องตั้งชื่อด้วยภาษาไทย ไม่เป็นชื่อของพระราชวงศ์ ไม่โอ้อวดสรรพคุณจนเกินจริง หรือไม่ทำให้สาธารณชนเกิดความสับสน นอกจากนี้ พันธุ์พืชที่จะขอรับความคุ้มครองต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ 

  1. ความใหม่ (Novelty) ในส่วนนี้ก็จะมีลักษณะเหมือนกับสิทธิบัตรเลย กล่าวคือ ต้องไม่เคยมีการเปิดเผยต่อสาธารณะชนมาก่อน ไม่ว่าจะภายในหรือภายนอกประเทศไทย แต่สำหรับพันธุ์พืชแล้ว จะให้นับที่สามารถเปิดเผยได้เป็นหนึ่งปีก่อนหน้าที่จะมีการยื่นขอรับความคุ้มครอง เนื่องจากบางครั้งพืชอาจต้องมีการปรับปรุงพันธุ์ หรือขยายพันธุ์จำนวนหลายรุ่น ก่อนที่จะมีคุณสมบัติตรงตามที่ขอรับความคุ้มครองได้ นอกจากนี้ พันธุ์พืชใหม่นั้นจะต้องมีความแตกต่างที่เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูก การบริโภค การผลิต และเภสัชกรรมอีกด้วย 
  2. มีความแตกต่างจากพันธุ์อื่น (Distinctness) กล่าวคือ พันธุ์พืชใหม่จะต้องมีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างจากพืชชนิดเดิมอย่างชัดเจน เช่น ขนาดของผล ความแข็งของลำต้น หรือสีของดอก รวมถึงลักษณะทางชีวภาพ เช่น ใช้น้ำในการเจริญเติบโตน้อยกว่า สามารถขยายพันธุ์ได้ในสภาพภูมิอากาศแปรปรวน หรือทนต่อสภาวะดินเค็มอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้น 
  3. มีความสม่ำเสมอ (Uniformity) กล่าวคือ พืชดังกล่าวจะต้องแสดงความแตกต่างจากพันธุ์อื่นได้อย่างสม่ำเสมอ นั่นก็คือ เมื่อมีการขยายพันธุ์พืชประเภทนั้น พืชดังกล่าวจะต้องแสดงความแตกต่างหรือมีลักษณะเฉพาะตามที่แจ้งไว้ในทุกต้นที่มีการเพาะขึ้น 
  4. มีความคงตัว (Stability) กล่าวคือ พืชทุกรุ่นที่มีการขยายพันธุ์จะต้องแสดงความแตกต่างหรือมีลักษณะเฉพาะตามที่แจ้งไว้เมื่อขอรับความคุ้มครอง โดยไม่เกิดการกลายพันธุ์หรือแสดงลักษณะเด่นที่น้อยลงในรุ่นหลัง ๆ ที่มีการเพาะปลูกขึ้นใหม่ 

เช่นเดียวกับสิทธิบัตร พันธุ์พืชใหม่ที่มีการขอรับความคุ้มครองต่างก็มีอายุความคุ้มครองที่จำกัด ก่อนที่จะตกเป็นของสาธารณชน รวมถึงต้องมีการชำระค่าต่ออายุรายปี เพื่อรักษาสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของพันธุ์พืชนั้น ๆ โดยอายุความคุ้มครองของพันธุ์พืชใหม่จะขึ้นอยู่กับประเภทของพืชที่มีการขอรับความคุ้มครอง 

  1. พืชที่ให้ผลผลิตไม่เกิน 2 ปี เช่น มะเขือเทศ แตงกวา ดาวเรือง จะมีอายุความคุ้มครองอยู่ที่ 12 ปี 
  2. พืชที่ให้ผลผลิตเกินกว่า 2 ปี เช่น มะม่วง ทุเรียน จะมีอายุความคุ้มครองอยู่ที่ 17 ปี 
  3. พืชที่ใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ เช่น สัก จะมีอายุความคุ้มครองอยู่ที่ 27 ปี 

นอกจากนี้ ในการนำพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นไปพัฒนาสายพันธุ์เป็นพันธุ์พืชใหม่ พระราชบัญญัติดังกล่าวยังกำหนดให้ผู้ทรงสิทธิจะต้องแบ่งผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ในเชิงพาณิชย์จากพืชจากชนิดนั้น ให้แก่ชุมชนหรือท้องถิ่นนั้น ๆ อย่างเป็นธรรมอีกด้วย

การเปรียบเทียบระหว่างสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร และการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่
 

สิทธิบัตรการประดิษฐ์

อนุสิทธิบัตร

การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่

สิทธิบัตรพันธุ์พืช (อเมริกา)

หน่วยงานผู้รับผิดชอบ

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ 

สำนักคุ้มครองพันธุ์พืข ภายใต้กรมวิชาการเกษตร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าแห่งสหรัฐ (USPTO)

ขอบเขตความคุ้มครอง

กระบวนการ และวิธีการในการประดิษฐ์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการผลิตด้วยวิธีเฉพาะนั้น ๆ 

 

ส่วนขยายพันธุ์ของพืชชนิดใหม่ 

(เช่น เมล็ด กิ่งสำหรับปักชำ)

ตัวพืชชนิดใหม่ (รวมถึงลำต้น ดอก
และผล) วิธีการเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์ วิธีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพืชชนิดนั้น 

ข้อยกเว้นในการนำไปใช้โดยไม่

ละเมิดสิทธิของผู้ทรงสิทธิ

สิทธิแต่เพียงผู้เดียว เว้นแต่มีคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี
ในการนำไปใช้ในกรณีฉุกเฉิน หรือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน 

อนุโลมให้เกษตรกรนำไปใช้ได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด

สิทธิแต่เพียงผู้เดียว เว้นแต่มีคำสั่งใน
การนำไปใช้ในกรณีฉุกเฉิน หรือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน

หลักเกณฑ์ในการพิจารณา 

  • ความใหม่ 
  • ขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น 
  • การประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม 
  • ความใหม่
  • กาประยุกต์ใชในอุตสาหรรม 

ความใหม่ 

ความแตกต่างจากพันธุ์อื่น 

ความสม่ำเสมอ 

ความคงตัว 

  • ความใหม่ 
  • ขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น 
  • การประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม 

อายุความคุ้มครอง 

20 ปี

10 ปี

12 ปี / 17 ปี / 27 ปี

20 ปี

การต่ออายุ

จำเป็น

การขอรับความคุ้มครองในต่างประเทศ

12 เดือนนับตั้งแต่วันที่มีการยื่นคำขอเป็นครั้งแรก

มีการคุ้มครองเฉพาะในสหรัฐอเมริกา

ข้อสังเกตในการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ คือ การคุ้มครองดังกล่าวจะคุ้มครองในส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่เท่านั้น สำหรับการประดิษฐ์ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ วิธีการเฉพาะในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า คงคุณภาพ หรือยืดอายุการเก็บรักษา วิธีการเฉพาะในการเพิ่มผลิตผล รวมถึงการประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตัดพันธุ์กรรมของพืช สามารถขอรับความคุ้มครองในส่วนของสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรได้ตามปกติ 

ข้อดีของการขอรับความคุ้มครอง 

  1. สร้างข้อได้เปรียบในการเป็นเจ้าของสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการเป็นเจ้าของส่วนขยายพันธุ์ของพืชชนิดใหม่นั้น ๆ 
  2. สร้างข้อได้เปรียบในเชิงการตลาด 
  3. เพิ่มมูลค่าและความน่าเชื่อถือให้แก่องค์กร 
  4. เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในต่างประเทศ 
  5. เปิดโอกาสให้มีการร่วมทุนกับต่างประเทศ  

บทสรุป 

สำหรับเจ้าของเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมด้านการเกษตร ที่ต้องการขอรับความคุ้มครองนั้น อาจจะต้องเริ่มต้นด้วยการพิจารณาว่าต้องการขอรับความคุ้มครองในส่วนใด หากเป็นส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่แล้ว สามารถขอรับความคุ้มครองในประเภทการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ได้ แต่หากเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเดังกล่าว มีความเกี่ยวข้องกับวิธีการหรือกระบวนการต่าง ๆ ที่มีลักษณะเฉพาะ ก็อาจขอรับความคุ้มครองในส่วนของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ หรืออนุสิทธิบัตรได้ ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์หรือแผนการดำเนินธุรกิจของเจ้าของเทคโนโลยีดังกล่าว 

แต่ในกรณีที่เจ้าของพันธุ์พืชใหม่ มีความประสงค์ที่จะขอรับความคุ้มครองในประเภทสิทธิบัตรจริง ๆ เพื่อต้องการสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในพันธุ์พืชนั้น ๆ สามารถขอรับความคุ้มครองในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ เนื่องจากสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา ได้อนุญาตให้ผู้ที่ไม่ได้ถือสัญชาติอเมริกาขอรับความคุ้มครองในสิทธิบัตรพันธุ์พืชได้ ทั้งนี้ สิทธิบัตรพันธุ์พืชในสหรัฐอเมริกา ถูกจัดเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทสิทธิบัตร หมายความว่า ความเป็นผู้ทรงสิทธินั้นจะมีขอบเขตอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ไม่สามารถขยายความคุ้มครองมาในประเทศที่ไม่มีกฎหมายรับรองเรื่องสิทธิบัตรพันธุ์พืชได้ 

ทั้งนี้ ทั้งสิทธิบัตรพันธุ์พืชและการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ตนอกเหนือจากข้อได้เปรียบที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ยังมีต้นทุนในการขอรับความคุ้มครองและข้อสังเกตที่แตกต่างกันอีกด้วย การขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการวางแผนกลยุทธ์ในการขอรับความคุ้มครองจึงเป็นทางเลือกที่ดีในการดำเนินการใช้สิทธิในเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมทางการเกษตรให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์มากที่สุด 

Share this article

Facebook
Twitter
LinkedIn

ปรึกษา IDG

ผู้เชี่ยวชาญของเราพร้อมให้คำแนะนำคุณ

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

ติดต่อทีมผู้เชี่ยวชาญ