OUR BLOG

Road to the South การยื่นสิทธิบัตรในประเทศมาเลเซีย

idg cover content 20

ตามที่ได้มีการสัญญากันไว้ในตอนที่แล้ว สำหรับบทความตอนนี้ เราจะมาทำการอธิบายถึงระบบการยื่นสิทธิบัตรในประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเราอย่างประเทศมาเลเซีย ซึ่งประเทศมาเลเซียนั้น นอกเหนือจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเงินที่มีความโดดเด่นแล้ว ในส่วนภาคการผลิต ประเทศมาเลเซียยังขึ้นชื่อในเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยางพาราแปรรูป และเคมีภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปปิโตรเลียมนั่นเอง โดยสังเกตได้จากบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศ นอกจากนี้ ประเทศไทยและประเทศมาเลเซียยังมีมูลค่าทางการค้าในแต่ละปีที่ค่อนข้างสูง โดยผลิตภัณฑ์หลักที่ประเทศไทยมีการส่งออกไปขายที่ประเทศมาเลเซียได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม ยางพารา และชิ้นส่วนรถยนต์ เรียกได้ว่า สินค้าส่งออกของประเทศไทยที่ส่งไปยังมาเลเซีย และธุรกิจของบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศมาเลเซีย มีความเกี่ยวข้องกันอย่างเห็นได้ชัดนั่นเอง 

สำหรับระบบสิทธิบัตรของประเทศมาเลเซียนั้น เรียกได้ว่าค่อนข้างคล้ายคลึงกับประเทศสิงคโปร์มากเลยทีเดียว ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องการจดทะเบียนสิทธิบัตรของประเทศมาเลเซีย ได้แก่ “The Official Portal of Intellectual Property Corporation of Malaysia” หรือ “MyIPO” นั่นเอง ซึ่งเป็นอีกสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาอีกประเทศนึงที่เรียกได้ว่าดำเนินการตรวจสอบสิทธิบัตรได้ค่อนข้างเร็ว เมื่อเทียบกับมาตรฐานของประเทศในอาเซียนด้วยกัน

ระบบสิทธิบัตรในประเทศมาเลเซีย 

1. Patent 

สำหรับการคุ้มครองในประเภทของ Patent ในประเทศมาเลเซียนั้น หากเปรียบเทียบกับของไทยจะมีความใกล้เคียงกับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ (Invention Patent) นั่นเอง โดยจะมีเงื่อนไขในการพิจารณารับจดทะเบียน ได้แก่ ความใหม่ ขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และประประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม โดยความคุ้มครองในประเภทดังกล่าวจะมีอายุความคุ้มครองอยู่ที่ 20 ปี นับตั้งแต่วันที่มีการยื่นขอรับความคุ้มครองเป็นครั้งแรก 

 

2. Utility Solution 

ในการคุ้มครองในประเภทดังกล่าว หากเปรียบเทียบกับของประเทศไทยจะมีความใกล้เคียงกับอนุสิทธิบัตร (Petty Patent) ซึ่งจะมีเงื่อนไขในการพิจารณาในการรับจดทะเบียน ได้แก่ ความใหม่ และการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การยื่นขอ Utility Solution ในประเทศมาเลเซียจะมีข้อควรระวัง คือ จะมีการจำกัดข้อถือสิทธิได้เพียง 1 ข้อในแต่ละคำขอ จึงควรมีการปรึกษากับตัวแทนสิทธิบัตรที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อทำการยุบรวมข้อถือสิทธิให้เหลือเพียงข้อเดียว แต่สามารถครอบคลุมขอบเขตความคุ้มครองให้ได้มากที่สุด โดยความคุ้มครองในประเภทนี้ จะมีอายุการคุ้มครองอยู้ที่ 10 ปีนับตั้งแต่วันที่มีการยื่นคำขอเป็นครั้งแรก แต่ทั้งนี้ ผู้ขอถือสิทธิจะสามารถยืนคำขอขยายระยะเวลาการถือครองสิทธิได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 5 ปี ดังนั้น ความคุ้มครองประเภทนี้จึงสามารถให้ความคุ้มครองได้ถึง 20 ปี เลยทีเดียว
โดยจะถือเป็นดุลยพินิจของผู้ตรวจสอบในการอนุมัติคำขอขยายระยะเวลาการขอถือสิทธิดังกล่าว

 

3. Industrial Design 

Industrial Design หรือสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ จะให้ความคุ้มครองถึงรูปร่าง รูปทรง หรือสีของผลิตภัณฑ์ โดยความคุ้มครองดังกล่าวของประเทศมาเลเซียจะมีความพิเศษ คือ มีอายุความคุ้มครองอยู่ที่ 5 ปีนับตั้งแต่วันที่มีการยื่นคำขอเป็นครั้งแรก โดยจะต่ออายุได้ครั้งละ 5 ปี ยาวนานไปจนถึง 25 ปีเลย 

ประเทศมาเลเซียนั้นได้ลงนามในสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตรระหว่างประเทศ ดังนั้น ผู้ยื่นคำขอจึงสามารถยื่นคำขอเข้าประเทศมาเลเซียได้ทั้งผ่านระบบการยื่นตรง (Direct Route Entry) และผ่านระบบ PCT (PCT National-phase Entry) ซึ่งการมีการยื่นผ่านระบบในอย่างหลัง จะสามารถลดค่าธรรมเนียมในการขอให้มีการตรวจสอบการประดิษฐ์ได้เล็กน้อย 

ข้อสังเกตในการยื่นสิทธิบัตรในประเทศมาเลเซีย

นอกเหนือจากเรื่องการจำกัดข้อถือสิทธิเพียงข้อเดียวในอนุสิทธิบัตรดังที่กล่าวไว้ในด้านบน การยื่นสิทธิบัตรในประเทศมาเลเซียมีข้อสังเกตอยู่อีกหนึ่งข้อ ได้แก่ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรการประดิษฐ์ อนุสิทธิบัตร หรือสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ทั้งหมดนี้จะต้องทำการยื่นขอให้มีการตรวจสอบการประดิษฐ์ ผู้ยื่นคำขอจึงควรเผื่อระยะเวลาและค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินการในขั้นตอนดังกล่าวไว้ด้วย 

ยิ่งไปกว่านั้น การยื่นคำขอรับสิทธิบัตรในประเทศมาเลเซียนั้น สามารถยื่นคำขอพร้อมรายละเอียดการประดิษฐ์ได้ด้วยภาษาอังกฤษ จึงช่วยในการประหยัดค่าใช้จ่ายในการแปลภาษาออกไป เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ 

ในส่วนของกระบวนการขอเร่งรัดการตรวจสอบ นอกเหนือจากจะสามารถเร่งรัดผ่านโครงการ ASPEC ที่เป็นโครงการร่วมกันระหว่างสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาประเทศต่าง ๆ ของอาเซียนแล้ว MyIPO ยังได้มีการทำสัญญาเร่งรัดการตรวจสอบการประดิษฐ์ หรือ “Patent Prosecution Highway (PPH)” กับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาในอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานสิทธิบัตรญี่ปุ่น (JPO) สำนักงานสิทธิบัตรยุโรป (EPO) สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศจีน (CNIPA) สำนักงานสิทธิบัตรแห่งประเทศเกาหลี (KIPO) และสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (USPTO) ซึ่งผลการตรวจสอบการประดิษฐ์จากสำนักงานเหล่านี้ สามารถนำมาใช้ในการเร่งรัดขั้นตอนการตรวจสอบการประดิษฐ์ในประเทศมาเลเซียได้ 

 

โดยสรุปแล้ว ประเทศมาเลเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีมูลค่าทางการค้ากับประเทศไทยที่ค่อนข้างสูงในแต่ละปี รวมถึงมีสำนักงานสิทธิบัตรที่เป็นดำเนินการค่อนข้างไว้และระบบสิทธิบัตรที่เข้มแข็ง สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการยื่นคำขอได้ รวมถึงมีความร่วมมือกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาในอีกหลายประเทศที่จะสามารถช่วยเหลือในการเร่งรัดขั้นตอนการตรวจสอบการประดิษฐ์ได้อีกด้วย 

Share this article

Facebook
Twitter
LinkedIn

ปรึกษา IDG

ผู้เชี่ยวชาญของเราพร้อมให้คำแนะนำคุณ

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

ติดต่อทีมผู้เชี่ยวชาญ