5G (5th Generation of Cellular Mobile Communications) กำลังเป็นประเด็นร้อนที่ใคร ๆ ก็ต่างพูดถึงและเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อ ในฐานะที่มันจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกของเราให้ล้ำสมัยกว่ายุค 4G หรือ 3G หลายร้อยพันเท่า
เมื่อ 5G มีความรวดเร็วกว่าสามารถตอบสนองได้อย่างทันทีทันใด (real-time) ทั้งยังสามารถรับส่งและถ่ายโอนข้อมูลได้มากขึ้น รับรองการใช้งานแต่ละพื้นที่ได้กว้างกว่า รวมถึงสามารถเชื่อมโยงทุกอุปกรณ์ให้เข้ากับอินเตอร์เน็ตได้ทุกสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์พูดได้ ห้องครัวพูดได้หรือบ้านพูดได้ คงไม่ไกลเกินความจริง
แต่ดูเหมือนว่าทุกอย่างกำลังจะเริ่มต้นในเร็ว ๆ นี้ เมื่อหลากหลายค่ายโทรศัพท์ยักษ์ใหญ่ประกาศลั่นในงาน Mobile World Congress 2019 จัดขึ้นที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 25 – 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่าจะนำ 5G มาใช้ภายในปีนี้
นั่นหมายความว่า ชีวิตประจำวันของมนุษย์เราจะสะดวกสบายมากขึ้น และแน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงจะไม่ได้อยู่เพียงเท่านั้น แต่จะลงลึกไปถึงภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ และนี่คือ 3 อุตสาหกรรมตัวอย่างที่จะถูก 5G เปลี่ยนโฉมใหม่สู่โลกอนาคต
อุตสาหกรรมยานยนต์: สร้างท้องถนนปลอดภัย
- ส่งเสริมระบบการทำงานของรถยนต์ไร้คนขับให้มีประสิทธิภาพ โดยนำระบบ AR เพื่อถ่ายทอดเส้นทางการเดินทางที่มีความละเอียดสูงอย่างทันทีทันใดและไม่ติดขัด
- รถยนต์สามารถติดต่อสื่อสารกับรถยนต์ด้วยกันเองเพื่อตรวจเช็คหรือเข้าถึงข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเดินทางนั้น ๆ เช่น สภาพอากาศ สภาพการจราจรหรือเส้นทางการเดินทาง เพื่อทำให้ตลอดการเดินทางมีความปลอดภัยสูงสุด
- ผู้ขับขี่และผู้โดยสารเพลิดเพลินกับการเดินทางที่สามารถเข้าถึงบริการสตรีมมิ่งขนาดใหญ่และมีความคมชัดสูงไปพร้อม ๆ กับมั่นใจว่าจะเดินทางอย่างปลอดภัย
อุตสาหกรรมทางการแพทย์: เพิ่มโอกาสในการรักษา พัฒนาระบบสาธารณสุข
- ส่งเสริมระบบการทำงานของ telemedicine ช่วยให้ผู้ป่วยและแพทย์สามารถวินิจฉัยอาการในเบื้องต้นได้ผ่านหน้าจอซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่อยู่นอกตัวเมืองหรือต่างอำเภอ
- เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพให้กับการทำงานของหน่วยแพทย์นอกสถานพยาบาลสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินหรือพื้นที่เสี่ยงภัยต่าง ๆ
- เพิ่มความเร็วในการสื่อสาร ส่งต่อและเข้าถึงข้อมูลขนาดใหญ่ภายในโรงพยาบาล เช่น ไฟล์ MRI หรือ ภาพทางการแพทย์ต่าง ๆ สำหรับการตรวจวินิจฉัยและประเมินแนวทางในการรักษา
อุตสาหกรรมการผลิต: พัฒนาประสิทธิภาพอุตสาหกรรมการผลิต
- นำเทคโนโลยีหรือหุ่นยนต์เข้ามาทำงานที่อันตรายหรือมีความซ้ำซ้อนสูงแทนมนุษย์ ส่งผลให้อุบัติเหตุจากการทำงานลดลง
- สามารถสั่งปฏิบัติการในระยะไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันทีทันใด เช่น ควบคุมการผลิตสินค้าหรือการตรวจประเมินสินค้าต่าง ๆ
- เพิ่มประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการทำงานให้กับหุ่นยนต์หรือระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ภายในโรงงานให้มีความแม่นยำและทันทีทันใด