OUR BLOG

ตัวอย่างสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์และสิทธิบัตรการประดิษฐ์แตกต่างกันอย่างไร

58583729_2436205279935836_1776823125632090112_n
 สำหรับท่านที่เคยศึกษา หรือกำลังศึกษาเกี่ยวกับการจดสิทธิบัตร น่าจะเคยผ่านตาคำว่า “สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์” และ “สิทธิบัตรการประดิษฐ์” มาบ้างแล้วนะครับ ซึ่งสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นศึกษา หรือผู้ที่ไม่เคยศึกษามาก่อนเลย ก็อาจจะเกิดความสับสนว่าทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ และถ้าไม่ มันแตกต่างกันอย่างไร

วันนี้ทาง IDG จึงขอยกตัวอย่างสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ และสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของทาง “ฮอนด้า” ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิต และจำหน่ายรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นที่ท่านผู้อ่านน่าจะรู้จักกันดี เพื่อใช้ในการอ้างอิง และแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างบางส่วนของสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ และสิทธิบัตรการประดิษฐ์ให้กับผู้อ่านทุกท่านครับ

 

เริ่มต้นด้วย สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่คำขอ 0102002570 ชื่อผลิตภัณฑ์ “เครื่องยนต์สันดาปภายใน” ครับ

สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์

และ สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่คำขอ 9601004303 ชื่อสิ่งประดิษฐ์ “ระบบหล่อลื่นในเครื่องยนต์ 4 จังหวะ” ครับ

 
สิทธิบัตรการประดิษฐ์
 
 

โดยทาง IDG ขอทำการยกตัวอย่างความแตกต่างในเบื้องต้นดังนี้ครับ

 
  • 1. “ข้อถือสิทธิ”

    ซึ่งจะเห็นได้ว่าข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้น เป็นการกล่าวอย่างง่าย เพื่อขอความคุ้มครองเฉพาะ “รูปร่าง ลักษณะ รวมถึงลวดลาย” ตามภาพแสดงครับ

    ในขณะที่สิทธิบัตรการประดิษฐ์นั้นเป็นการขอรับความคุ้มครองในส่วนของ “กลไก, ฟังก์ชั่น, เครื่องมือ, อุปกรณ์, ชิ้นส่วนเชิงวิศวกรรม, สูตร หรือ กรรมวิธี” ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการบรรยายถึงการทำงานของสิ่งประดิษฐ์อย่างชัดแจ้ง และรัดกุมในส่วนของข้อถือสิทธิครับ 

  • 2. “ภาพแสดง”

    ของสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้น จำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึงแบบผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน ไม่ปิดบังรูปทรง และรายละเอียดที่ต้องการขอความคุ้มครอง ซึ่งต้องประกอบไปด้วยรูปด้านหน้า ด้านบน ด้านข้าง และทัศนียภาพที่สัมพันธ์ซึ่งกันและกันครับ โดยอาจใช้ภาพถ่ายเพื่อแสดงให้เห็นถึงแบบผลิตภัณฑ์ได้เช่นกัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าภาพแสดงนี้เป็นส่วนหลักสำคัญของสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์นี้ครับ
    ในขณะที่สิทธิบัตรการประดิษฐ์นั้น เป็นการใช้ภาพเขียนเพื่อการอธิบาย หรือขยายความจากข้อถือสิทธิ หรือรายละเอียดการประดิษฐ์ให้มีความชัดแจ้ง และรัดกุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากการใช้ภาพเขียนสิ่งประดิษฐ์ตามหลักวิชาการเขียนแบบแล้ว ยังสามารถใช้แผนภูมิ, กราฟ หรือแผนผัง ในการอธิบายร่วมกันได้เช่นกันครับ

 

ซึ่งจากสองข้อที่กล่าวมานั้น ทำให้ขอบเขตความคุ้มครองที่ได้รับของสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ และสิทธิบัตรการประดิษฐ์แตกต่างกันอย่างมากครับ กล่าวคือ ในสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้น จะเป็นการขอรับความคุ้มครองเฉพาะรูปลักษณ์ภายนอกเช่น รูปร่าง และลวดลาย โดยไม่คำนึงถึงการใช้สอย หรือฟังก์ชั่นการทำงานใด ๆ ในขณะที่สิทธิบัตรการประดิษฐ์นั้น เป็นการขอรับความคุ้มครองการทำงาน ของสิ่งประดิษฐ์, กลไก, ฟังก์ชั่น, เครื่องมือ, อุปกรณ์, ชิ้นส่วนเชิงวิศวกรรม, สูตร หรือ กรรมวิธีครับ

และนอกจากทั้งสองข้อที่กล่าวมานั้น ยังมีความแตกต่างในรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย ระหว่างสิทธิบัตรทั้งสองประเภทครับ เช่น ขั้นตอนการดำเนินการขอรับความคุ้มครอง, หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการตรวจสอบ หรือรูปแบบการใช้ภาพแสดง ที่มีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันในการวาด เป็นต้น ประกอบกับการที่สิทธิบัตรทั้งสองประเภทนั้น ต่างให้ความคุ้มครองในส่วนที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิบัตร ก่อนดำเนินการจดทะเบียน หรือร่างสิทธิบัตรใด ๆ เพื่อเลือกจดทะเบียนสิทธิบัตรให้ถูกต้องตรงตามความต้องการ และสามารถขอรับความคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ได้อย่างครอบคลุมครับ

Share this article

Facebook
Twitter
LinkedIn

ปรึกษา IDG

ผู้เชี่ยวชาญของเราพร้อมให้คำแนะนำคุณ

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

ติดต่อทีมผู้เชี่ยวชาญ