สิทธิบัตรต่างประเทศ เข้าใจใน 10 นาที

Untitled 1500 × 600 px 1400 × 600 px

สารบัญสิทธิบัตรต่างประเทศ

ทำไมต้องจดสิทธิบัตรต่างประเทศ

   อย่างที่ทุกท่านพอจะทราบกันดีในปัจจุบันนั้นการค้าและการลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ นั้นไม่ได้ถูกจำกัดแค่ในประเทศไทยอีกต่อไป การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ได้ทำการลดควาสำคัญของเขตแดนระหว่างประเทศต่าง ๆ ให้สามารถติดต่อค้าขายกันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น โลกของเราจึง ได้เข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalization) อย่างสมบูรณ์ โดยภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว นอกจากทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายที่ง่ายขึ้นของสินค้าและการลงทุนแล้ว ยังส่งผลให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในประเทศต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก 

   อย่างไรก็ดีในการคิดค้นเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมานั้น ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าจำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุนในการค้นคว้าและวิจัยจำนวนมหาศาล การที่จะมีผู้อื่นมาแสวงหาผลประโยชน์จากสิ่งประดิษฐ์ของเรานั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ ดังนั้น เจ้าของสิ่งประดิษฐ์จำนวนมากจึงเลือกที่จะทำการจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ของตนเองเพื่อขอรับความคุ้มครองทางกฎหมาย รวมถึงสามารถบริหารในการใช้ประโยชน์จากการประดิษฐ์ของตนในวิธีการอื่น ๆ เช่น โอน ขาย หรือให้เช่ากรรมสิทธิอย่างถูกต้องอีกด้วย 

   หลักการสำคัญอย่างหนึ่งของความคุ้มครองประเภทสิทธิบัตรคือ สิทธิบัตรจะมีขอบเขตความคุ้มครองเฉพาะในประเทศที่มีการยื่นและได้รับการจดทะเบียนเท่านั้น ซึ่งการยื่นขอรับความคุ้ม-ครองครบทุกประเทศในโลกนั้น อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เนื่องจากจะนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายและระยะเวลาจำนวนมหาศาลโดยปกติแล้วหลักเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาประเทศที่จะยื่นขอรับความคุ้มครองนั้น คือ เป็นประเทศที่ได้มีการวางแผนที่ จะเข้าไปทำการตลาดหรือตั้งฐานการผลิต ประเทศที่วางแผนว่าจะไปลงทุน ขายกรรมสิทธิหรือให้เช่ากรรมสิทธิ รวมถึงประเทศที่มีแนวโน้มที่จะมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงนั่นเอง

    โดยสรุปแล้วการยื่นจดสิทธิบัตรของตนเองไปยังต่างประเทศจึงถือว่าเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมของตนเองไปแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ

การขอถือสิทธิย้อนหลังมายังคำขอที่ยื่นไว้เป็นที่แรก

   ในการยื่นสิทธิบัตรในต่างประเทศนั้น วิธีการที่นักวิจัยหรือผู้ประกอบการนิยมใช้ในการยื่นเพื่อให้ได้ประโยชน์มากที่สุด เรียกว่า “การยื่นแบบขอถือสิทธิย้อนหลัง” หรือ “Filing with Priority Request” นั่นเอง ซึ่งการขอถือสิทธิย้อนหลังก็คือเป็นการยื่นโดยขอให้คำขอที่มีการยื่นใหม่ในต่างประเทศนั้น เป็นคำขอถึงอ้างอิงถึงคำขอที่เคยยื่นไว้ก่อนหน้าในประเทศแรกนั่นเอง 

   ยกตัวอย่างเช่น นายสมเกียรติยื่นสิทธิบัตรการประดิษฐ์ไว้ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้ในเดือนมกราคม จากนั้นถ้านายสมเกียรติต้องการขยายความคุ้มครองโดยการไปยื่นขอรับความคุ้มครองที่ประเทศจีนและประเทศเวียดนาม หากเป็นไปตามเงื่อนไข นายสมเกียรติสามารถยื่นโดยให้คำขอของประเทศจีนและประเทศเวียดนามอ้างอิงมาถึงคำขอรับสิทธิบัตรประเทศไทยได้โดยเงื่อนไขที่ว่า คือ

สิทธิบัตรการประดิษฐ์ หรือ อนุสิทธิบัตร

 1. กรณีที่เป็นสิทธิบัตรการประดิษฐ์ หรือ อนุสิทธิบัตร จะต้องยื่นภายใน 12 เดือน นับตั้งแต่วันที่มีการยื่นคำขอเป็นครั้งแรก

 2.กรณีที่เป็นสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์  จะต้องยื่นภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่มีการยื่นคำขอเป็นครั้งแรก

ซึ่งเงื่อนไขทั้งสองข้อนั้น เป็นเงื่อนไขสากลที่ใช้กับการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรทั่วโลก ไม่จำกัดไว้เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้น โดยปกติแล้วหากสามารถขอถือสิทธิย้อนหลังได้ ก็จะแนะนำให้ยื่นขอถือสิทธิย้อนหลังในทุกกรณี เนื่องจากจะมีผลกระทบโดยตรงกับการได้รับจดทะเบียน ดังที่กล่าวไปในด้านบน สิทธิบัตรถูกประเภทจะต้องมีการตรวจสอบในเรื่องของความใหม่ ซึ่งถ้าหากเราไม่ได้ยื่นขอถือสิทธิย้อนหลังเพื่ออ้างอิงถึงคำขอที่เราเคยยื่นไปก่อนหน้าแล้ว ก็มีโอกาสที่ผู้ตรวจสอบจะตรวจค้นความเหมือนแล้วไปพบกับสิ่งประดิษฐ์ที่เราเคยยื่นแล้วเมื่อก่อนหน้า คำขอที่เรายื่นก็จะสูญเสียความใหม่ไป ถึงแม้ว่าผู้ยื่นคำขอจะเป็นคนเดียวกันก็ตาม ข้อได้เปรียบอีกอย่างหนึ่งของการถือสิทธิย้อนหลังก็คือ ในกรณีที่ยื่นไว้ในหลายประเทศและมีการได้รับจดทะเบียนในประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็จะสามารถนำผลการสืบค้นไปเร่งรัดกระบวนการตรวจสอบในอีกประเทศหนึ่งได้ แต่ทั้งนี้ในกรณีดังกล่าว จะขึ้นอยู่กับระเบียบของประเทศนั้น ๆ ว่าได้มีการทำสัญญาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลผลการสืบค้นกับประเทศใดไว้บ้าง
โดยสรุปแล้ว เรียกได้ว่าการยื่นสิทธิบัตรต่างประเทศให้ทันภายในกรอบระยะเวลาที่สามารถขอถือสิทธิย้อนหลังได้นั้น เป็นหัวใจสำคัญในการยื่นสิทธิบัตรต่างประเทศเลยทีเดียว

ช่องทางในการยื่นจดสิทธิบัตรในต่างประเทศ

   ปัจจุบัน สิทธิบัตรการประดิษฐ์ และอนุสิทธิบัตร สามารถยื่นขอรับความคุ้มครองในต่างประเทศผ่านทาง 2 ช่องทาง ได้แก่ การยื่นผ่านระบบการยื่นตรง และการยื่นผ่านระบบสิทธิบัตรระหว่างประเทศ

1.การยื่นสิทธิบัตรผ่านระบบการยื่นตรง (Direct Route Entry)
   สำหรับการยื่นสิทธิบัตรผ่านระบบการยื่นตรงจะมีความเรียบง่ายตามชื่อเลย โดยลักษณะก็จะเป็น  การยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไปยังสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศปลายทางโดยตรง ซึ่งถ้าหากมีการ  ยื่นขอถือสิทธิย้อนหลังมายังคำขอประเทศไทย ก็จะต้องดำเนินการทำเรื่องขอคัดหนังสือรับรองจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา แต่หนังสือรับรอง 1 ฉบับนั้น จะสามารถยื่นเข้าประเทศปลายทางได้เพียงประเทศ  ที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองเท่านั้น เพราะฉะนั้นแล้ว หากผู้ยื่นคำขอต้องการขอรับความคุ้มครองใน 5 ประเทศ    ก็จะต้องขอคัดหนังสือรับรองจำนวน 5 ฉบับ จึงอาจจะไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการขอรับความคุ้มครองในหลาย ๆ ประเทศ
   นอกจากนี้ การยื่นสิทธิบัตรผ่านระบบการยื่นตรงจะต้องยื่นขอรับความคุ้มครองภายใน 12 เดือนนับตั้งแต่วันที่มีการยื่นขอรับความคุ้มครองเป็นครั้งแรก การยื่นสิทธิบัตรผ่านระบบการยื่นตรงจึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีแผนชัดเจนอยู่แล้วว่าจะยื่นในประเทศใดบ้าง รวมถึงไม่มีข้อจำกัดอื่น ๆ ที่จะเป็นอุปสรรค์ที่จะทำให้ไม่สามารถยื่นได้ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด

2.การยื่นผ่านระบบสิทธิบัตรระหว่างประเทศ (Patent Cooperation Treaty / PCT)
   Patent Cooperation Treaty หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “สนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร”เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวก ลดภาระ ขั้นตอน และค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ขอรับสิทธิบัตรที่ต้องการยื่นคำขอในหลาย ๆ ประเทศ โดยผู้รับคำขอสามารถยื่นคำขอระหว่างประเทศเพียงครั้งเดียวเพื่อยื่นขอรับความคุ้มครองในประเทศที่เป็นสมาชิกในสนธิสัญญาได้
    การยื่น PCT จะต้องยื่นภายใน 12 เดือนนับตั้งแต่วันที่มีการยื่นคำขอรับความคุ้มครองเป็นครั้งแรกเช่นกัน แต่หากมีการยื่น PCT ไปแล้ว จะขยายระยะเวลายื่นเข้าไปในแต่ละประเทศไปอีก 18 เดือน รวมกันเป็น 30-31 เดือนนับตั้งแต่วันที่มีการยื่นคำขอเป็นครั้งแรก โดยการยืดระยะเวลาดังกล่าวนั้นเหมาะสำหรับผู้ที่กำลังตัดสินใจ ธุรกิจที่ต้องการศึกษาตลาดในแต่ละประเทศก่อน รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีเงินทุนมากพอที่จะขอความคุ้มครองในต่างประเทศภายใน 12 เดือน

สิทธิบัตรการประดิษฐ์ หรือ อนุสิทธิบัตร 1

ดังที่มีการกล่าวไว้ในด้านบน สำหรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์จะสามารถยื่นผ่านระบบการยื่นตรงได้เพียงเท่านั้น เนื่องจากประเทศไทยยังไม่ได้มีการเข้าร่วมสนธิสัญญาใด ๆ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกหรือเป็นระบบกลางสำหรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยจะต้องยื่นขอรับความคุ้มครองภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่มีการยื่นคำขอเป็นครั้งแรก

เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นสิทธิบัตรในต่างประเทศ 

   ระเบียบของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแต่ละประเทศ รวมถึงหน่วยงานรับคำขอ PCT ก็จะมีการเรียกเอกสารที่ต้องใช้สำหรับการขอรับสิทธิบัตรที่แตกต่างกัน แต่โดยหลัก ๆ แล้ว เอกสารที่ควรจะเตรียมไว้สำหรับการยื่นสิทธิบัตรในต่างประเทศ ได้แก่
   1.รายละเอียดคำขอรับสิทธิบัตรภาษาอังกฤษ ประกอบไปด้วย
       1.1. รายละเอียดการประดิษฐ์
       1.2. ข้อถือสิทธิ
       1.3. รูปเขียน
       1.4. บทสรุปการประดิษฐ์
   เอกสารทั้ง 4 อย่างถือว่าเป็นส่วนประกอบมาตรฐานสำหรับสิทธิบัตร 1 ฉบับ ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาทั่วโลกจะต้องใช้เพื่อพิจารณาคำขอดังกล่าว ทั้งนี้ อาจต้องมีการแปลเอกสารดังกล่าวเป็นภาษาราชการของประเทศนั้น ๆ กรณีประเทศดังกล่าวไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก
    2. หนังสือมอบอำนาจ (กรณียื่นผ่านตัวแทน) ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาบางประเทศจะมีข้อกำหนดให้เอกสารดังกล่าวต้องผ่านการรับรองนิติกรณ์ หรือการรับรองโนตารี
   3. หนังสือรับรองสิทธิ (กรณีผู้ยื่นคำขอและผู้ประดิษฐ์เป็นคนเดียวกัน) ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาบางประเทศจะมีข้อกำหนดให้เอกสารดังกล่าวผ่านการรับรองนิติกรณ์ หรือการรับรองโนตารี
   4. หนังสือโอนสิทธิ (กรณีผู้ยื่นคำขอและผู้ประดิษฐ์เป็นคนเดียวกัน) ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาบางประเทศจะมีข้อกำหนดให้เอกสารดังกล่าวผ่านการรับรองนิติกรณ์ หรือการรับรองโนตารี
   5. หนังสือรับรองการขอถือสิทธิย้อนหลัง (กรณีมีการขอถือสิทธิย้อนหลัง) ซึ่งผู้ยื่นคำขอสามารถขอรับเอกสารดังกล่าวได้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยเจ้าหน้าที่จะออกเอกสารดังกล่าวให้เป็นภาษาอังกฤษในกรณีได้แจ้งความประสงค์ไปในใบคำร้องว่าจะคัดหนังสือเพื่อประกอบการยื่นขอรับความคุ้มครองในต่างประเทศ

การรับรองนิติกรณ์และการรับรองโนตารีคืออะไร ?

   การรับรองนิติกรณ์ (Legalization) และการรับรองโนตารี (Notarization) เป็นรูปแบบในการรับรองความถูกต้องของเอกสารสำคัญต่าง ๆ ทั้งเอกสารราชการและเอกสารจากภาคเอกชน ซึ่งการเลือกใช้รูปแบบการรับรองต่าง ๆ นั้นจะต้องเลือกให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่เราจะใช้งาน หรือให้เป็นไปตามระเบียบของหน่วยงานที่เราจะต้องยื่นเอกสาร

การรับรองนิติกรณ์ หรือ Legalization
เป็นการรับรองเอกสารโดยหน่วยงานราชการ อาจจะเป็นกรมการกงศุลของประเทศไทย หรือสถานทูตของประเทศปลายทาง สำหรับการยื่นสิทธิบัตรในต่างประเทศ โดยส่วนมากประเทศที่ต้องใช้การรับรองนิติกรณ์จะเป็นประเทศในแถบตะวันออกกลาง โดยเราจะต้องนำเอกสารต่าง ๆ ไปยังสถานทูตเพื่อให้เจ้าหน้าที่รับรองความถูกต้องของเอกสารนั้น ๆ ก่อนที่จะนำไปใช้ประกอบการยื่นสิทธิบัตร
การรับรองโนตารี หรือ Notarization
เป็นการรับรองโดยทนายความที่ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการรับรองเอกสารประเภทนี้โดยเฉพาะ ซึ่งการรับรองโนตารีนั้นถือว่ามีการใช้งานที่แพร่หลายมากกว่าในวงการสิทธิบัตร เนื่องจากมีความสะดวกมากกว่า ซึ่งในการรับรองโนตารีนั้น ทางทนายอาจขอเอกสารเพิ่มเติม เช่น สำเนาบัตรประชาชนของผู้ลงนาม หรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล เพื่อประกอบการรับรองเอกสารดังกล่า

ค่าใช้จ่ายในการยื่นสิทธิบัตรในต่างประเทศ

การยื่นขอรับความคุ้มครองด้านสิทธิบัตรในแต่ละประเทศนั้นมีค่าใช้จ่ายที่ไม่เท่ากัน จึงเป็นการยากที่จะสามารถประมาณการณ์ตัวเลขค่าเฉลี่ยของการยื่นในแต่ละประเทศได้ แต่ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะมีผลต่อค่าใช้จ่ายในการยื่นขอรับความคุ้มครองในประเทศนั้น ๆ ได้แก่ 1.ค่าธรรมเนียมของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา  สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของแต่ละประเทศนั้น มีแนวทางการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการยื่นขอรับความคุ้มครองที่ไม่เท่ากัน บางประเทศอาจคิดค่าธรรมเนียมแบบเหมาจ่ายทั้งคำขอ ในขณะที่บางประเทศอาจพิจารณาตามจำนวนข้อถือสิทธิ สำหรับอัตราค่าธรรมเนียม โดยส่วนมากจะสอดคล้องกับค่าครองชีพของประเทศนั้น ซึ่งค่าธรรมเนียมสำหรับประเทศในโซนตะวันออกกลางจะสูงที่สุด จากนั้นเป็นยุโรป อเมริกา เอเชียตะวันออก และอาเซียนตามลำดับ 2.ค่าบริการในการแปลภาษา สำหรับประเทศที่ไม่ได้มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ รายละเอียดคำขอรับสิทธิบัตรจะต้องถูกแปลเป็นภาษาราชการของประเทศนั้น ๆ ก่อน จึงจะสามารถยื่นต่อสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาได้ซึ่งหน่วยงานที่ให้บริการแปลภาษาโดยส่วนมากก็จะเป็นบริษัทแปลภาษา หรือบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายในประเทศปลายทาง โดยค่าบริการในการแปลก็จะขึ้นอยู่กับคุณภาพ และชื่อเสียงของผู้ให้บริการเป็นหลัก 3.ประเภทของความคุ้มครอง การขอรับความคุ้มครองประเภทสิทธิบัตรการประดิษฐ์จะมีค่าธรรมเนียมมากที่สุด เนื่องจากต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ มากกว่า จากนั้นเป็นอนุสิทธิบัตร และสิทธิบัตรการประดิษฐ์ตามลำดับ  4.คุณภาพของการประดิษฐ์ การประดิษฐ์ที่มีคุณภาพในที่นี้ ไม่ได้เป็นการหมายถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ หรือการออกแบบ แต่หมายถึงความเหมาะสมด้านการเป็นสิทธิบัตร หากสิทธิบัตรถูกคำสั่งให้มีการชี้แจงแก้ไขหรือต้องมีการตรวจสอบหลายครั้ง ก็จะส่งผลโดยตรงต่อค่าธรรมเนียมที่จะเพิ่มขึ้นด้วย  5.ความผันผวนของอัตราค่าเงิน ณ ช่วงเวลานั้น เช่นเดียวกันการซื้อสินค้าและบริการอื่น ๆ ในต่างประเทศ ความผันผวนของอัตราค่าเงินเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะมีผลเรื่องค่าใช้จ่ายในการยื่นขอรับความคุ้มครองในประเทศนั้น ๆ เนื่องจากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศต่าง ๆ จะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเป็นสกุลเงินของตนเอง รวมถึงบริษัทตัวแทนทางกฎหมายผู้ให้บริการอำนวยความสะดวกด้านการยื่นสิทธิบัตรก็มักจะเรียกเก็บค่าบริการด้วยหน่วยเงินดอลล่าห์สหรัฐอเมริกา การวางแผนเรื่องอัตราการแลกเปลี่ยนสกุลเงินที่ดีจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สามารถควบคุมงบประมาณที่ต้องใช้ในการยื่นขอรับความคุ้มครองในต่างประเทศได้

ข้อควรระวังในการยื่นจดสิทธิบัตรในต่างประเทศ

1.ควรดำเนินการสืบค้นสิทธิบัตรในฐานข้อมูลโลก
   ในการขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรในต่างประเทศ การสืบค้นด้วยฐานข้อมูลสิทธิบัตรไทยอาจจะยังไม่เพียงพอ หลายกรณีที่การประดิษฐ์ในสาขาวิทยาการนั้น ยังไม่มีการประกาศโฆษณาในฐานข้อมูลของไทย แต่มีการกล่าวถึงแล้วในฐานข้อมูลสิทธิบัตรโลก (Patentscope) หรือฐานข้อมูลสิทธิบัตรของประเทศอื่น ๆ ยิ่งไปกว่านั้น หลายครั้งที่ผู้ประดิษฐ์คิดว่างานของตนเองนั้นมีความใหม่ แต่ในความเป็นจริงแล้วงานดังกล่าวอาจถูกเคยประกาศโฆษณาหรือรับจดทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ยังไม่เคยมีการทำการตลาดเท่านั้น

2.ดำเนินการภายในช่วงเวลาขอถือสิทธิย้อนหลัง
   การขอถือสิทธิย้อนหลังเป็นหัวใจหลักที่สำคัญมากที่สุดสำหรับการยื่นสิทธิบัตรในต่างประเทศ หากไม่สามารถยื่นภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนดแล้ว อาจพบปัญหาว่างานของตนเองสูญเสียความใหม่ในขั้นตอนการตรวจสอบการประดิษฐ์ เนื่องจากผู้ตรวจสอบไปค้นสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องแล้วพบเจองานชิ้นเดียวกันที่เคยยื่นขอรับความคุ้มครองในประเทศอื่นไว้ก่อนหน้า 12 เดือนนับตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอเป็นครั้งแรก สำหรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์/อนุสิทธิบัตร หากประเมินแล้วว่าไม่สามารถดำเนินการได้ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด แนะนำให้ยื่นคำขอ PCT เพื่อขยายระยะเวลาดังกล่าวเพิ่มเป็น 30 เดือน

   6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอเป็นครั้งแรก สำหรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายฉบับใดที่รองรับการขยายกรอบระยะเวลาดังกล่าว สำหรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์

3.ตรวจสอบเงื่อนไขการรับจดทะเบียนในประเทศปลายทาง
   ในบางประเทศอาจไม่มีการคุ้มครองด้านสิทธิบัตรครบทั้ง 3 รูปแบบ สิ่งประดิษฐ์บางประเภทไม่สามารถยื่นขอรับความคุ้มครองในประเทศนั้น ๆ ได้ หรืออนุสิทธิบัตรในบางประเทศอาจมีเงื่อนไขในการพิจารณาหรือรับจดทะเบียนไม่เหมือนกับประเทศอื่น ๆ เงื่อนไขเหล่านี้เป็นข้อกำหนดที่ผู้ยื่นคำขอควรศึกษาก่อนดำเนินการศึกษาและทำความเข้าใจก่อนดำเนินการ มิเช่นนั้นอาจเป็นการสูญเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก

คำถามที่พบบ่อย

หากคำขอดังกล่าวเคยยื่นไว้ครั้งแรกเป็นระยะเวลาที่เกินกว่ากรอบระยะเวลาที่สามารถขอถือสิทธิย้อนหลังไปแล้ว ในทางพฤตินัยคำขอดังกล่าวยังสามารถยื่นต่อสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาประเทศต่าง ๆ ได้ แต่จะไม่สามารถยื่นขอถือสิทธิย้อนหลังให้เป็นคำขอเดียวกับที่มีการยื่นไปก่อนหน้า ดังนั้น เมื่อถึงขั้นตอนการตรวจสอบการประดิษฐ์ หากผู้ตรวจสอบสามารถค้นเจอคำขอรับสิทธิบัตรที่เคยยื่นไว้ก่อนหน้า    โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่คำขอที่เคยยื่นไว้ก่อนหน้านั้นได้ถูกประกาศโฆษณา หรือรับจดทะเบียนเป็นทีเรียบร้อย จะถือว่าคำขอที่ยื่นใหม่นั้นสูญเสียความใหม่ทันที และถูกปฏิเสธไม่ให้รับจดทะเบียน

แต่ทั้งนี้พบว่ามีบางกรณีที่ผู้ตรวจสอบไม่สามารถค้นเจอคำขอรับสิทธิบัตรที่เคยยื่นไว้ก่อนหน้าและได้รับจดทะเบียนแต่ก็ถือว่าเป็นส่วนน้อยมาก โดยสรุปแล้วคือ สามารถยื่นได้แต่จะมีความเสี่ยงสูงในการถูกปฏิเสธไม่ให้รับจดทะเบียน

          องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก หรือ WIPO ผู้เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องคำขอรับสิทธิบัตรในระบบ PCT นั้น ไม่มีอำนาจทางกฎหมายใด ๆ ที่ทำให้สิทธิบัตรดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายในดินแดนภายใต้อำนาจของประเทศสมาชิก โดยในการทำให้สิทธิบัตรมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายในประเทศต่าง ๆ นั้น ผู้ยื่นคำขอจะต้องนำผลการสืบค้นและประกาศโฆษณาที่รับรองโดย WIPO ไปยื่นต่อสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาประเทศนั้น ๆ อีกครั้งหนึ่งเพื่อขอรับความคุ้มครอง 

          โดยสรุปแล้ว WIPO นั้นจัดให้มีระบบ PCT ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวก ลดภาระขั้นตอน และลดค่าใช้จ่าย แก่เจ้าของสิทธิบัตรในการยื่นขอรับความคุ้มครองระหว่างประเทศโดยเท่านั้น ซึ่งหน่วยงานเองไม่ได้มีอำนาจให้ประเทศสมาชิกต้องคุ้มครองสิทธิบัตรทุกฉบับที่มีการประกาศโฆษณาในฐานข้อมูลสิทธิบัตรโลกของ WIPO 

          ถึงแม้ว่าการประกาศโฆษณาในฐานข้อมูลสิทธิบัตรโลกจะไม่ได้มีผลทำให้สิทธิบัตรฉบับนั้นถูกคุ้มครองทางกฏหมายในทุกประเทศโดยตรง แต่ถึงอย่างไร การประกาศโฆษณาบนฐานข้อมูลสิทธิบัตรโลกเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักมากในการสนับสนุนว่าสิ่งประดิษฐ์ของเราเคยมีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งหมายความว่า หากการประดิษฐ์ของเราเคยถูกประกาศโฆษณาในฐานข้อมูลสิทธิบัตรโลกแล้ว หากมีผู้อื่นที่มีสิ่งประดิษฐ์ลักษณะคล้ายหรือใกล้เคียงกับเราในหลังจากนี้ ก็จะไม่สามารถขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรได้ เนื่องจากสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวได้สูญเสียความใหม่เป็นที่เรียบร้อย

          ยิ่งไปกว่านั้น คำขอที่ผ่านการยื่นด้วยระบบ PCT จะได้รับผลการตรวจค้นโดยหน่วยงานตรวจค้นสิทธิบัตรระหว่างประเทศ โดยจะมีการอธิบายอย่างชัดเจนว่าสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวครบเงื่อนไขในการเป็นสิทธิบัตรหรือไม่ ได้แก่ ความใหม่ ขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม โดยผลการตรวจค้นนี้บอกความเป็นไปได้ในการได้รับจดทะเบียนได้เป็นอย่างดี และจะสามารถช่วยในการตัดสินใจเป็นอย่างมากว่าจะดำเนินการในขั้นตอนขาเข้าประเทศต่าง ๆ หรือไม่

          ขั้นตอนการยื่น PCT ผู้ยื่นคำขอยังไม่จำเป็นต้องตัดสินใจว่าจะยื่นขอรับความคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวเป็นสิทธิบัตร หรืออนุสิทธิบัตร ผู้ยื่นคำขอสามารถตัดสินใจได้ในขั้นตอนขาเข้าประเทศ โดยใช้ผลการตรวจค้นระหว่างประเทศเพื่อประกอบการตัดสินใจได้เลย แต่ทั้งนี้ กรณีที่จะยื่นเป็นอนุสิทธิบัตรจะขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศปลายทางว่ามีความคุ้มครองในประเภทดังกล่าวหรือไม่ 

          หากยื่นคำขอ PCT ผ่านกรมทรัพย์สินทางปัญญาประเทศไทย ผู้ยื่นคำขอสามารถเลือกหน่วยงานตรวจค้นสิทธิบัตรระหว่างประเทศได้ดังนี้
          1. China National Intellectual Property Administration (CNIPA)
          2. Korean Intellectual Property Office (KIPO)
          3. Japanese Patent Office (JPO)
          4. Intellectual Property Office of Singapore (IPOS)
          5. IP Australia
          6. United States Patent and Trademark Office (USPTO)
          7. European Patent Office (EPO)

          อย่างทีเห็นไปด้านบน หน่วยงานตรวจค้นสิทธิบัตรระหว่างประเทศก็คือสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของบางประเทศนั่นเอง ซึ่งไม่ใช่ว่าหน่วยงานของประเทศไหนก็สามารถตรวจค้นได้ แต่เพราะหน่วยงานเหล่านี้ได้รับการรับรองโดย WIPO ให้ทำหน้าที่ดังกล่าวนั่นเอง ซึ่งโดยปกติแล้ว จะแนะนำให้เลือกหน่วยงานตรวจค้นให้ตรงกับประเทศที่มีความสนใจยื่นในขั้นตอนขาเข้าประเทศไว้ก่อน เนื่องจากหน่วยงานของประเทศใด ก็จะสืบค้นโดยใช้ฐานข้อมูลของประเทศนั้นมากเป็นพิเศษ และมีความรวดเร็วในขั้นตอนการตรวจสอบเล็กน้อยช่วงขั้นตอนขาเข้าประเทศ แต่เนื่องด้วยค่าธรรมเนียมการตรวจค้นของแต่ละหน่วยงานนั้นไม่เท่ากัน หากมีงบประมาณจำกัดก็สามารถเลือกหน่วยงานที่มีค่าธรรมเนียมถูกที่สุดก็ได้เช่นกัน สามารถใช้ยื่นขั้นตอนขาเข้าได้ครบทุกประเทศเหมือนกัน

          ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมในการตรวจค้นจะมีการปรับเปลี่ยนค่อนข้างบ่อย เนื่องจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินและนโยบายของประเทศนั้น ๆ จึงควรตรวจสอบประกาศจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาหรือตัวแทนสิทธิบัตรก่อนตัดสินใจ

          แต่ะประเทศจะใช้เวลาในการพิจารณาสิทธิบัตรไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับขีดจำกัดในการตรวจสอบคำขอของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาประเทศนั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น หน่วยงานของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี และจีน มีจำนวนผู้ตรวจสอบจำนวนมาก จึงใช้เวลาในการตรวจสอบค่อนข้างเร็ว ในขณะเดียวกัน ประเทศในแถบอาเซียนอาจจะมีจำนวนของผู้ตรวจสอบที่จำกัด จึงใช้เวลาในการตรวจสอบสิทธิบัตรที่ยาวนานกว่า

          กรณีไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ประโยชน์จากสิทธิบัตรดังกล่าวในประเทศไทย สามารถยื่นคำขอรับสิทธิบัตรตรงเข้าไปยังประเทศปลายทางหรือยื่น PCT เลยโดยไม่ต้องยื่นคำขอไทยก็ได้ แต่ต้องมั่นใจว่างานดังกล่าวไม่เคยถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนจนกระทั่งวันที่ยื่นคำขอเป็นครั้งแรก ในทางกลับกัน กรณีที่ยื่นในต่างประเทศหรือยื่น PCT ไว้แล้วสนใจยื่นในประเทศไทยในภายหลัง หากยังไม่เกินกรอบระยะเวลาในการขอถือสิทธิย้อนหลัง ก็สามารถยื่นต่อมายังประเทศไทยได้เช่นกัน

          เนื่องจากการยื่นสิทธิบัตรในทุกประเทศบนโลกนั้นต้องใช้ค่าใช้จ่ายและระยะเวลาจำนวนมหาศาล หากต้องเลือกขอรับความคุ้มครองแค่เพียงบางประเทศ โดยส่วนมากจะแนะนำให้พิจารณาตามประเทศที่วางแผนจะทำตลาด สร้างฐานการผลิต ประเทศที่วางแผนว่าจะไปลงทุน ขายกรรมสิทธิ หรือให้เช่ากรรมสิทธิ รวมถึงประเทศที่มีแนวโน้มที่จะมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูง

          โดยส่วนมาก กรณีไม่ได้เป็นพลเมืองหรือมีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศนั้น ๆ หากเป็นผู้ขอถือสิทธิต่างชาติจะต้องยื่นขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรผ่านตัวแทนสิทธิบัตรที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งเมื่อมีคำสั่งต่าง ๆ ให้ดำเนินการเกี่ยวกับสิทธิบัตร สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาจะสื่อสารผ่านตัวแทนที่เป็นผู้ยื่นคำขอเท่านั้น จะไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์แก่ผู้อื่นที่ไม่ใช่ตัวแทน เว้นแต่คำขอดังกล่าวได้รับการประกาศโฆษณาต่อสาธารณชนเป็นที่เรียบร้อย 

          ทั้งนี้ มีบางประเทศที่อนุญาตให้ผู้ยื่นคำขอที่เป็นชาวต่างชาติสามารถยื่นคำขอได้ด้วยตนเอง แต่ถึงอย่างไรก็แนะนำให้ตรวจสอบข้อบังคับของประเทศนั้น ๆ ก่อนเริ่มต้นดำเนินการ

Share this article

Facebook
Twitter
LinkedIn

ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ IDG

เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิบัตรพร้อมให้คำแนะนำคุณ