ประเทศญี่ปุ่นนั้นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่คนไทยเราคุ้นเคยกันมาอย่างช้านาน ตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ เราก็แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีความเกี่ยวข้องกับสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นในทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ กล้องถ่ายรูป โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านต่าง ๆ ยังไม่รวมถึงบริษัท และโรงงานต่าง ๆ ที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยก็มีจำนวนมาก
เดาได้ไม่อยากเลยใช่ไหมครับ ว่าจะต้องมีความเกี่ยวข้องกับการจดสิทธิบัตรไม่น้อยเลยแน่นอน นอกจากสิทธิบัตรญี่ปุ่นที่เข้ามาขอรับความคุ้มครองในประเทศไทยแล้วรู้หรือไม่ครับว่าแต่ละปีก็มีสิทธิบัตรจากประเทศไทยที่ยื่นขอรับความคุ้มครองในประเทศญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยเลยเช่นกัน
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีนโยบายให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญาชัดเจนเป็นอย่างมาก ไม่จำกัดเพียงเฉพาะสิทธิบัตรเท่านั้น
แต่ยังรวมไปถึงลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาในประเภทอื่น ๆ ด้วย โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศญี่ปุ่น ได้แก่
สำนักงานสิทธิบัตรญี่ปุ่น (Japanese Patent Office หรือ JPO) โดยสำนักงานสิทธิบัตรญี่ปุ่นนั้นยังเป็นหัวหอกหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินการของหน่วยงานทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO)
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฐานข้อมูล หรือการจัดอบรมต่าง ๆ เห็นหรือยังครับว่าสำนักงานสิทธิบัตรของญี่ปุ่นนั้นถูกให้ความสำคัญจากรัฐบาลขนาดไหน ยิ่งไปกว่านั้นสำนักงานสิทธิบัตรประเทศญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศเดียวที่ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาด้านความร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยในเรื่อง
Patent Prosecution Highway (PPH) หรือการเร่งรัดในขั้นตอนการตรวจสอบการประดิษฐ์ในกรณีที่คำขอรับสิทธิบัตรได้ผ่านการตรวจสอบการประดิษฐ์จากสำนักงานของไทยหรือญี่ปุ่น เพื่ออำนวยความสะดวกในการยื่นขอรับสิทธิบัตรระหว่างทั้งสองประเทศนั่นเอง
ประเทศญี่ปุ่นสามารถยื่นขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรประเภทใดได้บ้าง?
ตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นนั้น จะทำการแบ่งประเภทของสิทธิบัตรไว้เหมือนกับประเทศไทยเลย ซึ่งได้แก่ สิทธิบัตรการประดิษฐ์ อนุสิทธิบัตร
และสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่อาจจะมีความแตกต่างในส่วนของรายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อย
1. สิทธิบัตรการประดิษฐ์ (Invention Patent)
กฎหมายสิทธิบัตรญี่ปุ่นได้ทำการนิยามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ไว้ว่า “ผลิตภัณฑ์หรือวิธีการที่ต้องใช้ความคิดสร้างสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์
ขั้นสูง ซึ่งจะต้องมีระยะการเวลาการใช้งานที่ยาวนานกว่าอนุสิทธิบัตร; ฮาร์ดแวร์และที่เกี่ยวข้องกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงพืช สัตว์
และจุลชีพ” โดยสิทธิบัตรการประดิษฐ์จะมีอายุความคุ้มครองอยู่ที่ 20 ปีนับตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอ ซึ่งสามารถขยายระยะเวลาเพิ่มได้อีก 5 ปี
สำหรับเวชภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร
สิทธิบัตรการประดิษฐ์ในประเทศญี่ปุ่นจะต้องทำการยื่นขอตรวจสอบการประดิษฐ์หลังจากได้รับการประกาศโฆษณาในฐานข้อมูล
ส่งผลให้ใช้เวลาในการรับจดทะเบียนที่ยาวนานกว่า
2. อนุสิทธิบัตร (Utility Model)
กฎหมายอนุสิทธิบัตรในประเทศญี่ปุ่นได้ทำการนิยามอนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ไว้ว่า “สิ่งของที่มีอายุการใช้งานน้อย
มีลักษณะที่เป็นการริเริ่มในขั้นต้น และใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับรูปทรงของผลิตภัณฑ์ โครงสร้าง
และเทคโนโลยีในด้านอื่น ๆ”
โดยอนุสิทธิบัตรของประเทศญี่ปุ่นจะมีอายุความคุ้มครองที่ 10 ปีนับตั้งแต่วันที่มีการยื่นคำขอครั้งแรก
ซึ่งในการรับจดอนุสิทธิบัตรนั้นจะไม่ต้องยื่นขอตรวจสอบการประดิษฐ์ จึงอาจจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาที่สั้นกว่า ทั้งนี้
มีข้อสังเกตคืออนุสิทธิบัตรจะไม่ครอบคลุมถึงวิธีการหรือกระบวนการต่าง ๆ ในการผลิต แต่จะครอบคลุมเฉพาะตัวผลิตภัณฑ์เท่านั้น
3. สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Industrial Design)
สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นจะมีลักษณะที่เหมือนกับของไทยเลย แต่จะมีลักษณะที่แตกต่างกันคือจะมีอายุความคุ้มครองอยู่ที่
25 ปี นับตั้งแต่วันที่มีการยื่นคำขอเป็นครั้งแรก
สามารถยื่นขอรับสิทธิบัตรในประเทศญี่ปุ่นผ่านช่องทางใดได้บ้าง?
ในส่วนของสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตร สามารถยื่นได้ทั้งผ่านระบบการยื่นตรง (Paris Convention Direct Route) และผ่านระบบสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตรระหว่างประเทศ (PCT Route) แต่สำหรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้น จำเป็นต้องยื่นผ่านระบบการยื่นตรง (Direct Route) เท่านั้น ข้อสังเกตในการยื่นขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรญี่ปุ่น ข้อสังเกตยอดฮิตตลอดกาลของการยื่นสิทธิบัตรในประเทศญี่ปุ่น คือ ไม่ว่าจะทำการยื่นผ่านระบบการยื่นตรง หรือระบบ PCT สิทธิบัตรทุกฉบับจะต้องทำการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น ซึ่งระบบการคิดค่าใช้จ่ายในการแปลภาษาในประเทศญี่ปุ่นนั้นจะมีความแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการแปลภาษาค่อนข้างที่จะพุ่งโดดเล็กน้อย โดยปกติแล้วขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศญี่ปุ่น สำนักงานสิทธิบัตรญี่ปุ่นนั้นดำเนินการพิจารณาสิทธิบัตรค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับสำนักงานสิทธิบัตรในหลาย ๆ ประเทศ ผู้ยื่นขอรับความคุ้มครองจึงไม่ต้องรอผลการพิจารณานาน ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น หากสิทธิบัตรไม่มีปัญหาติดขัดในด้านใด จะต้องประกาศโฆษณาให้ได้ภายใน 18 เดือนนับจากวันที่ยื่นคำขอ ส่งผลให้การดำเนินการตรวจสอบของญี่ปุ่นนั้นรวดเร็ว
บทสรุป
ประเทศญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีชื่อเสียงในระดับโลก รวมถึงมีขนาดประชากรในประเทศที่ค่อนข้างใหญ่หากต้องการเข้าไปทำตลาด มีการดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่โดดเด่นและรวดเร็วญี่ปุ่นจึงเป็นอีกประเทศที่น่าสนใจสำหรับเจ้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขอรับความคุ้มครองด้านสิทธิบัตร สำหรับการเปิดตลาดใหม่ ๆ รวมถึงการหาผู้ร่วมลงทุนในประเทศอีกด้วย หากต้องการดำเนินการขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรในประเทศญี่ปุ่นแล้ว การปรึกษากับตัวแทนสิทธิบัตรนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็น
เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นนั้นมีกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าผู้ที่มีถิ่นพำนักอยู่นอกประเทศนั้น จะต้องทำการยื่นขอรับความคุ้มครองผ่านทางตัวแทนที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานสิทธิบัตรญี่ปุ่นเท่านั้น นอกจากนี้ การดำเนินการผ่านทางตัวแทนยังช่วยในการดำเนินการด้านเอกสาร จัดส่งคำขอระหว่างประเทศ ร่างหนังสือสำคัญต่าง ๆ ร่วมถึงประสานงานด้านการแปลภาษาแบบครบวงจรอีกด้วย สำหรับตอนหน้า เราจะมาทำการเจาะลึกกันในเรื่องสนธิสัญญา Patent Prosecution Highway (PPH) ระหว่างสำนักงานสิทธิบัตรญี่ปุ่น และ กรมทรัพย์สินทางปัญญาไทยกัน ว่าจะมีรายละเอียดอย่างไร และสามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอรับสิทธิบัตรได้มากขนาดไหน
อ่านสิทธิบัตรต่างประเทศตอนอื่น ๆ
> วิธีการยื่นจดสิทธิบัตรต่างประเทศ ตอน 1 : สิทธิบัตรต่างประเทศ 101
> วิธีการยื่นจดสิทธิบัตรต่างประเทศ ตอน 2 : เจาะลึกสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (PCT)
> วิธีการยื่นจดสิทธิบัตรต่างประเทศ ตอน 3 : การขอรับความคุ้มครองในสหรัฐอเมริกา ตัวตึงแห่งวงการสิทธิบัตร?
> วิธีการยื่นจดสิทธิบัตรต่างประเทศ ตอน 4 : ข้อควรรู้ในการขอยื่นรับความคุ้มครองสิทธิบัตรในกลุ่มประเทศยุโรป
> วิธีการยื่นจดสิทธิบัตรต่างประเทศ ตอน 5 : จดสิทธิบัตรประเทศญี่ปุ่น ยักษ์ใหญ่ไอทีแห่งเอเชีย