OUR BLOG

จริงหรือ!? Blockchain จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

IP Vision 05

จริงหรือ!? Blockchain
จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

จริงๆ ผมเองก็ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับ Blockchain มากเท่าไหร่นัก แต่พอรู้ว่าเป็นเทคโนโลยีฐานสำคัญที่ใช้ขับเคลื่อน Cryptocurrency หรือเงินดิจิทัล เช่นพวก Bitcoin, Litecoin หรือ Ethereum และสามารถทำให้อุตสาหกรรมการเงินเปลี่ยนแปลงไปได้ ก็เลยสนใจขึ้นมา เพราะทุกๆ Transaction ของการซื้อขายบนออนไลน์ จะมีการเก็บบันทึกข้อมูลแบบแยกจากศูนย์หรือ Decentralized กระจายออกไปหลายๆ ที่ ที่ผู้ใช้ไม่สามารถกำหนดเองได้ ไม่มีใครสามารถควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลใดๆ ได้ ทุกคนที่อยู่ในระบบสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ แต่ไม่มีใครสามารถเข้าไปแก้ไขข้อมูลหรือลบข้อมูลใดๆ ได้เลย และทุกๆ ครั้งที่มีการโอนหรือชำระเงิน ระบบจะบันทึกข้อมูลใหม่เป็น Block ใหม่ ซึ่งมีการรวม Hash จาก Block ก่อนเข้ามาด้วย และเมื่อมีการใช้งานต่อเนื่อง จะเกิดเป็น Block ยาวๆ เป็น Chain ที่เราสามารถตรวจสอบประวัติใน Block ก่อนๆ ได้ ต่างกับระบบปัจจุบันที่มีเพียงธนาคารเป็นตัวกลางที่ถือเงินของเราทั้งหมด แถมหักค่าดำเนินการทุกครั้งที่เราจะเอาเงินของเราเองไปใช้ทำอย่างอื่น ฟังดูแล้วไม่แฟร์เลยใช่ไหมล่ะ

bitcoin 1813503

และอีกเหตุผลที่ผมสนใจเรื่อง Blockchain มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะผมมองว่าเทคโนโลยีนี้จะถูกนำมาใช้ประโยชน์กับกระบวนการ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา อย่างแน่นอน แต่หลังจากแก้ไขปัญหากระบวนการตรวจสอบและรับจดทะบียนในไทยที่เชื่องช้าก่อนนะ 555 อย่างน้อยภายในช่วง 5 ปีนี้ อาจจะเริ่มถูกนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น ตั้งแต่อุตสาหกรรมการศึกษาจนถึงการแพทย์ และหน่วยงานราชการต่างๆ เพราะลองคิดดูว่าถ้ากระบวนการทั้งหมดโปร่งใส่ ตรวจสอบได้ ประเทศเราน่าจะไปได้ไกลกว่านี้ อย่างน้อยคนของเราและระบบการบริหารจัดการทุกอย่างจะมีคุณภาพมากขึ้นกว่านี้ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ผมขอยกตัวอย่างการใช้ Blockchain เพื่อการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ดังต่อไปนี้ครับ

1. การบันทึกการเป็นเจ้าของในทรัพย์สินทางปัญญา

เราสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะมนุษย์เราอยู่รอดมาได้ด้วยสติปัญญา เพราะฉะนั้น สิ่งใหม่ๆ ที่คิดค้นขึ้นมาที่มีประโยชน์ต่อสังคมควรถูกนำไปใช้อย่างสมเหตุสมผลโดยที่ผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ควรที่จะได้รับเกียรติ และผลตอบแทนที่เหมาะสมกับสิ่งที่เขาให้ต่อสังคม แต่ระบบการคุ้มครองงานสร้างสรรค์ โดยเฉพาะงานอันมีลิขสิทธิ์ เช่น งานเพลง, งานวรรณกรรม, รูปเขียน, รูปถ่าย, สิ่งบันทึกเสียงบันทึกภาพ ฯลฯ ยังคงถูกขโมยไปใช้อย่างต่อเนื่อง จนบางทีผู้สร้างสรรค์ หรือผู้ที่ได้ลิขสิทธิ์จากผู้สร้างสรรค์ ไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ ถึงแม้ว่าจะนำหลักฐานการสร้างสรรค์ไปพิสูจน์ในชั้นศาลก็ไม่ง่ายเลย เพราะระบบการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ต่างกับเครื่องหมายการค้า หรือสิทธิบัตร เพราะไม่ใช่ระบบการคุ้มครองโดยการจดทะเบียนกับภาครัฐหรือในประเทศหรือเขตอำนาจศาลต่างๆ แต่เป็นระบบที่ให้ได้รับการคุ้มครองโดยอัตโนมัติในประเทศที่เป็นภาคีสมาชิคกรุงเบอร์นกว่า 170 ประเทศ แต่ต้องพิสูจน์ความเป็นเจ้าของ พร้อมหลักฐานการโดนก๊อปปี้หรือถูกขโมยลิขสิทธ์ให้ได้ เมื่อมีเหตุละเมิดเกิดขึ้น

ip visiion Blockchain 02

 

ที่มา : https://binded.com

ip visiion Blockchain 01

 

ที่มา : https://www.bernstein.io

ซึ่ง Blockchain จะเข้ามามีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ เช่น ผู้สร้างสรรค์สามารถบันทึกงานลิขสิทธิ์ของตนลงในระบบ Blockchain เช่น binded.com ที่เป็นเว็บไซต์ที่ช่วยผู้สร้างสรรค์บันทึกเป็น Timestamp เพื่อรับ Copyright Certificate ได้แบบฟรีๆ หรือ Bernstein Technologies ที่ช่วยในการบริหารจัดการความลับทางการค้า ครบวงจรนวัตกรรม ตั้งแต่การบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวงานประดิษฐ์ และแบบผลิตภัณฑ์ก่อนยื่นคำขอ เพื่อปกป้องเจ้าของไอเดียตลอดจนถึงการจดทะเบียนต่อไป

2. Smart Contracts และการใช้งานสำหรับการเก็บค่าใช้สิทธิ

Smart Contracts หรือสัญญาอัจฉริยะ คือการทำสัญญาต่างๆ ผ่านโปรแกรมออนไลน์ หรือแอปพลิเคชั่น ไม่ว่าจะเป็นสัญญาว่าจ้าง, สัญญาซื้อขาย, สัญญาอนุญาตใช้สิทธิ หรือเอกสารราชการต่างๆ ผ่าน Blockchain เพื่อเป็นการบันทึกข้อตกลงต่างๆ ผ่านระบบดังกล่าว และให้ระบบดำเนินการจัดการ หรือบังคับให้ได้ตามเงื่อนไขในสัญญาด้วยตัวมันเอง เช่น ให้มีการโอนเงินเข้าบัญชีของเจ้าของสิทธิโดยอัตโนมัติ เมื่อถึงเวลาที่ผู้ใช้สิทธิต้องจ่ายค่าใช้สิทธิ โดยให้มีการผูกกับบัญชีธนาคารของผู้ใช้สิทธิโดยตรง หรือให้ผู้ได้รับอนุญาตเป็นตัวแทนจำหน่วยต้องซื้อสินค้าเป็นจำนวนที่ตกลงไว้ในระยะเวลาที่กำหนด

ip visiion Blockchain 03

 

การใช้ Smart Contracts ได้เข้าไปสู่อุตสาหกรรมเพลงเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น Opus ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ใช้ระบบ Blockchain ในการจัดการกับลิขสิทธิ์เพลงสำหรับศิลปินโดยตรง โดยที่ระบบมีความโปร่งใสมาก เพราะอยู่ใน Etherum Blockchain ที่เปิดให้สาธารณะได้เห็นตลอด Opus ไม่แสวงหากำไร และ 97% ของเงินที่ได้จากผู้ที่ Download เพลงผ่านระบบจะถูกส่งต่อไปให้เจ้าของเพลงหรือศิลปินคนนั้นโดยทันที แตกต่างจากโมเดลธุรกิจสมัยเดิมๆ ที่จะต้องผ่านค่ายเพลงที่กินค่าโปรโมทและค่าบริหารจัดการเพลง จนเรียกได้ว่ากว่าเงินจะไปถึงมือศิลปินก็เหลือเพียงน้อยนิดเท่านั้น

logo 02 1

เมื่อเทคโนโลยี Blockchain มีกลุ่มคนช่วยพัฒนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนายทุน เพื่อเร่งนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงได้รับการยอมรับจากรัฐบาลในประเทศต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ผมเชื่อว่าระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา จะถูกปรับปรุงและพัฒนาขึ้นไปได้อย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีนี้ ทำให้ระบบการคุ้มครอง และการบังคับสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน

วีระเวช อรธนาลัย (กาย) กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทลเล็คชวล ดีไซน์ กรุ๊ป จำกัด

Share this article

Facebook
Twitter
LinkedIn

ปรึกษา IDG

ผู้เชี่ยวชาญของเราพร้อมให้คำแนะนำคุณ

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

ติดต่อทีมผู้เชี่ยวชาญ