OUR BLOG

วิเคราะห์ตลาดในยุค 4.0 ด้วยข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาแห่งอนาคต

IP Vision 09

วิเคราะห์ตลาดในยุค 4.0
ด้วยข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาแห่งอนาคต

“The main challenge is not open access or open data, but open mindset.”– Anonymous –

ใน IP Vision ตอนที่ 1 ผมได้กล่าวถึงประโยชน์ของการใช้ข้อมูล IP ในมุมมองของการวิเคราะห์แนวโน้มนวัตกรรม, คู่แข่ง และโอกาสหรือช่องว่างทางธุรกิจ โดยเฉพาะจากการนำข้อมูลสิทธิบัตรหลายร้อยล้านฉบับจากทั่วโลกมาวิเคราะห์ เพื่อการตรวจสอบอิสรภาพในการดำเนินธุรกิจ หรือที่เรียกว่า Freedom-to-Operate Analysis ในแต่ละประเทศ ซึ่งช่วยให้เราสามารถตรวจสอบได้ว่า ในประเทศนั้นๆ มีใครที่กำลังถือครองสิทธิที่ใกล้เคียง หรือมีความเหมือนคล้ายกับตราสินค้าหรือเทคโนโลยีที่เราจะนำเข้าไปประกอบธุรกิจหรือไม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิด และสามารถดำเนินธุรกิจในประเทศนั้นๆ ได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น

ip vision 9 7

สำหรับในตอนที่ 9 นี้ ผมจึงอยากนำเสนอตัวอย่างการวิเคราะห์แบบง่ายๆ ด้วยฐานข้อมูลฟรีของกรมทรัพย์สินทางปัญญา (DIP) และองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ซึ่งตัวอย่างนี้จะเป็นการวิเคราะห์ให้เราได้เห็นถึงแนวโน้มการแข่งขันในตลาดไทย และเพื่อตรวจสอบลักษณะของธุรกิจจากประเทศสิงคโปร์ ที่เข้ามาแข่งขันในตลาดไทยด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวผมได้มีโอกาสนำเสนอต่อธุรกิจที่เป็นสมาชิกของ Singapore Business Federation ในประเทศสิงคโปร์ เมื่อกลางปี 2017 อีกด้วยครับ

การวิเคราะห์สภาวะการแข่งขันด้วยข้อมูลเครื่องหมายการค้า

ip vision 9 1

Fig. 1 เป็นสถิติที่ได้จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะเห็นได้ว่า การยื่นคำขอรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark Applications) ในปี 2010 และ 2016 เปรียบเทียบระหว่างเครื่องหมายการค้าจากผู้ยื่นที่มีสัญชาติไทย (Thai Trademark Applicants) และผู้ยื่นจากต่างประเทศ (Foreign Trademark Applicants) ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งผู้ยื่นสัญชาติไทยมีการยื่นคำขอเพิ่มขึ้น 25% จาก 24,781 เป็น 33,241 และผู้ยื่นจากต่างประเทศที่ 30% จาก 12,875 เป็น 18,372

ip vision 9 2

ในขณะเดียวกัน การรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark Registrations) ในปี 2010 และ 2016 จากกราฟ Fig. 2 ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเจ้าของเครื่องหมายสัญชาติไทย เพิ่มขึ้น 31% จาก 13,268 เป็น 19,320 ส่วนเจ้าของเครื่องหมายชาวต่างชาติ เพิ่มขึ้น 48% จาก 8,562 เป็น 16,491 ซึ่งจะเห็นว่าอัตราการได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้ถือสิทธิต่างชาติ สูงกว่า ผู้ถือสิทธิไทยค่อนข้างมาก แม้ว่าปริมาณการยื่นคำขอของผู้ยื่นสัญชาติไทยมีมากกว่าต่างชาติเกือบเท่าตัวก็ตาม

ซึ่งสถิติที่ได้จาก Figs. 1-2 อาจจะให้มุมมองได้ว่า ตลาดไทยนั้นยังคงเป็นที่น่าสนใจของเจ้าของแบรนด์จากต่างประเทศอยู่ จึงมีการเข้ามาจดทะเบียนไว้อย่างต่อเนื่อง และในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยก็ให้ความสำคัญและตระหนักถึงเรื่องการปกป้องแบรนด์มากขึ้นอย่างชัดเจน แต่อัตราการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจากข้อมูลตาม Fig. 2 ผู้ประกอบการไทยบางรายอาจยังไม่เข้าใจกฎหมายด้านนี้มากนัก ทำให้คำขอที่ยื่นเข้าไปส่วนใหญ่ ไม่สามารถได้รับการจดทะเบียน เช่น เครื่องหมายมีความเหมือนคล้ายกับเครื่องหมายของผู้อื่นที่มีการยื่นจดไปแล้ว, ไม่มีความบ่งเฉพาะเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด หรือ มีการใช้สัญลักษณ์ต้องห้ามเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของเครื่องหมายที่ยื่นไป ฯลฯ

ต่างจากคำขอของผู้ยื่นต่างชาติที่ส่วนใหญ่ สามารถได้รับการจดทะเบียน อาจเพราะผู้ยื่นคำขอชาวต่างชาติเคยยื่นจดในต่างประเทศมาแล้ว และเมื่อเข้ามาในไทยก็จำเป็นต้องยื่นผ่านสำนักกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งความเชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาอยู่แล้ว จึงช่วยให้เครื่องหมายที่ยื่นผ่านตัวแทนมีโอกาสได้รับการจดทะเบียนมากกว่า

ip vision 9 3 1

อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจ ที่ไม่ค่อยมีผู้ใดนำมาวิเคราะห์ คือ จำพวกของเครื่องหมายการค้า (Trademark Classifications of Goods and Services) ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องหมายที่ยื่นเข้าไป ซึ่ง IDG เรามองว่ามีประโยชน์สำหรับการตรวจสอบประเภทของธุรกิจที่นิยมสร้างแบรนด์ในประเทศ ดังกราฟ Fig. 3 ซึ่งจะเห็นว่า..

  • อันดับ 1 : Service Marks หรือเครื่องหมายบริการ ซึ่งเป็นการสื่อถึงธุรกิจบริการประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริการทางธุรกิจ, การเงิน, ที่ปรึกษาต่างๆ รวมถึงร้านค้า, ร้านอาหารต่างๆ ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีการขายสินค้าร่วมด้วยก็ได้
  • อันดับ 2 : Chemical Products, Drugs, Cosmetics ซึ่งเป็นกลุ่มด้านผลิตภัณฑ์ทางเคมีที่ใช้กับร่างกาย เช่น ยา, เครื่องสำอาง เป็นต้น
  • อันดับที่ 3-5 : มีจำนวนใกล้เคียงกัน ได้แก่ Food, Beverage, Sweet, Fiber, Thread, Textiles, Clothing, Machinery, Eletrical Appliances, Vehicles และ Weapons

เราจะเห็นว่า สินค้าหรือบริการอะไรที่เป็นที่นิยมในตลาดไทย การแข่งขันเป็นอย่างไรในจำพวกที่เราสนใจ เจ้าของแบรนด์อันดับต้นๆ ของแต่ละจำพวกเป็นใครบ้าง การวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวจะทำให้เรากลับมาพิจารณาตำแหน่งของเราในตลาด และสามารถนำมาวิเคราะห์สภาวะการแข่งขัน เพื่อวางแผนสำหรับการสร้างแบรนด์ได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งยังช่วยเราหาช่องว่างในตลาด เช่น ในกลุ่มของ Musical Instruments, Toys, Sport Equipment ที่ยังคงมีจำนวนการยื่นจดน้อย แสดงให้เห็นถึงการแข่งขันที่ยังคงน้อยอยู่ เราจะสามารถเข้าไปสร้างแบรนด์แข่งกับผู้เล่นรายอื่นในตลาดดังกล่าวได้หรือไม่? แนวโน้มความต้องการสินค้าประเภทดังกล่าวเป็นอย่างไรบ้าง?

ip vision 9 4

จาก Fig. 4 จะเห็นว่าผู้ประกอบการสิงคโปร์มีการเข้ามา จดเครื่องหมายการค้า ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่มากนัก เนื่องจากจำนวนแบรนด์ที่มีการเข้ามาจดทะเบียนในไทยมีอยู่เพียงหลักร้อยต่อปีเท่านั้น

ip vision 9 5

Fig. 5 แสดงให้เห็นถึงจำพวกสินค้าหรือบริการ 5 ประเภท ที่เจ้าของแบรนด์สัญชาติสิงคโปร์ นิยมเข้ามาจดทะเบียนในประเทศไทย โดยสามารถจัดอันดับได้ดังนี้

  • อันดับ 1 : Advertising & Business Management = 95 เครื่องหมาย
  • อันดับ 2 : Coffee, Tea, Cocoa, and Artificial Coffee = 86 เครื่องหมาย
  • อันดับ 3 : Services for Providing Food and Drink = 65 เครื่องหมาย
  • อันดับ 4 : Pharmaceutical and Veterinary Preparations = 52 เครื่องหมาย
  • อันดับที่ 5 : Apparatus and Instruments for Scientific Research, Controlling Ships = 48 เครื่องหมาย

ซึ่งผลจากการวิเคราะห์สถิติดังกล่าวนั้น ช่วยให้เราเห็นถึงความสนใจของผู้ประกอบการสิงคโปร์ในตลาดไทย โดยเฉพาะการเข้ามาทำธุรกิจบริการประเภทการโฆษณาและให้คำปรึกษาทางธุรกิจ รวมถึงเข้ามาลงทุนทำธุรกิจด้านเครื่องดื่มประเภทชา, กาแฟ และสร้างบริการหรือร้านอาหารในลักษณะแฟรนไชส์ด้วย อีกทั้งนักธุรกิจสิงคโปร์ยังมองตลาดด้านการแพทย์ในไทย ว่ามีแนวโน้มการเติบโตสูง จึงมีการเข้ามาจดเครื่องหมายการค้าจำพวกที่เกี่ยวข้องกับการจัดเตรียมยาสำหรับมนุษย์และสัตว์ รวมถึงอุปกรณ์ด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ip vision 9 6

เนื่องจากการวิเคราะห์จำพวกที่มีการยื่นจดเยอะที่สุด จะทำให้เราเห็นถึงสภาวะการแข่งขันในตลาดและความพร้อมของตลาดที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจ แต่อาจจะไม่เห็นโอกาสในประเภทของธุรกิจที่มีการแข่งขัน ซึ่งอาจจะมีความต้องการสูง เช่น Fig. 6 ที่แสดงให้เห็นถึงประเภทของธุรกิจที่มีการเข้ามายื่นจดเครื่องหมายการค้า น้อยที่สุด จากชาวสิงคโปร์ ซึ่งเราอาจจะวิเคราะห์ได้ว่าเป็นประเภทธุรกิจที่มีอุปสรรคในการเข้ามาแข่งขันสูงอยู่แล้ว เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับบุหรี่, ยาสูบ, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น เนื่องจากมีกฎหมายการควบคุมที่เข็มงวด, เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจท้องถิ่น, ต้องลงทุนสูง หรือมีแรงกดดันจากเจ้าตลาดท้องถิ่น ทำให้การเข้ามาแข่งขันนั้นเป็นไปได้ยา

แต่ก็อาจจะมีโอกาสด้านการร่วมมือกับเจ้าตลาดท้องถิ่นในลักษณะต่างๆ เช่น Licensing, Joint Venture, Sales Rep. หรือการเข้าถึงหน่วยงานควบคุมต่างๆ ด้วยกลยุทธ์ที่ถูกต้อง เพราะบางครั้ง หากเราสามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดที่มี Barrier to Entry สูง แต่มีขนาดของตลาดใหญ่จริงๆ ก็ไม่ควรละเลย เพราะถ้าเข้าไปด้วยกลยุทธ์ที่ถูกต้อง จะทำให้ธุรกิจเรานั้นยั่งยืน มากกว่าประเภทธุรกิจที่มีคู่แข่งเยอะๆ เพราะเข้ามาแข่งขันได้ง่ายกว่า ทำให้เกิดสินค้าทดแทนเยอะแยะเต็มไปหมด

แต่ Fig. 6 ในอีกมุมมองหนึ่ง ก็ทำให้เราเห็นถึงสาเหตุที่เจ้าของแบรนด์ต่างชาติเข้ามาจดน้อย อาจเพราะเนื่องจากเป็นประเภทธุรกิจที่อยู่ในกลุ่ม Sunset Industry เช่น Textiles and Textile Goods หรือกลุ่มที่ไม่ค่อยมีการพัฒนานวัตกรรมมากเท่าไหร่ นั่นเอง

logo 02 1

จากข้อมูลการนำเสนอข้างต้นนี้ อาจเป็นเพียงตัวอย่างการวิเคราะห์ IP เบื้องต้น ด้วยฐานข้อมูลเครื่องหมายการค้าเท่านั้น ซึ่งผมหวังอย่างยิ่งว่าจะช่วยสร้างไอเดียให้แก่ผู้ประกอบการหรือนักการตลาด ยุค 4.0 ให้สามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลดังกล่าว ในการวิเคราะห์ต่อ หรืออาจวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลประเภทอื่นๆ เพื่อช่วยหา Consumer Insights ได้อย่างเหมาะสม และสามารถนำไปวางแผนในการสร้างและปกป้องแบรนด์ในต่างประเทศต่อไปครับ โดยในตอนหน้า ผมจะเพิ่มผลการวิเคราะห์ IP ด้วยฐานข้อมูลสิทธิบัตร ซึ่งข้อมูลสิทธิบัตรนั้นมีประโยชน์และช่วยอะไรเราได้บ้าง ติดตามได้ในตอนหน้าครับวีระเวช อรธนาลัย (กาย) กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทลเล็คชวล ดีไซน์ กรุ๊ป จำกัด

Share this article

Facebook
Twitter
LinkedIn

ปรึกษา IDG

ผู้เชี่ยวชาญของเราพร้อมให้คำแนะนำคุณ

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

ติดต่อทีมผู้เชี่ยวชาญ